xs
xsm
sm
md
lg

เสียงข้างมากลากถูกู้ 2 ล้านล้านฉลุย “วราเทพ” ตะแบงไม่ขัด รธน.แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถกร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน เสียงส่วนใหญ่ลากผ่านมาตรา 4 แล้ว ปชป.จี้บรรจุรายละเอียดโครงการตีกรอบกันถลุงงบ ดันนายกฯ รักษาการณ์ตามกฎหมาย “วราเทพ” อ้างกฤษฎีกา ย้ำไม่ขัด รธน.เพราะไม่มีกฎหมายกำหนด แจงบรรจุโครงการเดินหน้าลำบากหากมีปัญหาต้องนำมาแก้ที่สภาฯ ไม่กล้าการันตีไม่มีทุจริตเพราะเป็นเรื่องอนาคต



วันนี้ (20 ก.ย.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วาระที่ 2 ในวันนี้ยังคงพิจารณาในมาตรา 3 ในส่วนของคำนิยาม ยุทธศาสตร์ แผนงาน หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเจ้าของโครงการตามแผนงาน โดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้แปรญัตติให้เติม “โครงการ” ลงไปในมาตรา 3 ด้วย เนื่องจากกรอบยุทธศาสตร์และแผนงาน ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.มี 3 หน้า เขียนไว้กว้างเป็นมหาสมุทร เอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการมีเป็นปึก ไม่มีสภาพตามกฎหมาย อีกทั้งการไม่เขียนโครงการลงไปให้ชัดเจน สิ่งที่เห็นในโครงการต่างๆ ว่า “จะสร้าง” จึงเหมือนเป็นการโกหก หลอกลวง ลวงตา สิ่งที่รัฐบาลพยายามโฆษณาชวนเชื่อผ่านว่าจะได้ รถไฟเร็วสูงตรงนั้น จะสร้างถนนตรงนี้ เอาเข้าจริงๆ จะเบี้ยวได้หมด

“แต่สิ่งที่ได้แน่ๆ คือ หนี้ 2 ล้านล้านบาท รวมหนี้เป็น 5 ล้านล้าน บาทเป็นหนี้ไปถึงลูกหลาน 50 ปี โดยไม่มีหลักประกันได้ว่ารัฐบาลจากนี้ไปต้องทำตามแผนจนแล้วเสร็จหรือไม่ เพราะสภาพบังคับมีเพียงกระดาษ 2 หน้าครึ่งและเปลี่ยนแปลงได้ โดยอำนาจรัฐมนตรี” นายสาทิตย์กล่าว และว่านอกจากนี้ยังมีความเห็นของนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่ชี้ว่ารัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่อขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดีด้วย

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ ชี้แจงว่า ข้อกังวลที่ห่วงว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทุจริตนั้น ตนก็ไม่นิ่งนอนใจ ได้สอบถามยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 12 และก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลเลือกส่ง พ.ร.บ.เงินกู้มาให้สภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบ ต่างจากที่ออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินไม่ว่าจะเป็นการทำในสมัยรัฐบาลใดก็ตาม ตรงนั้นไม่มีรายละเอียดหรือแผนงาน ส่วนที่ระบุว่าวงเงิน 2 ล้านล้านบาท มีเอกสารน้อยนั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่มีเอกสารพิจารณาในชั้น กมธ.40 กว่าชุด หมื่นกว่าหน้า ไม่ใช่ 2-3 หน้า อย่างที่ระบุ

นายวราเทพกล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ไม่นำเอกสารประกอบรายละเอียดโครงการบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ด้วยเพราะจะทำให้ลำบากในกรณีหากโครงการมีปัญหาทำไม่ได้ก็จะต้องนำกลับเข้ามาแก้ไขถ้อยคำในสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับการตรวจสอบนั้นหลังจากการดำเนินการก็ต้องนำโครงการกลับมารายงานต่อสภา ส่วนความเป็นห่วงเรื่องทุจริต คงตอบได้ยากเพราะฝ่ายบริหารในอนาคตต่อจากนี้ไปอีก 7 ปี จะทุจริตหรือไม่คงตอบยากเพราะรัฐมนตรีต่อไปอาจไม่ใช่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หรือจะเป็นสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองใหม่ ก็ไม่มีใครบอกได้ ส่วนกระบวนการตรวจสอบจะเข้มข้นแค่ไหน ทุจริตหรือไม่ มีกระบวนการตรวจสอบชัดเจน ไม่ใช่แค่สภาฯ อย่างเดียว ยังมีองค์กรอิสระอีกด้วย

