xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ร้องดีเอสไอเอาผิดตุลาการศาล รธน.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“ธาริต” รับเรื่อง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ร้องตุลาการศาล รธน.กรณีมีมติรับพิจารณาคดีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ของสภาผู้แทนราษฎร ผิดอาญา ม.116 และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 27 ก.ย.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีมติรับพิจารณาคดีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ของสภาผู้แทนราษฎร

นายธาริต กล่าวว่า จากเรื่องที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อดีเอสไอนั้น สรุปได้ว่าในอดีตศาลรัฐธรรมนูญโดยตุลาการรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยยกคำร้องในกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการยื่นญัตติแก้ไขคุณสมบัติวุฒิสมาชิก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวางบรรทัดฐานไว้แล้วว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ก้าวล่วง จึงไม่รับไว้ดำเนินการวินิจฉัย แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมาก 5 เสียง พลิกคำวินิจฉัยจากหลักเกณฑ์เดิมโดยรับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.และ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับพวก ในคดีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ของสภาผู้แทนฯ จึงมองว่าเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 104 วรรค 2 และ 3 ซึ่งไม่ใช่ความผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จึงมาร้องเรียนดีเอสไอให้รับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษนั้น ตนจะรับเรื่องเอาไว้ดำเนินการ และจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบพิจารณาใน 2 มิติ คือ 1.เบื้องต้นผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากไม่ผิดกฎหมายเรื่องก็จบไป 2.พบว่าผิดกฎหมายก็พิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่

ด้าน นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนมายื่นเรื่องร้องเรียนครั้งนี้ เนื่องจากการที่ไปดูข้อกฎหมายและคำวินิจฉัยแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เมื่อปี 2555 ไว้ชัดเจนว่าให้แก้เป็นรายมาตรา และเป็นอำนาจหน้าที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ แต่เมื่อ ส.ส.และ ส.ว.มายื่นเรื่องเป็น 3 ญัตติ โดยญัตติพิจารณาหลังสุด คือ การแก้ที่มาของ ส.ว.ดังกล่าว แต่กลับมีคำวินิจฉัยตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และยังขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 ซี่งตนเป็นผู้ร้องด้วยคนหนึ่ง กรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 โดยครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ว่าญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรที่จะรับวินิจฉัยไว้ได้ ทั้งนี้ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเห็นว่า กรณีนี้เป็นการขัดขวางการทำหน้าที่อธิปไตยในฝ่ายนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาที่จะโหวตกันในวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.นี้

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 122 ส.ส.และ ส.ว.มีอิสระในการทำหน้าที่ไม่อยู่ภายใต้อาณัติ และความครอบงำใดๆ รวมทั้งในมาตรา 130 ส.ส.และ ส.ว.ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภามีเอกสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนผู้ใดจะนำไปฟ้องร้องกล่าวหาในทางใดๆ มิได้

ดังนั้น จึงเป็นที่มาตนต้องเข้าร้องเรียนต่อดีเอสไอ โดยข้อกล่าวหาของความอาญามาตรา 116 และกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 104 วรรค 2 และวรรค 3 ว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาขัดขวางไม่ให้สมาชิกรัฐสภาไปลงคะแนนเสียงวาระ 3 ซึ่งมองว่าพฤติการณ์ผู้ร้องก่อให้เกิดความไม่สงบ และความเป็นธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าคำวินิจฉัยกลับไปกลับมา หรือไม่







กำลังโหลดความคิดเห็น