xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ย้อน “แม้ว” จ้อลุยธุรกิจน้ำมัน แก้ ม.190 เอื้อประโยชน์ หวั่นซ้ำรอย FTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หน.ปชป.แจงลูกพรรคอภิปรายแก้มาตรา 190 เอื้อ “นช.แม้ว” เรื่องจริง ชี้ รธน.ทุกฉบับระบุชัดตกลงเศรษฐกิจ แต่ไม่พูดถึงอธิปไตยไม่ได้ ยกบทเรียน FTA เปิดเสรีการค้าเกษตร ทำชาวสวนเดือดร้อน แนะให้สภามีส่วนในระดับที่เหมาะ หวั่นงุบงิบเอื้อประโยชน์และไม่นำเข้าสภา ย้อนอดีตนายกฯ เคยนั่งที่ปรึกษาเขมร ประกาศลุยธุรกิจพลังงาน ยิ่งต้องมีความโปร่งใสปมที่ทับซ้อนสองชาติ ไม่ควรเซ็นตามใจชอบ

วันนี้ (16 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนุญมาตรา 190 ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ในที่ประชุมรัฐสภาว่า มีการพูดถึงความชัดเจนว่ามีการทำธุรกิจพลังงาน แต่ถูกประท้วงไม่ให้นำเอาคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเปิดเผยในที่ประชุม ถึงขั้นว่า ห้ามให้รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณพูดอะไร แต่ยืนยันว่าเราเอาความเป็นจริงมาพูดคือ ข้อตกลงในเรื่องเศรษฐกิจ โดยที่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเขตแดน อธิปไตย ซึ่งการไปทำอะไรแล้วผูกมัดเรื่องกฎหมาย รัฐธรรมนูญทุกฉบับระบุชัดว่า รัฐบาลทำข้อตกลงแบบนี้ไม่ได้ ต้องมาขออนุมัติจากสภา และเคยมีบทเรียนมาแล้วเรื่องที่ไปลงเปิดการค้าเสรีสินค้าเกษตรเข้ามาจนชาวไร่ชาวสวนเดือดร้อนชัดเจน คือ หอม กระเทียม ที่อาจจะไปแลกกับผลประโยชน์ของธุรกิจบางธุรกิจซึ่งมีคนได้ประโยชน์ก็จริง อาจจะได้มากกว่าที่คนเสียด้วย แต่มีอยู่ไม่กี่คน จึงมีความพยายามที่จะแก้ตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในยุคนี้ และยุคต่อๆ ไป

“จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงทางเศรษฐกิจนี้ต้องมาให้สภามีส่วนร่วมด้วยในระดับที่เหมาะสม แต่ทำไมไปเจาะจงว่าเอาเฉพาะ FTA ขณะที่เดิมที่บอกว่าข้อตกลงใดๆ ซึ่งมีผลกระทบอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจมีนัยสำคัญ มีผลกระทบต่องบประมาณ ต่อไปใครไปงุบงิบเจรจาทำธุรกิจพลังงาน กับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ทับซ้อน หรืออะไรก็ไม่ต้องเอาเรื่องมาเข้าสภา ประชาชนก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ตัวแทนของตัวเองนั้นเข้าไปตรวจสอบ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่า มีเรื่องแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาเกี่ยวข้อง ตามหลักปฏิบัติรัฐบาลต้องเจรจากับกัมพูชาอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปัญหานี้มีทั้งประเด็นเขตแดนทางทะเล พื้นที่ความทับซ้อน เหมือนกับที่เรามีกับมาเลเซีย ก็ต้องมีการตกลงกันว่าจะแบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร แต่สถานการณ์นี้ซับซ้อนขึ้นเพราะว่าทั้งไทย-กัมพูชาขณะนี้ก็มีการให้สัมปทาน เพียงแต่ว่าเข้าไปทำกันไม่ได้เท่านั้นเอง จึงอาจจะมีเงื่อนไขว่าต้องตกลงกันเสียก่อนว่าตกลงอะไรมันเป็นของใคร ตรงไหน และที่มันซับซ้อนเป็นพิเศษกว่า คือ มีคนที่อยู่ในภาครัฐของไทย หรือเป็นอดีตหัวหน้ารัฐบาลไทย เคยไปเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา แล้วก็ประกาศตัวด้วยว่าจะทำธุรกิจพลังงาน คือผลประโยชน์ทับซ้อนพอๆ กับพื้นที่ทับซ้อน จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น จึงจำเป็นต้องมีความโปร่งใสให้ประชาชนรู้ว่า ในการที่จะมีการตกลงทำอะไรกันต่อไปนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นนี้รัฐบาลไทยได้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และของประชาชนอย่างดีที่สุดแล้วหรือไม่ อย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารไปเซ็นตามใจชอบโดยไม่ต้องมีการมาขอกรอบเพื่อตรวจสอบจากสภาก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น