ครม.เห็นชอบจัด ครม.สัญจร จ.ลพบุรี 30 ต.ค.นี้ หลังเลื่อนจากช่วงกลางเดือน ก.ย.“ปู” หาทางลงเขื่อนแม่วงก์ สั่งฟังความเห็นฝ่ายต้าน ผุดประชุมไทย-แอฟริกา ก.พ.นี้ ที่เชียงใหม่ ไฟเขียว ธอส. กู้ในประเทศ 1.1 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง พร้อมให้ กทพ.กู้เพิ่ม 1.88 หมื่นล้าน ระยะเวลา 5 ปี เห็นชอบ 11 เรื่องตาม กก.ยุทธศาสตร์พัฒนา จ.ชายแดนใต้เสนอ
วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบที่จะให้มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ที่จังหวัดลพบุรี หลังจากที่ได้มีการเลื่อนการประชุมจากวันที่ 19-20 ก.ย.เป็นวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้
นายธีรัตถ์ ยังได้กล่าวถึงแนวทางพิจารณาเรื่องการจัดประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกาด้วยว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปยังทวีปแอฟริกาเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา และได้เสนอให้มีการประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกาขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่าจะมีการจัดประชุมระดับสูงไทย-แอฟริกา ในช่วงต้นเดือน ก.พ.57 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ จ.เชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพิ่มเติมปฏิสัมพันธ์ระหว่างไทย-แอฟริกา ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย เพราะแอฟริกาเป็นตลาดใหม่มีประชากรรวมกันกว่า 1 พันล้านคน และมีอัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นแหล่งวัตถุดิบพลังงานที่สำคัญ เป็นเวทีที่แสวงหาพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ พัฒนาความร่วมมือระหว่างเอเชียและแอฟริกา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กู้เงินภายในประเทศจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจาก ธอส.ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในปี 57 จำนวน 1.35 แสนล้านบาท เน้นกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัย แต่ว่าปัจจุบันสภาพคล่องของ ธอส.ส่วนใหญ่มาจากการฝากเงินของกลุ่มลูกค้ารายได้ และอาจจะมีความเสี่ยงหากผู้ฝากเงินกลุ่มนี้ถอนเงินออกไป ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 57 ธอส.จะมีพันธบัตรที่ครบกำหนด จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท จึงขอให้ ครม.และกระทรวงการคลังพิจารณาการกู้เงินครั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการให้ผู้ที่ต้องการสินเชื่อและไม่เกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
ด้าน ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปรวบรวมประเด็นที่ประชาชนและภาคเอกชน ร้องเรียนผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อส่งต่อให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับทราบ และไปพิจารณาว่าสมควรต้องแก้ไขปรับปรุงหรือร่างกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนหรือไม่อย่างไร แล้วให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ กฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหากลุ่มเรือประมง ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน 1 ฉบับ และข้อเรียกร้องของสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น ซึ่ง นายวราเทพ แจ้งที่ประชุมว่าขอให้กระทรวงต่างๆ จัดลำดับความเร่งด่วนของร่างกฎหมายที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ เพื่อที่รัฐบาลจะได้เร่งประสานงานกับวิปรัฐบาล เพื่อผลักดันให้มีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2556 จำนวน 6 เรื่อง คือ 1.รายงานการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ 2.รับทราบข้อเสนอ กพต.ที่ขอให้การเลือกเฟ้นข้าราชการในพื้นที่ ยึดหลักความรู้ความสามารถและคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ควรส่งข้าราชการที่ถูกลงโทษหรือความประพฤติไม่ดีมาปฏิบัติงานในพื้นที่ 3.รับทราบการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลปกครองยะลาและบ้านพักอาศัยของตุลาการและข้าราชการ วงเงิน 585 ล้านบาท
4.รับทราบการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ รวม 12,474 ราย วงเงิน 2,080 ล้านบาท แบ่งเป็น ผู้ได้รับความช่วยเหลือ 4 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ก่อเหตุรุนแรง และ 4.ผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง แต่ปรากฏว่าภายหลัง พบว่ามิได้เป็นผู้กระทำความผิด 5.รับทราบการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนสังคมพหุวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของนักเรียนในพื้นที่ และ 6.รับทราบการขอรับโอนโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นการสร้างงานในพื้นที่
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบ มติ กพต.5 เรื่อง ดังนี้ 1.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการรับคำขอสินเชื่อโครงการส่งเสริมสินเชื่อผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ออกไปจนถึง วันที่ 31 ธ.ค.56 เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 31 มิ.ย 56 และเห็นชอบการขยายระยะเวลาก่อสร้างถนนหลวงหมายเลข 410 สายยะลา-เบตง วงเงิน 4,026,000 บาท 2.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2556-2557
3.เห็นชอบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ วงเงิน 915,096,000 บาท และเห็นชอบให้เพิ่มเงินอุดหนุนรายบุคคลให้โรงเรียนเอกชน จากเดิมได้รับเงินอุดหนุน ร้อยละ 70 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 85 รวมทั้งเห็นชอบการก่อสร้างหอพัก อาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทั้งยังเห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ รายละไม่เกิน 4,000,000 บาท รวมทั้ง เห็นชอบให้จ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เดือนละ 2,500 บาทต่อคน ตั้งแต่ 1 ต.ค.51 ถึง 30 ก.ย.55 รวม 8,233,627 บาท
4.เห็นชอบให้เพิ่มอัตรากำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส.จาก 900 อัตรา เป็น 2,700 อัตรา เพื่อลดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องใช้งบประมาณรวม 218,000,000 บาท และ 5.เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยสนามบินนราธิวาส นอกจากนี้ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งที่ประชุม ครม.ว่า กระทรวงจะรับหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมการเล่นกีฬาฟุตซอลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาการเล่นฟุตซอลได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนในพื้นที่ พบว่าไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นช่วงมี่มีการแข่งขัน ทั้งนี้ กพต.มีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 41 แห่งในพื้นที่ โดยใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาทเศษ
ด้าน นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติแผนการกู้เงินในประเทศเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2557-2561 โดยการกู้ Roll-Over วงเงินรวม 18,800 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยกู้เงินในปีงบประมาณ 2557-2561 วงเงินรวมไม่เกิน 18,800 ล้านบาท ตามแผนการกู้เงินที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอ โดยให้กระทรวงการคลังร่วมกับ กทพ.เป็นผู้พิจารณาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
นายภักดีหาญส์ กล่าวอีกว่า สำหรับปีงบประมาณ 2557-2561 หากมีการปรับแผนการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ของ กทพ.ในแต่ละปี หรือระหว่างปี ภายในวงเงินรวมไม่เกิน 18,800 ล้านบาท ให้ กทพ.เสนอปรับแผนการกู้เงินต่อกระทรวงการคลังเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการจริง และเพื่อให้สามารถปรับแผนการบริหารนี้สาธารณะประจำปีได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา