xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ดัก “ปู” จ้อจงรักภักดี หยุดทูลเกล้าฯ มิบังควร ชี้ รบ.บีบสถาบัน ขอศาลชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หน.ปชป.ติงนายกฯ ไม่มีความเร่งด่วนทูลเกล้าฯ แก้ที่มา ส.ว. แนะรอศาลวินิจฉัย ฝืนลุยจะเป็นเดดล็อกทางการเมือง ไม่ควรดึงสถาบันสู่ความขัดแย้ง ไม่ฟังเท่ากับเสริมความขัดแย้ง ชี้ร่างฯ มีปัญหาชัด บี้ “ปู” หยุดกระทำมิบังควร ตามปากที่จ้อจงรักภักดี ตอกรัฐฯ สร้างแรงกดดันสถาบัน ทดสอบกระแสต่อต้าน ใช้วิธีขู่ตุลาการ ขอศาลอย่าหวั่นไหว ไล่ รบ.ดูปัญหาประชาชน ทำตามที่หาเสียง ตอกใช้โฆษณาชวนเชื่อมากไป สังคมหาความจริงยาก



วันนี้ (1 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและคุณสมบัติ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทั้งๆ ที่ร่างดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีความเร่งด่วนหรือความจำเป็นที่ต้องรีบ เนื่องจากมีเวลาเหลืออีก 20 วันจึงควรรอการวินิจฉัยของศาลก่อนอย่าเอาเรื่องที่มีปัญหาหรือความขัดแย้งขึ้นทูลเกล้าฯ เลย เพราะในระหว่างนี้ศาลอาจมีแนวทางที่ชัดเจนออกมา เช่น ยกคำร้อง หรือวินิจฉัยเลย หรืออาจจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไม่ต้องสร้างความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้นด้วย และทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกฯ ยังดึงดันที่จะทูลเกล้าฯร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจะกลายเป็นเดดล็อกทางการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เท่ากับเอาสิ่งที่มีความขัดแย้งอยู่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในขั้นตอนที่จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย หรือมีพระบรมราชวินิจฉัย ตนเห็นว่าไม่พึงกระทำ เพราะควรให้กระบวนการจบสิ้นชัดเจนทั้งในแง่อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกับตุลาการก่อน ตนไม่อยากให้ดึงสถาบันเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และตนไม่เห็นเหตุผลที่นายกฯ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในขณะนี้

เมื่อถามว่า การกระทำเช่นนี้คือการกดดันทั้งศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันไปพร้อมๆ กันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าคิดทำอย่างนั้นก็ยิ่งเท่ากับว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และจะทำให้เรื่องลุกลามออกไป ตนคิดว่ารัฐบาลปฏิเสธยากว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ข้อเท็จจริงชัดไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงร่าง การตัดสิทธิผู้แปรญัตติ การกดบัตรแทนกัน หลักฐานก็ชัดเจนว่ามีปัญหาทั้งสิ้น ทำไมจึงไม่รอให้ศาลวินิจฉัยก่อน เพราะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะหลีกเลี่ยงนำเรื่องที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ

“นายกฯ พูดเสมอว่ามีความจงรักภักดี ควรหลีกเลี่ยงเรื่องการกระทำมิบังควร ดีที่สุดคือนายกฯ ถือเรื่องนี้ไว้ระยะหนึ่งตามที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ทำ” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่าส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกสองร่างที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น คงยังตอบไม่ได้ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและการพิจารณาด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแก้ได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกระบวนการตราากฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎระเบียบ รัฐธรรมนูญ ข้อบังคับ จึงยังพูดล่วงหน้าไม่ได้

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังใช้เรื่องนี้วัดพลังทางสังคมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เท่าที่สังเกตดูรัฐบาลต้องการที่จะสร้างแรงกดดันต่อสถาบันต่างๆ และต้องการทดสอบกระแสว่าจะมีการต่อต้านเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน ควบคู่กันไปก็มีความพยายามระดมมวลชนเข้ามากดดันในรูปแบบต่างๆ หรือใช้วิธีการใช้ ส.ส.นักกฎหมายมาขู่ว่าจะดำเนินคดีต่อตุลาการ ทั้งหมดเป็นตัวฟ้องว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในเรื่องความปรองดอง เพราะถ้ารัฐบาลมีแนวคิดในเชิงปรองดองต้องไม่พยายามที่จะปลุกเร้าให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้ากันแบบนี้ ทั้งนี้ตนคิดว่าแต่ละฝ่ายต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ ตนหวังว่าศาลจะไม่หวั่นไหวไปกับความพยายามที่จะกดดันจากซีกรัฐบาล คนไทยส่วนใหญ่จะเฉยหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ตนมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา จึงขอเป็นกำลังใจให้ตุลาการได้วินิจฉัยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

“ผมคิดว่าแรงกดดันที่จะไปสู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำกันเต็มที่ แต่ตุลาการที่มีความรู้ประสบการณ์ เมื่อตัดสินใจมาทำหน้าที่นี้ต้องยึดถือความเที่ยงตรง ความเที่ยงธรรมเป็นสำคัญ จึงอยากให้กำลังใจให้มีความกล้าหาญให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา และทุกคนเคารพกฎหมายบ้านเมืองก็จะไม่มีปัญหา คำพูดที่ไม่เคารพกติกาคือ การพูดว่าจะไม่ยอมรับอำนาจศาล ถ้าคิดอย่างนี้เท่ากับไม่มีกติกา ต่อไปนี้ถ้าใครแพ้คดีก็บอกไม่ยอมรับอำนาจ ทั้งที่ในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะคดีก็ยอมรับอำนาจศาลทุกอย่าง จะไม่ยอมรับอำนาจศาลก็เฉพาะตอนที่ศาลตัดสินไม่ตรงกับใจตัวเองก็โวยวาย และกล่าวหา บิดเบือนเรื่องอำนาจศาล” นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามว่าการเดินเช่นนี้เท่ากับรัฐบาลกำลังต้องการแตกหักกับสังคมไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกคนต้องยืนอยู่ในจุดของความถูกต้อง แต่คนที่พยายามจะเอาความไม่ถูกต้องเข้ามาจะมาแตกหักด้วยก็ต้องว่ากันไป ทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้งเพื่ออะไร เพราะมีหน้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก ทุ่มเทตรงนี้ดีกว่าการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งตนก็ยังหวังและเรียกร้องไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า ต้องช่วยกันดูแลปัญหาเศรษฐกิจ น้ำท่วม ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง อย่าดึงประเทศ อย่าดึงสังคมเข้าสู่ความขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีควรจะปฏิบัติตามที่เคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขไม่แก้แค้น การปรองดอง และค่าครองชีพ แต่กลับไม่มีการปฏิบัติตาม จึงถึงเวลาแล้วที่นายกต้องทบทวนท่าทีตรงนี้ แม้จะมีความพยายามควบคุมสื่อโดยใช้เรื่องเท็จมาโฆษณาชวนเชื่อ แต่ตนเชื่อว่าประชาชนสัมผัสได้ว่าของแพงจริงหรือไม่ เศรษฐกิจฝืดเคืองจริงหรือไม่ การพยายามใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อมากเกินไปที่สุดจะเกิดช่องว่างระหว่างความจริงกับสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอ หรือสื่อใดที่ถูกครอบงำก็จะหมดความน่าเชื่อถือ จนเกิดอันตรายเพราะสังคมจะแสวงหาความจริงได้ยาก แต่จะเกิดความขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งสวนทางแนวทางปรองดอง
กำลังโหลดความคิดเห็น