xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.การเงินฯ วุฒิฯ แฉประชานิยม “รัฐบาลปู” ก่อปัญหา ศก. สร้างภาระชาติ 5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทวัส บุญญสถิ่ตย์ (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมาธิการการเงินฯ วุฒิสภา เปิดผลรายงานการศึกษานโยบายประชานิยม “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สร้างภาระชาติ 5 แสนล้านบาท ระบุโครงการจำนำข้าวตัวปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่มี นายวิทวัส บุญญสถิ่ตย์ ส.ว.สรรหา เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้จัดทำรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ความห่วงใยนโยบายประชานิยม ต่อหนี้สาธารณะของประเทศ” และมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อรอพิจารณา

สำหรับสาระสำคัญของรายงานดังกล่าว เป็นการศึกษา และติดตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 โดยในรอบ 1 ปีแรกของการเข้ามาบริหารประเทศ สรุปได้ว่า การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5แสนล้านบาท ออก พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินที่ใช้ไปในโครงการประชานิยมต่างๆ ทำให้นโยบายการคลังของรัฐบาลเข้าสู่ทางตัน จึงต้องหันไปพึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่านโยบายการคลังใกล้หมดประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการประชานิยมที่มีเป้าหมายเน้นไปยังเพิ่มโอกาสให้คนจนเข้าถึงแหล่งทุน เช่น การพักชำระหนี้ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยใหแก่เกษตรกร เป็นเวลา 5-10 ปี การปรับโครงสร้างหนี้วงเงินเกิน 0.5-1ล้านบ้าน ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 ต่อปี หรือออกบัตรเครดิตชาวนา ทำให้มาตรการทางการคลังมีข้อจำกัด และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาค ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน และลดหนี้ภาคครัวเรือน ขณะที่นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน แม้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่มีผลเข้าไปแทรกแซงการประกอบธุรกิจของเอกชน ส่งผลให้มีการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูง และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว เพราะการเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทท ตามผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า จะทำผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงานจำนวนมาก มีกำไรลดลงร้อยละ 35 ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกว่าร้อยละ 98 ของผู้ประกบการทั้งหมดได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การใช้นโยบายประชานิยมได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เพราะระบบเลือกตั้งที่คำนึงถึงเฉพาะการได้มาซึ่ง ส.ส.จำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ แทนการคำนึงถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่จะทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบอบการเมืองการปกครองด้วย

ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วย โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ ช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ไทยไม่สามารถพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศได้ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจะใช้นโยบายประชานิยมต้องมีการวางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับ และต้องสนับสนุนการบริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วย คือ 1.ต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยและต้องกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนำร่องไปก่อน เช่น การใช้จ่ายเงินเพื่อระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างอนาคตของประเทศ ทำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐกับภาคเอกชน 2.นโยบายประชานิยมต้องรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และเศรษฐกิจ เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 ในแง่ดีถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แง่ลบคือ การลดความสำคัญของภาษีอากรที่เป็นเครื่องมือทางการคลังในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 3.การใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย 4.นโยบายประชานิยมต้องสนับสนุนการออมของประเทศเพื่อเป็นการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

กรรมาธิการฯ ยังได้สรุปนโยบายประชานิยมรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับภาระทางการคลัง ในรอบปีแรกของการบริหารราชการแผ่นดิน 1.ลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก มีผลตั้งแต่ 22 ก.ย.54-31 ธ.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท 2.คืนภาษีรถยนต์คันแรก มีผลตั้งแต่ 16 ก.ย.54-31 ธ.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 3 หมื่นล้านบาท 3.ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 4.ลดภาษีน้ำมันดีเซล มีผลตั้งแต่ 21 ส.ค.54-ก.ย.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 9,000 ล้านบาทต่อเดือน 5.ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างของทางราชการที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.55 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 และ 2.3 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556

6.แจกแท็บเล็ตฟรีให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค.2555 ทำให้เกิดภาระการคลัง จำนวน 1,600 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2555 และจำนวน 1,200 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2556 7.พักชำระหนี้เกษตรกร ที่มียอดเงินกู้ค้างชำระ 5 แสนบาท มีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.55-31ส.ค.58 โดยรัฐบาลใช้งบสนับสนุนปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ทางปฏิบัติรัฐบาลและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจะรับภาระ 50:50 แต่ในที่สุดคาดว่า รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินโดยลำพัง 8.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ช่วงทำโครงการ 7 ต.ค. 54-15 ก.ย.55 มีประมาณการค่าใช้จ่าย 3 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 ของจีดีพีในปี 2555 ทั้งนี้ จำนวนภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้นตามราคาข้าวที่รัฐบาลจะขายได้

9.การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ภาระทางการคลังภาคธุรกิจเอกชนเป็นผู้รับภาระโดยตรง 10.กองทุนพัฒนาสตรี เปิดรับสมัครตั้งแต่ 18 ก.ย.55 ภาระทางการคลัง อยู่ที่จังหวัดละ 100 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 7,700 ล้านบาท โดยรวมเป็นเงินที่ประเมินภาระทางการคลังได้ จำนวน 544,300 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น