xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้แก้มาตรา 190 เสียท่าเขมร ฉะ พท.จ้อเสียดินแดน ส.ว.ติงรอชัดแจ้งจะเข้าสภา “ทำแมว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
สมาชิกสภาชี้แก้มาตรา 190 ไม่เกี่ยวทำ ศก.เสียหายเหตุล่าช้า หวังไม่ผ่านสภา เสี่ยงเสียดินแดนส่อขัด รธน. แนะใช้แบบเดิม “ธนา” ชี้เข้าทางเขมรที่พิพาท ย้อนรอยเสียพระวิหาร “พีรพันธุ์” หลุดปากยกให้เขมร เจอตีปากย้ำไทยสงวนสิทธิ์ตลอด เจ้าตัวอ้างพูดตามศาลโลก “บุญยอด” บี้ถอนคำพูด “ค้อนแดง” ไม่แคร์ 40 ส.ว. ชี้ตัดสิทธิ ปชช.รับข้อมูล ขัด รธน. ค้านโอนอำนาจนิติฯ ให้ฝ่ายบริหาร ฉะคำว่า “ชัดแจ้ง” ยกเสียดินแดนแล้วเข้าสภาทำไม ปชป.เสริมเข้าทางธุรกิจพลังงาน ชาติส่อหายนะ

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ในวาระ หลังคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วเป็นวันที่ 2 มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธาน โดยสมาชิกรัฐสภายังอภิปรายในมาตรา 3 คือ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิ์อธิปไตยหรือเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยชัดแจ้ง หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา นอกจากนั้นต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อจัดรับฟังความเห็นของประชาชนต่อหนังสือสัญญา และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรผู้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งว่าหนังสือสัญญาใดที่เข้าข่ายมาตรา 190 หรือไม่

ขณะที่สมาชิกบางส่วน แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกข้อความในมาตรา 190 เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และการค้าระหว่างประเทศ แต่ความล่าช้าเกิดจากฝ่ายผู้ปฏิบัติมากกว่ากระบวนการของรัฐสภา พร้อมเชื่อว่าการแก้ไขมาตรา 190 เพื่อไม่ต้องส่งเรื่องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา อาจจะส่งผลกระทบต่อการกระทำใดๆ ในพื้นที่ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียเรื่องเขตแดนได้ อีกทั้งเห็นว่า หากไม่นำกรอบการเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ จึงเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาโหวตให้กลับไปใช้มาตรา 190 ตามเดิม

นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 190 เสร็จ หวั่นว่าจะเอาไปใช้ในศาลโลก ในการพิพากษาคดีข้อพิพาทพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยหยิบยกจากฝ่ายกัมพูชาที่ได้ประโยชน์ เพราะไทยไปลงนามสนธิสัญญาแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเมื่อปี 51 และไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อไปใช้ประโยชน์เพราะทำให้เป็นเรื่องไม่ผิด และท่านจะมองหน้าลูกหลานได้อย่างไร เราเสียประสาทพระวิหารในอดีตไม่ได้เพราะสัญญา แต่เสียเพราะพฤติกรรมอดีตของผู้นำประเทศ ไปยอมรับในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ของอธิปไตยกัมพูชา ศาลจึงเอาไปเป็นคำพิพากษาให้เราเสียประสาทเขาพระวิหาร วันนี้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ไปสู่ศาลโลกเพื่อขอพื้นที่โดยรอบประสาทเขาพระวิหาร และท้ายที่สุดกัมพูชานำแถลงการณ์ร่วมไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกเขาพระวิหาร แค่นี้ท่านยังไม่พออีกหรือ จะต้องรอให้ศาลโลกทำให้เสียดินแดนแล้วท่านจึงจะเข้าใจ ตนกราบไปยังกมธฯ และสมาชิกรัฐสภาหากนึกถึงประเทศชาติควรหยุดแก้ไข แต่หากยังเดินหน้าเพื่อรัฐบาล มากกว่าประเทศพวกท่านต้องรับผิดชอบ

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย และรมว.วิทยาศาสตร์ กมธฯเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเกิดปัญหาเพราะเราไม่ใช้กฎหมายตรงไปตรงมา เพราะหากเราไม่แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กัมพูชาก็ขอนำ “เขาพระวิหารขึ้นทะเบียนอยู่แล้วเพราะเป็นดินแดนของเขา” และเราแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อให้รัฐบาลทำงานสะดวกขึ้นคือเรื่องหลัก

