xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” หนุนการค้าพหุพาคีในที่ประชุมเอเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ : Yingluck Shinawatra
นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก หนุนระบบการค้าพหุพาคี เพื่อความเติบโตระดับภูมิภาค

วันนี้ (7 ต.ค.) เวลา 14.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม Sofitel บาหลี อินโดนีเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในช่วงแรก โดยที่ประชุมได้กำหนดหัวข้อการหารือคือ “บทบาทของเอเปกในการสร้างเสริมระบบการค้าพหุภาคีในสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน” โดยในช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยืนยันถึงนโยบายของไทยต่อประเด็นการค้าพหุภาคีว่า การเติบโตของภูมิภาคนั้นขึ้นอยู่กับความพยายามร่วมกันในระดับพหุภาคี ซึ่งแม้ความก้าวหน้าของการเจรจารอบโดฮา หรือ Doha Round เป็นไปอย่างล่าช้า เพราะมีอุปสรรคและความยากลำบากอยู่ แต่ระบบการค้าพหุภาคียังต้องได้รับการส่งเสริมต่อไป องค์กรการค้าระหว่างประเทศ หรือ WTO ได้กำหนด มาตรฐานสำหรับระบบการค้าที่อยู่บนกฎกติกา และมีบทบาทสำคัญในการสร้างพื้นที่สำหรับทุกประเทศในเศรษฐกิจของโลก แต่เนื่องจากข้อเสนอที่ครอบคลุมยังไม่พร้อมในเวลานี้ ไทยจึงสนับสนุนมาตรการ Early Harvest หรือเรื่องที่ดำเนินการได้ก่อน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่ง ข้อเสนอบาหลี หรือ Bali Package ที่ได้ประกาศไปเมื่อการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 9

นายกฯ กล่าวต่อว่า การให้ความสำคัญต่อวาระการพัฒนาในรอบนี้ การประชุม WTO ต้องบรรลุข้อสรุปในประเด็นที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือ Least Developed Countries เช่น ประเด็นการพัฒนา การค้าในภาคเกษตรกรรม และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยไทยยืนยันสนับสนุน WTO และพร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนกระบวนการ โดยการเข้าร่วมในข้อริเริ่ม Duty-Free Quota-Free สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด นอกจากนี้ ไทยได้กระตุ้นให้สมาชิกอื่นๆ ได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปของการเจรจา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นของเอเปคด้านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า เอเปกได้ให้ความสำคัญในความพยายามด้านการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนภายใต้เป้าหมายบอกอร์ หรือ Bogor Goals ซึ่งสองทศวรรษที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก เห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่เข้มแข็งของเขตเศรษฐกิจเอเปค ความร่วมมือที่ใกล้ชิดของเอเปคในด้านการพัฒนานี้ รวมกับความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาค พหุภาคี และการเจรจาที่กำลังดำเนินการในเรื่องของ ความเป็นหุ้นส่วนอย่างรอบด้านระดับภูมิภาค หรือ RCEP และ TPP สามารถสร้างประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ จึงต้องมองไปไกลกว่าเรื่องการค้าและการลงทุน ในการสร้างความมั่นคงให้กับการเติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาวในภูมิภาคเอเปค ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจัดตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน ในการนี้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย-แปซิฟิก ในหัวข้อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสววรษ ( MDGs) สู่วาระการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจากปี 2015 โดยบทสรุปสำคัญของการประชุมได้รวมถึงการผลักดันขั้นสุดท้ายสู่ MDGs การรักษาไว้ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่าง MDGs และ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการให้ความสำคัญการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอให้บรรจุประเด็นเหล่านี้ไว้ในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของเอเปค และวิสัยทัศน์การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทางการค้า การลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าด้านการจ้างงาน ความเป็นอยู่ของประชาชน และการให้อำนาจประชาชนและประชาคม




กำลังโหลดความคิดเห็น