xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” สุขภาพดี รับเป็นโรคดันทุรังสูง “ชวน” เครียดน้อย ชี้ไม่นำการเมืองเป็นปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา(แฟ้มภาพ)
ปธ.วุฒิฯ ร่วมตรวจสุขภาพโครงการสร้างพลังป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต พบสุขภาพเกณฑ์ดี แต่มีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัว เผยเข้าพรรษา-กินมังสวิรัติมา 28 ปี ความเครียดอยู่เกณฑ์ปกติ คุยเป็นโรคดันทุรังสูง ไม่เครียดนั่ง ปธ. ฟังเพลงคุมอารมณ์ ห่วงเพื่อนนักการเมืองเป็นความดันสูง ด้าน “ชวน” สุขภาพดี มีปัญหาสายตา เผยอยู่กับธรรมชาติดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่นำการเมืองมาเป็นปัญหา หาทางป้องกันโรคที่จะเกิด ตรวจความเครียดอยู่ในเกณฑ์น้อย

วันนี้ (20 ก.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้ร่วมกิจกรรมตรวจสุขภาพในงาน “โครงการสร้างพลังป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต” จัดโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)พบว่า สุขภาพอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ โดยนายนิคมกล่าวว่า ตนได้ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีด้วยการกินมังสวิรัติมาเป็นเวลา 28 ปีแล้ว ในทุกเทศกาลเข้าพรรษาจะไม่กินเนื้อสัตว์ และหลีกเลี่ยงการกินแป้ง หันมากินผักและผลไม้แทน ทั้งนี้ นายนิคมยังได้ร่วมประเมินภาวะความเครียดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งพบว่าความเครียดอยู่ในเกณฑ์ปกติ (28 คะแนน)

“วันนี้ถ้าผมจะเป็นโรคคงมีเพียงโรคเดียว คือ โรคดันทุรังสูง ซึ่งการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาก็ไม่ได้ทำให้ผมเครียด เพราะผมก็หันมาควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วยการฟังเพลงหมอลำ เพลงลุกทุ่ง แต่ผมเป็นห่วงสุขภาพของนักการเมืองท่านอื่นๆ เพราะมีความเสี่ยงมากในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันสูงได้ จึงอยากเชิญชวนนักการเมืองทุกคนให้หันมาออกกำลังกาย และรักษาสุขภาพไปด้วยกัน” นายนิคมกล่าว

ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกิจกรรมตรวจสุขภาพพบว่า สุขภาพแข็งแรงดี ความดันอยู่ในระดับปกติ แต่มีเพียงปัญหาเรื่องสายตาที่เพิ่งไปผ่าต้อกระจกมาเมื่อปีที่ผ่านมา โดยนายชวนระบุว่าตนได้ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการอยู่กับธรรมชาติ และพยายามออกกำลังกายให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างการเดิน หรือการชกลมเหมือนมวยไทย และจะไม่พยายามให้สถานการณ์การเมืองเข้ามาเป็นปัญหากับสุขภาพตัวเอง โดยพยายามหาเวลาเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้มากที่สุด และหมั่นจะขอความรู้จากแพทย์อยู่เสมอ ว่าโรคใดที่คนสูงอายุมักเป็นบ่อย เพื่อหาทางป้องกันหรือชะลอโรคนั้นๆ ให้เกิดช้าที่สุด

ทั้งนี้ นายชวนยังได้ร่วมประเมินภาวะความเครียดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพบว่าความเครียดอยู่ในระดับน้อย คือ 23 คะแนน


กำลังโหลดความคิดเห็น