xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ส่ง “ปลอด” สำรวจน้ำท่วม เชื่อไม่ซ้ำรอยปี 54 กั๊กสร้างเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ส่ง “ปลอดประสพ” สำรวจน้ำท่วมร่วม ปภ.คาด “จารุพงศ์” มีข้อสรุปรับมือร่วม กทม.สั่งกองทัพช่วยชาวบ้านเต็มที่ รับบางจุดน้ำฝนมาก เชื่อสถานการณ์ต่างๆ ไม่ซ้ำรอยปี 54 ชี้กรุงขึ้นอยู่กับการระบาย กั๊กสร้างเขื่อนแม่วงก์ บอกต้องเอาผลมาหารือร่วมกัน เผยพร้อมแจงผลงานรัฐ


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 15.10 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ในขณะนี้ว่า ได้ติดตามและสั่งการเป็นระยะๆ อยู่ ตั้งแต่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.) ที่เราได้ประสานงานกับศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ ผวจ.ทุกจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมให้มีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าไปแล้ว ขณะเดียวกันได้ให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ลงสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมร่วมกับทางกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย และวันนี้น่าจะมีข้อสรุปจากทาง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ที่เรียกประชุม ผวจ.และผู้ว่าฯ กทม.เพื่อเตรียมความพร้อม และในส่วนของตนในฐานะ รมว.กลาโหม ได้สั่งการให้กองทัพที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยให้เข้ามาบูรณาการร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยการดูแลช่วยเหลือประชาชนวันนี้เราทำอย่างเต็มที่เรียกว่าดีกว่าที่ผ่านมา แต่บางพื้นที่ที่อาจจะมีปริมาณน้ำฝนมาก ซึ่งอาจจะมีอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตคงต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ในเรื่องกำลังคนต่างๆ คงต้องเร่งติดตามดู

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลว่าปัญหาจะซ้ำรอยรุนแรงน้ำท่วมเหมือนปี 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า สถานการณ์ปีนี้ต่างกับปี 54 เพราะปริมาณน้ำฝนโดยรวมเยอะมาก และไหลตั้งแต่พื้นที่ทางเหนือลงมามากจริงๆ แต่ปีนี้ต่างจากปีที่แล้วมีปริมาณน้ำจากพายุหรือมรสุมต่างๆ ลงมาใต้ท้ายเขื่อน ไม่ตกลงเหนือเขื่อนมากนัก ซึ่งจะกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างบางพื้นที่และอีสานบางส่วน ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในส่วนของการกักเก็บน้ำไว้ได้

เมื่อถามว่า น้ำจะท่วมมาถึง กทม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า เรียนว่าน้ำท่วมขังยังมีอยู่ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการระบาย ซึ่งเราคงต้องมีการสำรวจ อย่างปีที่ผ่านมาเราถึงมีการซ้อมเพื่อรับทราบสถานการณ์ต่างๆ ที่ 1 ปีผ่านไปสภาพคลองและน้ำใต้ท่อต่างๆถ้ามีการขุดลอกตลอดเวลาเชื่อว่า น่าจะไม่มีการท่วมขังนานนัก

ต่อข้อถามว่า กรณีที่มีกลุ่มออกมาคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะดำเนินการอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า เขื่อนแม่วงก์อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำเป็นส่วนหนึ่งที่เราลงไปทำการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน เรียนว่าตรงนี้เป็นจุดที่เราจะได้ถือโอกาสนี้รวบรวมความต้องการ และความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนที่มีผลกระทบมาหารือร่วมกัน อย่างที่เรียนว่าการที่เรามีสิ่งก่อสร้างมีความเจริญมีเขื่อนแน่นอนข้อดีคือกักเก็บน้ำไว้สามารถใช้เพื่อการชลประทาน ขณะเดียวกันแน่นอนมีสิ่งก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ที่ไม่เคยมี ก็อาจจะทำให้ธรรมชาตินั้นหายไป เราคงต้องมาประเมินในพื้นที่ว่าเราจะรับอันไหน ถ้ามีสิ่งเป็นธรรมชาติก็อาจจะทำให้เกิดความสวยงาม แต่แน่นอนผลกระทบความเสี่ยงที่เราได้ต้องรับในเรื่องอุทกภัยที่จะไหลลงมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใต้ท้ายเขื่อนลงไปคงต้องหารือกัน อยากให้ทางคณะกรรมการที่เราได้มีการว่าจ้างสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยลงไปสำรวจฟังข้อคิดเห็นทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเขื่อนแม่วงก์ และผู้ที่รับผลกระทบบริเวณใต้ที่จะได้รับถ้าเกิดกรณีที่ไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ต้องหารือกันถือว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องตัดสินใจร่วมกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก่อน

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า จากการรายงานของกรมชลประทานมีการศึกษาแล้ว แต่ยังมีประชาชนยังเรียกร้องให้การศึกษานั้นครอบคลุม ในส่วนนี้คงจะลงไปทำการรับฟังข้อคิดเห็นอยู่แล้ว และคงจะเอาข้อคิดเห็นส่วนเก่าและข้อเรียกร้องมาพูดคุยกัน

นายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ว่า จริงๆ แล้วเราได้มีการเตรียมการไว้ตั้งแต่ที่มีการเสนอเรื่องนี้ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอไปยังประธานรัฐสภา มีการเตรียมการอยู่แล้ว คงจะมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ต้องเตรียมการด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลงาน 1 ปี นายกฯคิดว่ารัฐบาลได้ทำงานตามที่วางไว้หมดหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ต้องเรียนว่างานที่เป็นไปตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภานั้นเราปฏิบัติตามในส่วนของนโยบายเร่งด่วน แต่ว่าอย่างที่เรียนว่าบางส่วนมีปัญหาอุปสรรคต่างๆแต่เราได้รายงานไปในผลการดำเนินงาน 1 ปีแล้ว คงจะได้ใช้โอกาสชี้แจงให้รัฐสภาทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น