กลุ่ม 40 ส.ว.ยื่น “ค้อนแดง-นิคม” ขอศาล รธน.วินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว.โมฆะ ให้คุ้มครองชั่วคราวระงับทูลเกล้าฯ ชี้ศาลรับวินิจฉัย แสดงว่ามีปัญหา ปธ.รัฐสภา-นายกฯ ควรชะลอ ส่วน 40 ส.ว.อีกกลุ่ม ยื่นศาลปมเดียวกัน ระบุเรื่องมิบังควรทูลเกล้าฯ เหตุร่าง กม.มีปัญหาความชอบธรรม อย่านำสถาบันสู่ความขัดแย้งการเมือง ชี้ “ปู” รับเผือกร้อนแทน “ค้อนแดง” ฝืนลุยต้องรับผิดชอบ “วิรัตน์” ส่งตัวแทนยื่นเอกสารศาล ส.ส.-ส.ว.ร่วมแก้ รธน.ขัด ม.68
วันนี้ (30 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเมื่อเวลา 14.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง เข้ายื่นคำร้องนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เป็นโมฆะ ให้ตกไปทั้งหมด และวินิจฉัยให้การดำเนินการของผู้ถูกร้อง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และระหว่างการพิจารณาให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
น.ส.รสนากล่าวว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ได้ผ่านการพิจารณาวาระ 3 แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พูดไปในทางเดียวกันว่าจะต้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตนเห็นว่าตามกฎหมายแล้ว ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ จึงเห็นว่าเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาก็น่าที่จะชะลอการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็ควรจะชะลอการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลกล้าฯ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เคลื่อนไปสู่การเผชิญหน้ากัน
ขณะเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสุรจิต ชิรเวทย์ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกัน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีชะลอนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ โดยนายสมเจตน์กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกฯ ยืนยันว่าจะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) เราก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่มิบังควร เพราะร่างฯ กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การทูลเกล้าฯ จะกลายเป็นการผลักปัญหาไปให้สถาบัน เนื่องจากเชื่อว่าจากนั้นจะมีการโจมตีของมวลชนว่าเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลและสถาบันชะลอการโปรดเกล้าฯ ลงมา จึงไม่อยากให้นำสถาบันมาอยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งทางการเมือง
“เรื่องนี้ถือว่าเราช่วยนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาประธานสมศักดิ์มักพูดว่าอะไรที่เป็นเผือกร้อน ขอที่จะรับไว้เอง แต่คราวนี้กลับโยนเผือกร้อนให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ก็อ้างว่ามีเวลาแค่ 20 วัน หากไม่ปฏิบัติตามก็ขัดรัฐธรรมนูญ เราจึงต้องมาขอต่อศาลถ้ามีคำสั่งให้นายกฯ ชะลอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่ได้ถือว่านายกรัฐมนตรีทำอะไรผิด แต่ถ้านายกรัฐมนตรียังคงดึงดันนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ววันข้างหน้าเกิดปัญหา คนที่จะต้องรับผิดชอบคือนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ไม่ใช่ประธานสมศักดิ์” พล.อ.สมเจตน์
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.ปชป.ได้ส่งตัวแทนมายื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 310 ชุด ตามศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง กรณีขอให้นายนิคม ไวยรัชพานิช กับพวก 309 คน ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68