xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระธาตุ กราบพระรอด “ลำพูน” อิ่มบุญในนครเก่าแก่แห่งล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เจ้าแม่จามเทวี มหากษัตรีย์แห่งเมืองหริภุญไชย
“ลำพูน” เป็นจังหวัดเล็กๆ ในภาคเหนือที่เงียบสงบจนบางคนคิดว่าเงียบเกินไปเสียด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะลำพูนอยู่ติดกับเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ จากตัวเมืองลำพูนไปเดินทางราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงเชียงใหม่แล้ว ความเจริญต่างๆ จึงไปอยู่ที่เชียงใหม่เสียเกือบหมด แต่นั่นก็ทำให้ลำพูนยังคงความเงียบสงบและสภาพของบ้านเมืองดั้งเดิมไว้ได้

และอีกหนึ่งความโดดเด่นของลำพูนก็คือความเป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดในจังหวัดล้านนา โดย “ตะลอนเที่ยว” มาลำพูนคราวนี้เพราะ นสพ.เดลินิวส์ ร่วมกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จัดทริปพิเศษ “ท่องล้านนา ตามรอยพระนางจามเทวี ณ จังหวัดลำพูน” พามารู้เรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดลำพูน ที่นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดของภาคเหนือแล้ว ยังเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนาฝังรากลึกตั้งแต่เริ่มสร้างเมืองทีเดียว ในลำพูนจึงเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่มากคุณค่าที่เราจะพาไปชมกันในวันนี้
กู่กุด วัดจามเทวี
แต่เดิมลำพูนมีชื่อว่า “นครหริภุญชัย” ตำนานเล่าว่าเมืองสร้างขึ้นใน พ.ศ.1200 โดยฤาษีวาสุเทพได้เกณฑ์พวกเมงคบุตรเชื้อสายมอญมาสร้างเมืองระหว่างแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง เมื่อสร้างเมืองเสร็จได้เชิญพระธิดาของกษัตริย์ละโว้ นามว่า “พระนางจามเทวี” มาปกครองเมือง

แม้จะเป็นสตรี แต่พระนางจามเทวีทรงเป็นทั้งปราชญ์ที่มีคุณธรรมและมีความสามารถ พระองค์ได้นำเอาพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาต่างๆ มาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน และเมืองหริภุญชัยมีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมา 47 พระองค์ (บ้างบอกว่า 49 พระองค์) รักษาเมืองมายาวนานถึง 618 ปี ก่อนจะเสียเมืองให้แก่พระยามังราย เจ้าเมืองเชียงใหม่พระองค์แรก
พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูน
ชาวลำพูนยกย่องพระนางจามเทวีเป็นอันมาก จึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระนางจามเทวีขึ้นที่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอกในเมืองลำพูนเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์ และในเมืองลำพูนก็ยังมี “วัดจามเทวี” วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กู่กุด” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี ตามตำนานเล่าว่า เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีทรงเป็นผู้สร้างขึ้น แต่เดิมองค์เจดีย์มียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ แต่ต่อมายอดเจดีย์หักหายไป องค์เจดีย์กู่กุดมีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปห้าชั้น แต่ละชั้นจะมีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัยรวม 60 องค์ นับเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย
 หอพระไตรปิฏกวัดพระธาตุหริภุญไชยอันงดงาม
แต่หากมาถึงเมืองลำพูนแล้ว ต้องไม่พลาดมากราบ “พระธาตุหริภุญชัย” พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูน และยังเป็นพระธาตุปีเกิดประจำปีระกาตามคติของชาวล้านนา พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นใน พ.ศ.1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์องค์หนึ่งของอาณาจักรหริภุญชัย องค์พระธาตุสีทองอร่ามตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุซึ่งบรรจุในโกศทองคำ องค์เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุเป็นประจำทุกปี

