xs
xsm
sm
md
lg

คนเดือนตุลาเผยเบื้องหลัง 14 ตุลาฯ รัฐบาลปล่อยข่าวเท็จ ยั่วยุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสวนาเบื้องหลัง 14 ตุลาประชาธิปไตย ชี้องค์การนักศึกษาเดิมต้องการช่วย 13 กบฏเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ยันชนวนทั้งหมดเกิดจากรัฐบาลปล่อยข่าวยั่วยุ ทั้งล้มรัฐบาล รวมถึงราชวงค์ ซึ่งไม่เป็นความจริง

วันนี้ (11 ต.ค.) ที่รัฐสภา วุฒิสภา ร่วมกับคณะกรรมการรำลึกและเชิดชูเกียรติ “วันที่ 14 ตุลา ประชาธิปไตย” ได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “เบื้องหลัง 14 ตุลา ประชาธิปไตย” โดยเชิญ นายเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ, นายยุทธนา มุกดาสนิท, นายพีรพล ตริยะเกษม และนายสุวัฒน์ ทองธนากุล เข้าร่วมเสวนา และ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา

โดย นายพีรพล กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา วัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วย 13 กบฏผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมอยู่ด้วย และขณะนั้นอยู่ในช่วงการสอบ ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ต.ค.2516 จึงคิดว่าถ้านักศึกษาไม่ได้สอบ อาจถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา จึงรวมนักศึกษามาชุมนุม ทำให้องค์การนักศึกษาต้องคิดดำเนินการ แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์นี้นักศึกษาไม่มีความคิดล้มรัฐบาล แต่ทำไปเพราะความรักเพื่อนไม่อยากให้เพื่อนติดคุก

“ขณะนั้นรัฐบาลได้ออกข่าวว่าได้ตรวจกระเป๋าแล้ว พบหนังสือคอมมิวนิสต์ แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นหนังสือของห้องสมุด ดังนั้น การเคลื่อนไหวทั้งหมดจึงเป็นการกระทำของรัฐบาล ส่วนการวางแผนยึดมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว” นายพีรพล กล่าวและว่า ชนวนเกิดเหตุทั้งหมดจนเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา เนื่องจากทางรัฐบาลได้มีการปล่อยข่าวยั่วยุ ทั้งล้มรัฐบาล รวมถึงราชวงค์ ซึ่งไม่เป็นความจริง

นายยุทธนา กล่าวว่า ขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 4 คณะวารสารศาสตร์ และได้มีโอกาสไปฝึกงานกับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งเห็นการทำงานของรัฐบาลจนรู้สึกเกิดความรังเกียจ ต่อมานายกองค์การนักศึกษามหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้มีการเรียกประชุมช่วงบ่ายวันที่ 8 ต.ค.โดยมีมาตรการสรุปมาว่า จะทำอย่างไรให้นักศึกษามาร่วมชุมนุมให้มากที่สุด

“เลยมีการเสนอให้ปิดห้องสอบตึกศิลปศาสตร์ เนื่องจากวันนั้นมีนักศึกษากว่า 800 คน จะต้องมาทำการสอบ เลยมีการปิดห้องสอบด้วยการนำปูนปลาสเตอร์ไปหยอดปิดรูกุญแจ และเอาโซ่มาล่ามประตูขึ้นชั้น 2 ของอาคาร แต่จำไม่ได้ว่าเป็นไอเดียใคร เพื่อให้นักศึกษาไม่สามารถเข้าสอบได้ และมารวมตัวชุมนุมบริเวณลานโพธิ์ ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นการชุมนุม ต่อมาก็มีขึ้นป้ายผ้า ซึ่งตรงกับช่วงเวลา 08.00 น.นักศึกษามีมากขึ้นและเต็มพื้นที่ลานโพธิ์ และพอเริ่มมีการปราศรัยคนก็มีเยอะขึ้น สำหรับความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าปัจจุบันมีโอกาสเกิดเหตุการณ์คล้ายกับ 14 ตุลา และจะรุนแรงกว่ามาก” นายยุทธนา กล่าว

ขณะที่ นายเทียนชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมีชีวิตอยู่กับการเคลื่อนไหวและความตายจำนวนมาก และมีหน้าที่คอยวิเคาระห์ข่าวกับสถานการณ์การชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่จำได้ขึ้นใจ คือ ได้จัดนักศึกษาอาชีวะ จำนวน 11 คน มาเฝ้าบริเวณเสาหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย 11 คน เหลือรอดเพียงคนเดียว เพราะมีแค่ปืนสั้น

“ตอน 14 ตุลา ผมมีกลุ่มอยู่แล้ว และได้บอกเพื่อนว่าอย่าไปร่วมเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะจะถูกจับหมด สุดท้ายก็เป็นตามนั้น โดยสิ่งที่กลุ่มอิสระตัดสินใจไม่เคลื่อน เมื่อกลุ่มแรกโดนจับ กลุ่มเราก็จะได้ขึ้นมาเคลื่อนต่อ และผมได้ทำศูนย์ข่าว วิเคราะห์ข่าว และส่งข่าวให้ขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งวิธีการหาข่าวช่วงนั้นทำง่าย เพราะสันติบาลคอยปล่อยข่าว และถ้าไม่มีนักเรียนอาชีวะ 14 ตุลา ไม่มีวันชนะ เพราะนักเรียนอาชีวะพร้อมพลีชีพ กล้าที่จะสู้ และผมเป็นนักเขียน แต่มี 2 เรื่องที่ไม่เคยเขียนคือ เหตุการณ์ 6 และ 14 ตุลา” นายเทียนชัย กล่าว

ด้าน นายสุวัฒน์ กล่าวว่า เป็นนักข่าวตั้งแต่เรียนปี 1 โดยทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ทำให้เป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษามาก อีกทั้งประเทศไทยช่วงนั้นมีลักษณะเผด็จการ ประชาชนนักศึกษาก็เก็บสะสมความไม่พอใจมานาน และเหตุที่ตีพิมพ์ข่าวก่อนว่าคนจะเต็มพื้นที่ลานโพธิ์นั้น เป็นการรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์




กำลังโหลดความคิดเห็น