นายธนาได้ลุกขึ้นประท้วงให้ระวังคำพูด พูดได้อย่างไรว่าประสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาอยู่แล้ว อย่าพูดคำนี้ เพราะประเทศไทยสงวนสิทธิ์ในการเอาเขาพระวิหารกลับมาตลอดเวลา จนกระทั่งนายนพดล ปัทมทะ อดีต รมว.ต่างประเทศไปทำแถลงการณ์ร่วมฯ ทำให้กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือประเทศไทย และวันนี้รัฐมนตรีไทยไปยอมรับ คิดได้แต่อย่าพูด เพราะตนเกรงว่าจะเอาคำพูดของรัฐมนตรีไปใช้ประโยชน์ ทำให้นายพีรพันธุ์กล่าวโต้ว่า อยากให้นายธนาไปอ่านคำพิพากษาปี 2505 ของศาลโลก บอกไว้ชัดคือ เขาพระวิหารตั้งบนดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่ารัฐมนตรีในฐานะกรรมาธิการต้องควรประชุมลับ คำพูดของนายพีรพันธุ์ ที่ระบุว่าขึ้นอยู่แล้วในดินแดนของเขา ซึ่งเรื่องนี้สุ่มเสี่ยง ตนคิดว่าขอให้รัฐมนตรีถอนคำพูดเพราะเป็นความเป็นความตายของประเทศชาติ ความมั่นคงของชาติ

“ท่านยกดินแดนนี้ทั้งหมดนี้ เพราะคำพิพากษาอยากบอกว่าจะมีก็แค่วัด ไม่ใช่ดินแดน มันต้องตีความกัน จึงขอความกรุณาให้ถอนคำพูดเพราะเป็นเรื่องใหญ่ ต่างประเทศเขาดูเราอยู่” นายบุญยอดกล่าว

แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานที่ประชุมก็ไม่วินิจฉัยให้นายพีรพันธุ์ถอนคำพูด และให้สมาชิกดำเนินการอภิปรายต่อไป ส่วนสมาชิกอีกหลายคนได้อภิปรายคัดค้าน และได้หยิบยกหลายปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากความผิดพลาดขึ้นมาประกอบ อาทิ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยตัดประเด็น การรับฟังความเห็นประชาชน หนังสือสัญญาที่กระทบต่อเศรษฐกิจ หรืองบประมาณของประเทศ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 3 วรรคสองว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมมาตรา 56 และมาตรา 57 ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการรับทราบข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะประเด็นล่าสุดที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะนำข้าวไปแลกกกับการให้ประเทศจีนเข้ามาเดินรถไฟในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างไม่สมควรทำ

“ที่อ้างว่ามาตรา 190 เดิมทำให้เกิดความเสียหายนั้น ผมมองว่าต้นเหตุคือหน่วยงานของรัฐที่ทำงานไม่มีประสิทธิ์ภาพอย่าง วาระแจ้งเพื่อทราบกรณีการทบทวนแหล่งเงินกู้จากองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไจก้า) ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงระยะที่ 3 วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ไจก้าขอขึ้นดอกเบี้ย จากเดิมที่คิด 0.8 เปอร์เซ็นต์ ไปเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะไทยถูกปรับสถานะจากรายได้ปานกลาง เป็นรายได้ปานกลางระดับสูงโดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่ต้องนำมาเป็นบทเรียน และเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 190 เพื่อโอนอำนาจตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายบริหาร” พล.ร.อ.สุรศักดิ์กล่าว

นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า ติดใจว่าคำว่า “ชัดแจ้ง” แสดงว่าต่อไปหากไทยเสียดินแดนให้กัมพูชาจึงจะนำเข้ารัฐสภาใช่หรือไม่ แล้วจะนำมาขอความเห็นชอบ “ทำแมว” ทำไม อีกครั้งการแก้ไขครั้งนี้เพื่อต้องการลดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจะไม่มีบทคุ้มครองในเรื่องก๊าซธรรมชาติ และอาจจะมีการให้เกิดปัญหาคอร์รัปชันเจรจาเรื่องการให้วีซ่าและเงินกู้จากต่างประเทศ ก็ไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย

ด้านนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยต่อการเขียนว่า “ชัดแจ้ง” ซึ่งแสดงว่าต่อไปทรัพยากรธรรมชาติมูลค่า 5 ล้านล้านบาท บริเวณอ่าวไทยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นของใคร รัฐบาลสามารถไปตกลงได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาใช่หรือไม่ และหากแก้มาตรา 190 สำเร็จคนที่มีคดีความหลังไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ก็จะรอดพ้นจากความผิดและกลับมาเป็นรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ จึงถือว่าเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ เล่นการเมืองแบบกอบโกย ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดหายนะกลับประเทศอีกไม่นาน


กำลังโหลดความคิดเห็น