ส่วนภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธปฏิมา 3 องค์ และมีพระพุทธรูปโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนอีกหลายองค์ นอกจากนั้นบริเวณด้านข้างพระวิหารหลวงยังมีหอธรรม หรือหอพระไตรปิฏกที่สร้างขึ้นใน พ.ศ.2053 งดงามด้วยลายฉลุไม้ปิดทองล่องชาดประดับกระจก ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะ
พระรอด (องค์เล็กชั้นที่ 2) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน
และสำหรับคนที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่อง ต้องไม่พลาดมาที่ “วัดมหาวัน” ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่พระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธสิกขิ (พระศิลาดำ) พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวันขึ้นและประดิษฐานพระศิลาดำไว้ที่นี่ ต่อมาหริภุญชัยเกิดสงครามกับขุนลัวะวิลังขะ พระฤๅษีจึงใช้พระศิลาดำเป็นต้นแบบสร้างพระเครื่องแจกจ่ายชาวเมืองเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกศึก พระเครื่องส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดมหาวัน ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลง ชาวบ้านจึงนำพระเครื่องเหล่านี้ไปบูชาและพบอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ พระเครื่องเหล่านั้นได้ชื่อว่า “พระรอด” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 พระเบญจภาคีที่มีราคาแพงที่สุดองค์หนึ่ง
พระอุโบสถวัดมหาวัน
สำหรับ “ตะลอนเที่ยว” แม้จะไม่เชี่ยวชาญเรื่องพระเครื่อง แต่ก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้มากราบพระศิลาดำ หรือที่ชาวลำพูนเรียกท่านว่า “พระรอดหลวง” ต้นแบบของพระรอดที่หลายๆ คนเชื่อว่ามีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและคงกระพันชาตรี

ที่ “วัดสันป่ายางหลวง” เป็นอีกหนึ่งวัดงามในเมืองลำพูน เชื่อว่าแต่เดิมวัดนี้เคยเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานบนหินทรายจำหลัก ต่อมามีพระเถระจากพม่า 3 รูป เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแสดงธรรมจนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนเทวสถานเป็นวัดในพระพุทธศาสนา วัดนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกของดินแดนล้านนา เรียกชื่อว่า “วัดขอมลำโพง” เนื่องจากละแวกนั้นเป็นชุมชนชาวขอม
วิหารพระเขียวโขง วัดสันป่ายางหลวง
ประวัติวัดกล่าวว่า เมื่อพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัยในเวลาต่อมา พระองค์ได้ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ทั้งหมด และใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมตลอดอายุขัยของพระองค์ และเมื่อเสด็จสวรรคตก็ได้ถวายพระเพลิงพระองค์ที่วัดแห่งนี้ด้วย ปัจจุบันเรียกชื่อวัดว่า “วัดสันป่ายางหลวง” ตามสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยต้นยางขนาดใหญ่

วัดสันป่ายางหลวงในปัจจุบันถือเป็นวัดที่งดงามอีกวัดหนึ่งแห่งลำพูน ลายปูนปั้น งานแกะสลักประดับกระจกตามหน้าบันและภายในโบสถ์วิหารนั้นงดงามไม่แพ้ที่ใด ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปสำคัญคือ “พระเจ้าเขียวโขง” หรือพระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย ที่ทางวัดสันป่ายางหลวงร่วมกับคณะญาติโยมผู้ศรัทธาได้ร่วมกันสร้างขึ้นโดยใช้หินสีเขียวจากแม่น้ำโขง องค์พระมีขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเหนือองค์พระประธานในวิหารพระเจ้าเขียวโขง
เจดีย์วัดพระยืน
มาไหว้พระในเมืองลำพูนกันอีกสักหนึ่งวัด ที่ “วัดพระยืน” วัดเก่าแก่ซึ่งสันนิษฐานว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นในราว พ.ศ.1213 ชื่อของวัดพระยืนมาจากองค์พระพุทธรูปยืนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1606 ในสมัยพระเจ้าธรรมมิกราช (กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งหริภุญชัย) และต่อมาใน พ.ศ.1712 พระยากือนา ผู้ครองนครเชียงใหม่และลำพูน ได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 องค์

เจดีย์วัดพระยืน มีลักษณะโดดเด่นตรงที่เป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม องค์เจดีย์งดงามน่าชมยิ่งนัก

สำหรับการเที่ยววัดในตัวเมืองลำพูนนั้น วิธีที่สะดวกที่สุดก็คือการนั่งรถรางชมเมือง ที่จะมีทั้งคนขับรถพาชมและมีผู้บรรยายให้ฟังอีกต่างหาก โดยรถรางจะพาไปชมวัดต่างๆ ที่ “ตะลอนเที่ยว” กล่าวมาแล้ว และยังจะได้ชมสภาพบ้านเมืองลำพูนอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถไปขึ้นรถรางนำเที่ยวได้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย แต่ละวันจะมีรถนำเที่ยว 2 รอบ คือ 09.00 และ 13.00 น.
รูปปั้นของพระครูบาพรหมา ในวัดพระพุทธบาทตากผ้า
นอกจากจะได้ชมวัดงามๆ ในเมืองลำพูนแล้ว ทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ยังได้ออกไปนอกเมืองเพื่อชมวัดสำคัญอีก 2 แห่ง คือ วัดพระพุทธบาทตากผ้า และวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

สำหรับ “วัดพระพุทธบาทตากผ้า” ตั้งอยู่ใน อ.ป่าซาง มีครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก เป็นอดีตเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระครูบาที่ชาวลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก ท่านเป็นพระสายวิปัสสนากรรมฐานผู้มีจริยวัตรอันงดงาม มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด เมื่อท่านมรณภาพเมื่อปี 2527 หลังจากพระราชทานเพลิงเสร็จสิ้นแล้วปรากฏว่าอัฐิของครูบาได้กลายเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสี
รอยเท้าของครูบาพรหมาที่ประทับไว้ในพื้นหิน
บริเวณใกล้กับกุฏิที่ครูบาพรหมาเคยจำพรรษาภายในวัดแห่งนี้ มีรอยเท้าที่ประทับลงในพื้นหิน ผู้ที่ศรัทธาเชื่อว่าเป็นรอยเท้าของครูบาเจ้าที่อธิษฐานจิตเหยียบลงบนแท่นหินศิลาแลง แสดงถึงการสำเร็จอภิญญาแห่งพระอรหันต์ของท่าน

ส่วนชื่อของวัดพระพุทธบาทตากผ้า ก็มาจากตำนานการสร้างวัดที่เล่าว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จจาริกสั่งสอนมายังบริเวณแห่งนี้ และได้นำจีวรที่ซักระหว่างทางออกมาตากบริเวณหน้าผาหิน ปรากฏเป็นรอยตารางสี่เหลี่ยมคล้ายจีวรพระ และได้ทรงอธิษฐานจิตเหยียบพระบาทประดิษฐานเป็นรอยไว้บนลานผาลาดซึ่งเป็นที่ตั้งวัดในปัจจุบัน

ส่วน “วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม” ใน อ.ลี้ เป็นวัดเก่าแก่ที่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หรือครูบาวงศ์ได้บูรณะขึ้น พระครูบาท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นพระที่มีเมตตาและขันติธรรมสูงยิ่ง ท่านได้ออกธุดงค์สั่งสอนธรรมะให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ ที่ยังนับถือผีให้หันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านกลับมาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จึงมีชาวปกาเกอะญออพยพตามเข้ามาอาศัยอยู่เป็นชุมชนใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เพื่อจะได้ทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรมกับครูบา
เจดีย์ศรีเวียงชัย วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม
แม้ครูบาจะมรณภาพไปตั้งแต่ปี 2543 แต่ว่าทุกวันนี้ชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้มทุกคนก็ยังนับถือและยึดถือปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามที่ท่านสั่งสอนไว้ โดยชาวปกาเกอะญอในชุมชนส่วนใหญ่จะกินมังสวิรัติตามที่หลวงปู่ครูบาปฏิบัติและสั่งสอนว่าถ้ากินมังสวิรัติเราก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร

ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มนี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้เข้าไปกราบสังขารของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาที่ไม่เน่าเปื่อย เก็บรักษาไว้ในโลงแก้ว อีกทั้งยังได้ไปสักการะ “พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย” ที่ครูบาวงศ์ได้สร้างครอบทับสถานที่ที่เชื่อว่ามีมูลโคพระโพธิสัตว์ หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยที่เสวยชาติเป็นโค

ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในลำพูนที่คราวนี้ก็ยังเที่ยวกันได้ไม่หมด ถ้ามีโอกาสครั้งหน้า “ตะลอนเที่ยว” ไม่พลาดที่จะนำสิ่งที่น่าสนใจในลำพูนมาฝากกันอีกครั้ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดลำพูน ได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ (พื้นที่รับผิดชอบ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง) โทร.0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605 และสอบถามรายละเอียดเที่ยวบินไปยัง จ.เชียงใหม่ ได้ที่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส โทร. 1771 ตลอด 24 ชม. หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.bangkokair.com
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น