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ในเรื่องความพร้อมของโครงการนั้นมีการศึกษารายละเอียดชัดเจน บางโครงการมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้เลย ในแผน 7 ปี ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แต่เป็นการอนุมัติกรอบ แต่ละโครงการจะผ่านหรือไม่ ต้องพิจารณาตามหน่วยงานตามมาตรา 14 พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ซึ่งจะต้องผ่านกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมพิจารณา และ ครม.อนุมัติขั้นสุดท้ายถึงจะดำเนินการได้

ขณะที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามร่างของกรรมาธิการด้วยมติ 282 ต่อ 98 เสียง

ส่วนในมาตรา 4 ระบุ ให้อำนาจกระทรวงการคลังรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ เสียงส่วนใหญ่ก็มติเห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ 289 ต่อ 103 เสียง แม้จะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. และนายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี ต่างเสนอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมรักษาการตาม พ.ร.บ.ร่วมกับ รมว.คลัง เพราะนายกฯ มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจพิจารณาโครงการต่างๆ เพราะโครงการตามร่าง พ.ร.บ.ครอบคลุมหลายกระทรวง

โดยในมาตรา 5 ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามรัฐบาลไทยเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามยุทธศาสตร์และแผนงาน ซึ่งมูลค่าการกู้ต้องไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท และให้ทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 31 ธ.ค.2563 ซึ่งสมาชิกหลายคนได้เสนอให้รัฐบาลต้องได้รับความเห็นจากรัฐสภาก่อน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแผนงานและวงเงินในการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพ.ร.บ.นี้

ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ แปรญัตติว่า การดำเนินการโครงการให้คำนึงถึงการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคตามความเป็นธรรมและให้คำนึงถึงสัดส่วนการเสียภาษีของประชาชนแต่ละภูมิภาคด้วย

ส่วนมาตรา 6 ที่บัญญัติให้เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 5ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ซึ่งต้องเป็นการใช้จ่าย เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพ.ร.บ.นี้เท่านั้น โดยส.ส.ฝ่ายค้านได้แปรญัตติให้นำเงินกู้และต้องส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลัง และให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุมาใช้บังคับการใช้จ่ายเงินกู้โดยอนุโลม

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากเปลี่ยนให้นำเงินเข้าคลังก็จะทำให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ169 ที่อนุญาตให้ใช้เงินผ่านกฎหมาย 4 ฉบับตามวินัยการเงินการคลังและเบิกจ่ายตามวิธีงบประมาณ ทำให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้ประเทศไทยเดินได้ เพราะหากยืนตามกรรมาธิการ เสียงข้างมากก็ต้องไปเจอที่ศาล รัฐธรรมนูญแน่นอน และทำให้ประเทศจะได้เข้าสู่ภาวะความเสี่ยง แต่หากแก้ไขตามแนวทางนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ยื่นเรื่องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญเรายื่นไมตรีให้ท่านแล้ว แล้วจะปฏิบัติตามหรือไม่

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงว่า หากฝ่ายค้านจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหา ทาง ตุลาการ 9 ท่านก็รออยู่ไม่เป็นไร ยิ่งยื่นเร็ว ก็พิจารณาเร็ว

ส่วนมาตรา 7 วงเงินกู้ การจัดการเงินกู้ และวิธีการเกี่ยวกับการกู้เงิน ในแต่ละปีงบประมาณ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ สมาชิกมีการเสนอให้รายงานต่อรัฐสภาในการกู้แต่ละครั้งถึงจำนวนเงินที่กู้และนำไปใช้ ขณะที่บางคนได้เสนอว่าให้นำเข้าสู่การพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่ควรให้เป็นไปตามวิธีการงบประมาณ รายจ่ายตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ ด้านนายนิพิฏฐ์ เสนอให้เพิ่มข้อความในกรณีที่หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นเกิน50 เปอร์เซนต์ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

