“ยิ่งลักษณ์” เผยในที่ประชุมเอเปก ไทยหนุนเชื่อมโยงเอเปก ทั้งด้าน ศก. สร้างประชาคมอาเซียน เชื่อมเส้นทางบก ชี้ต้องมีกฎ ศุลากากร ธรรมเนียม เป็นหนึ่งเดียว เสริมการพัฒนา ICT คุย กู้ 2 ล้านล้าน ไม่ได้แค่เชื่อมกับอาเซียน แต่สร้างงาน ยกระดับชีวิต แนะเอเปกหนุนวิชาการ อำนวยความสะดวกการค้า ย้ำสำคัญเชื่อมทางอากาศทะเล โว สนามบินไทยรับผู้โดยสารเพียบหนุนเชื่อมโยง หนุนจีนตั้ง ธ.เพื่อการลงทุน ลั่นให้เอเปกเป็นภูมิภาคไร้พรมแดน
วันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Sofitel บาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมถ่ายรูปหมู่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ก่อนเข้าร่วมการประชุมผู้นำช่วงที่สอง หรือ Retreat II ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ว่าด้วยความเชื่อมโยงของเอเปกท่ามกลางโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” โดยประเด็นความเชื่อมโยง ที่มีการหารือเพื่อรับรอง (1) APEC Framework on Connectivity ซึ่งกำหนดให้เอเปกบรรลุความเชื่อมโยงทั้ง 3 ด้านคือ กายภาพ สถาบัน และ ประชาชนกับประชาชน และ (2) Multi-Year Plan on Infrastructure Development and Investment ซึ่งกำหนดแผนงาน 4 ด้าน รวมถึงการตั้ง Pilot PPP Center ในอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอความเห็น ว่าไทยให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้เป็นวาระเร่งด่วนของเอเปก โดยความสำคัญของการเชื่อมโยงได้ถูกกำหนดไว้ในหลายกรอบการดำเนินการ เช่น กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจใต้-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และอาเซียนได้เสริมสร้างความเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกัน ความร่วมมือยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบกโดยการเสริมสร้างการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างเอเชียและยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหม ทั้งนี้ จะต้องตระหนักถึงเรื่อง ช่องว่างของการเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย โดยช่องว่างแรกนั้นเกี่ยวเนื่องกับสารบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ เช่น เอเปกจะต้องมีกฎระเบียบ กระบวนการศุลกากร และธรรมเนียมต่างๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ในส่วนของการบริการที่จะสนับสนุนธุรกรรมต่างๆ ระหว่างสมาชิก จะต้องส่งเสริมให้มีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยจะเป็นประธานในการประชุม Connect Asia-Pacific Summit ในเดือน พ.ย.นี้ และหวังว่าจะได้เสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาการเชื่อมโยงทาง ICT ในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทั่วถึง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ช่องว่างที่สองคือ ช่องว่างจากการเชื่อมโยงภายในประเทศโดยไทยมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เชื่อมโยงแต่เฉพาะไทยกับอาเซียนและภูมิภาคอื่นเท่านั้น แต่ยังสร้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย นอกจากนี้ เอเปกจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจเอเปกเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การเชื่อมต่อระหว่างประชาชนข้ามพรมแดน สำหรับช่องว่างที่สามของการเชื่อมโยงคือ การเชื่อมโยงทางอากาศและทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญ และเอเปคสามารถเพิ่มประเด็นการเชื่อมต่อท่าเรือที่สำคัญเข้ากับกรอบการดำเนินการที่มีอยู่ทั้งยังมีสำคัญต่อการเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินยูเรเซียนกับอเมริกา ที่เป็นจักรกลสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก
นอกจากนี้ เอเปกจะต้องเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางอากาศ เช่น ในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการปรับปรุงสนามบินนานาชาติเพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเสริมสร้างการเชื่อมโยงในภูมิภาค ส่วนทรัพยากรที่ใช้ในการเชื่อมโยงนั้นจีนได้เสนอตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและไทยยินดีสนับสนุนความคิดดังกล่าว ทั้งนี้เอเปกจะต้องร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อความมั่นคง และเพื่อให้เอเปกเป็นภูมิภาคที่ไร้พรมแดน ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือในช่วงที่สอง นายกรัฐมนตรีและผู้นำเอเปกได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และจะมีการหารือระหว่างอาหารกลางวันในหัวข้อ การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความเท่าเทียม-ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน