ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่แต่งตั้ง “วัชรพล” เป็นรอง ผบ.ตร.ตั้งแต่ปี 2552 ชี้แซงคิว “ชลอ” ทั้งที่ตัวเองเป็นแค่อาวุโสอันดับ 2
วันนี้ (9 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.944/2553 หมายเลขแดงที่ อ.611/2556 ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่าง พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 4 ราย ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เม.ย. 2552 โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 7 เม.ย. 2552 ลำดับที่ 3 ที่แต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2552 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า การคัดเลือกแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในการรักษาราชการแทน ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ชลอ ได้รับการจัดให้เป็นผู้มีอาวุโส ลำดับที่ 1 และ พล.ต.ท.วัชรพล เป็นผู้มีอาวุโสลำดับที่ 2 เมื่อไม่ปรากฏว่า พล.ต.อ.ชลอ มีความบกพร่องในเรื่องประวัติการรับราชการ ความประพฤติ และผลการปฏิบัติงาน อีกทั้งผู้ฟ้องคดี ก็ได้รับการยอมรับในความรู้ความสามารถ ฉะนั้น จึงต้องแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีอาวุโส เป็นลำดับที่ 1 ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตำแหน่งแรก
นายวิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษา ระบุว่า เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง คดีดังกล่าว พล.ต.อ. ชลอ ชูวงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสบ 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าวฯ โดยอ้างว่า ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ว่างลงขณะนั้น ตนเองเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มีอาวุโสลำดับที่ 1 แต่กลับไม่ได้รับการเสนอชื่อ โดยมีการเสนอชื่อ พล.ต.ท.วัชรพล ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่ 2 แทน และผบ.ตร.กับพวกทั้ง 4 ก็ได้มีมติเห็นชอบจึงเป็นการแต่งตั้งโดยไม่ชอบ ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 53 ว่าประกาศสำนักนากยรัฐมนตรีฯดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอน ทางผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การคัดเลือกแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในการรักษาราชการแทน ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ. ชลอ ได้รับการจัดให้เป็นผู้มีอาวุโส ลำดับที่ 1 และ พลตำรวจโทวัชรพลฯ เป็นผู้มีอาวุโส ลำดับที่ 2 เมื่อไม่ปรากฏว่าพล.ต.อ.ชลอ มีความบกพร่องในเรื่องประวัติการรับราชการ ความประพฤติ และผลการปฏิบัติงาน อีกทั้งพล.ต.อ.ชลอ ก็ได้รับการยอมรับในความรู้ความสามารถ ฉะนั้น จึงต้องแต่งตั้งพล.ต.อ.ชลอ ซึ่งมีอาวุโส เป็นลำดับที่ 1 ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตำแหน่งแรก แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 เม.ย. 2552 ที่แต่งตั้งให้พล.ต.ท.วัชรพล ประสารกิจ ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2552 เป็นต้นไป ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง