xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ฉะ “ปู” ไม่รู้อำนาจ เมินถก คกก.เตือนภัยพิบัติ ชี้จ้อ BRN ไร้ความไว้ใจ จี้ปรับท่าที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“มัลลิกา” ยกระเบียบสำนักนายกฯ อัด “ปู” ละเว้นหน้าที่เมินถก คกก.เตือนภัยพิบัติ ตั้งแต่น้ำท่วม 54 แขวะไม่รู้ด้วยซ้ำมีอำนาจ จนน้ำท่วมหนัก ปล่อยราชการต่างคนต่างทำ เล็งถกสอบดัดหลัง “องอาจ” คาด BRN ลอบป่วนกดดันโต๊ะเจรจา ชี้คุยมาไร้ความไว้ใจ มีข้อเสนอนอกโต๊ะผ่านยูทิวบ์ แนะรัฐมีโรดแมปที่ฝ่ายเกี่ยวข้องเห็นชอบ วางกรอบให้ชัด บี้ BRN เสนอแต่บนโต๊ะ ถามถึงเหตุป่วนศีลอด อย่าพลาดเป็นเครื่องมือ ย้ำยุติรุนแรงอย่ามองแต่การตลาด ไม่ปรับล้มเหลว

วันนี้ (6 ต.ค.) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในขณะนี้ โดยได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง ฝ่ายเลขาคือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สังกัดกระทรวงไอซีที มาพิจารณาเพราะหลังจากภัยพิบัติปี 2554 ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้เลย ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เกิดอุทกภัย 30 จังหวัด ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีในการเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติ ตามอำนาจที่นายกรัฐมนตรี ทีผ่านคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงถือว่านายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยฝ่ายบริหารคือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ นายกหรือรองนายกฯจะต้องประชุมเพื่อเตือนประชาชน แต่กลับไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติเลย เหมือนกับว่านายกฯไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีอำนาจนี้อยู่

 น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า แม้ว่าฝ่ายเลขาจะทำหน้าที่ให้สัญญาณเตือนภัยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น แต่ตัวคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย ดังนั้นจึงทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่จะบรรเทาเบาบางกลายเป็นรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต่างฝ่ายต่างทำโดยไม่มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบจากคณะกรรมการเตือนภัยพิบัติ เป็นข้อบกพร่องของนายกฯและรัฐบาลปล่อยให้หน่วยงานราชการต่างคนต่างทำ จึงขอเตือนนายกฯและรองนายกฯที่เกี่ยวข้องให้ไปอ่านระเบียบว่าด้วยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติด้วย ทั้งนี้จะปรึกษาฝ่ายกฎหมายพรรคและกรรมาธิการวุฒิสภาชุดธรรมาภิบาลเพื่อตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีด้วย และหลังจากนี้จะมีเรื่องภัยพิบัติหน้าหนาวจึงอยากให้นายกฯนำข้อบกพร่องไปพิจารณาเพื่อปรับปรุง

ส่วน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลและทีมเจรจาฝ่ายไทยกับบีอาร์เอ็นกำหนดไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 20 ต.ค.ที่จะมาพูดคุยกันต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน พรรคเห็นว่าการเจรจาเป็นวิธีการหาทางออกต่อปัญหาความไม่สงบ แต่เมื่อเริ่มมีการเจรจารอบใหม่สถานการณ์กลับรุนแรงขึ้น ล่าสุดนายตำรวจยศพันตำรวจโทและอีกหลายนายต้องสูญเสียชีวิตก่อนการเจรจารอบใหม่ จึงคิดว่าจะมีความสูญเสียอีก เพื่อเป็นการกดดันต่อกระบวนการพูดคุยที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ในการเจรจาที่ผ่านมายังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจต่อกันและกันได้มากเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นหัวใจพื้นฐานนำไปสู่การเจรจาต่อไป แต่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความไว้วางใจได้ ในขณะเดียวกันบีอาร์เอ็นสร้างบรรยกาศที่ไม่น่าไว้วางใจ และมีข้อเสนอนอกโต๊ะการพูดคุยผ่านโลกออนไลน์เป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นการเจรจารอบใหม่ที่จะเริ่มภายในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนคู่เจรจาของกลุ่มบีอาร์เอ็นหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลไทยคววรกำหนดท่าทีหรือบทบาทของตัวเอง ดังนี้

คือ 1.ควรมีโรดแมปที่ผ่านความเห็นชอบและข้อเสนอของผู้เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอพูดคุยบนโต๊ะในสถานการณ์ที่เหมาะสม 2.กำหนดกรอบการพูดคุยให้ชัดเจน 3.เรียกร้องให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอข้อเรียกร้องบนโต๊ะอย่างเป็นทางการไม่ใช่ผ่านยูทิวบ์ 4.รัฐบาลไทยต้องไม่ระมัดระวังไม่ให้ท่าทีของฝ่ายไทยตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึง เพราะบุคคลบางคน เช่น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขา สมช.บางครั้งให้สัมภาษณ์หรือมีท่าทีก่อให้เกิดลักษณะเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบได้ และ 5.ผู้เจรจาฝ่ายไทยควรสอบถามข้อตกลงช่วงหยุดยิงรอมาฎอนว่าทำไมไม่สามารถปฏิบัติเป็นจริงได้ และเหตุใดความรุนแรงจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการพูดคุยครั้งนี้ต้องช่วยยุติความรุนแรงในพื้นที่ไม่ใช่หวังผลในทางการตลาดเท่านั้น จึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีควรจะเรียกคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยทั้งหมดมาทำความเข้าใจร่วมกันว่าการเจรจารอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะกำหนดบทบาทท่าทีในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น หากไม่ปรับกระบวนการวิธีการพูดคุยใหม่ก็จะทำให้ล้มเหลวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น