xs
xsm
sm
md
lg

เหนือเสี่ยงแล้งหนัก ฝนน้อย-อ่างแห้งเกือบทุกพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ชลประทานฯ เผย อ่างเก็บน้ำหลายจังหวัดในภาคเหนือปริมาณน้ำสะสมน้อย ยกเว้นเชียงรายมีน้ำเก็บเต็มอ่าง ชี้ 2-3 เดือนจากนี้ฝนน้อย เสี่ยงแล้งหนัก

วันนี้ (28 ส.ค.) นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2 เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัด ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานลำปาง สำนักชลประทานที่ 2 หมู่ที่ 5 ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง เพื่อเร่งรัดผลการดำเนินงานในเขตรับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง พะเยา เชียงราย น่าน พร้อมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรค และติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญประจำสำนัก ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการโครงการ ผู้อำนวยการศูนย์ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป และเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 60 คนเข้าร่วม

โดยที่ประชุมได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่าปีนี้พื้นที่รับผิดชอบของสำนักชลประทานที่ 2 ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในอ่างเก็บน้ำน้อยมาก และขณะนี้ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ อยู่ในระดับปานกลางยกเว้นที่เชียงราย ที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 9.07% มีน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำเต็มความจุ

สำหรับลำปางปัจจุบันพบว่าเขื่อนกิ่วคอหมามีปริมาณน้ำ 79.99 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 46.98% และที่เขื่อนกิ่วลม 66.72 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62.81% ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 28 แห่งมีปริมาณน้ำสะสมเฉลี่ย 63.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.98% และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 10 แห่ง กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากมีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำแม่อาบ ต.นาป่ง อ.เถินมีน้ำสะสมเพียง 7.1% เท่านั้น

นายไชยงค์กล่าวว่า หากช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ปริมาณฝนยังน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เน้นให้ทุกอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อยเร่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ และขอให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบตามนโยบายอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

พร้อมกับให้แต่ละโครงการชลประทานเตรียมพร้อมเรื่องเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทั้งปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณการส่งน้ำในรอบการเพาะปลูกทั้งในฤดูแล้ง และฤดูฝน เพื่อนำมาบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กำลังโหลดความคิดเห็น