จากนั้นที่ประชุมได้มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามที่กรรมาธิการแก้ไขเรียงลำดับตามมาตราอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายเพียงเล็กน้อย

จนมาถึงมาตรา 10 การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.สางกทม. พรรคเพื่อไทย ได้แปรญัตติว่า ในกรณีที่หนี้เงินกู้ซึ่งจะทำการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวนมาก และกระทรวงการคลังเห็นว่าไม่สมควรกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวในคราวเดียวกัน กระทรวงการคลังอาจทยอยกู้เงินเป็นการล่วงหน้าได้ไม่เกิน18 เดือนก่อนวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระ

“หลายคนบอกว่าการกู้ครั้งนี้ใช้เวลาใช้หนีนานถึง 50 ปี ผมคิดว่าสบายๆ เพราะขนาดผมไปกู้ซื้อบ้านแค่2 ล้านบาท ยังผ่อนถึง 20 ปี ดังนั้นเงินตั้ง 2 ล้านล้านบาท ผ่อนแค่ 50 ปีไม่น่ากลัวอะไร ผมจึงขอสนับสนุน ขอให้เพื่อนๆรูดปรึ๊ดๆผ่านไปให้หมดทั้ง 18 มาตราเลย”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร เสนอแปรญัตติในหมวด2 การเสนอ และการบริหารจัดการโครงการ ในมาตรา 14 ว่า เมื่อครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นำเสนอภา และวุฒิสภา พิจารณา เพื่อนอนุมัติโครงการและวงเงินกู้ที่เหมาะสม ทั้งนี้ให้สภา และวุฒิสภา พิจารณาให้เสร็จภายใน60 วัน ในสมัยประชุมสภานับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว เพื่อจะได้ดูว่าที่ตกลงไปจ้างที่ปรึกษาสามหมื่นล้านบาทสมควรหรือไม่ เป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลต้องการเลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่

ส่วนมาตรา 15 เมื่อ เมื่อครม.มีมติอนุมัติให้มีการดำเนินโครงการและจัดสรรเงินกู้เพื่อการดำเนินโครงการแล้ว ให้บริหารจัดการโครงการและจัดสรรเงินกู้ตามวงเงินที่อนุมัติไป ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ครม.กำหนด ตนเสนอให้ตัดข้อความ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ครม.กำหนดออกไป แล้วใส่ ข้อความว่า ... โดยนำระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ2535 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แทนให้เพราะ เรามีบทเรียนกรณีเงินกู้น้ำท่วม ที่เกิดความล่าช้า และเกิดปัญหาทางกฎหมายเพราะครม.ตัดสินใจไม่ทำตามระเบียบพัสดุ แม้จะอ้างว่าระเบียบก็ยังมีข้อยกเว้น แต่ก็มีคณะกรรมการคอยดูแล โดยประธานกรรมการไม่ใช่ฝ่ายการเมือง แต่หากออกไปในลักษณะนี้จะทำให้ครม.อ้างได้ว่าสภาให้อำนาจ เพราะพวกตนไม่เต็มใจให้อำนาจครม.ไปกำหนดเรื่องนี้ แต่หากครม.อยากจะยกเว้นระเบียบก็ขอให้เดินตามระเบียบพัสดุปัจจุบัน อย่ามาอ้างอำนาจที่ผู้แทนมอบให้ว่าทำอะไรก็ได้

ส่วนมาตรา 16 ถ้าแผนงานใดมีเงินเหลือจ่ายให้นำเข้าสู่คลังเพื่อนำไปใช้ชำระหนี้ต่อไป ถ้าที่สุดไม่ต้องใช้ถึง 2ล้านล้านบาท ก็ไม่ควรกู้ทั้งหมด การไปโรดโชว์ของรัฐบาลมีแต่จะพูดถึงเรื่องเงินว่าต้องได้มา 2 ล้านล้านบาท เท่านั้นแต่ไม่พูดถึงเนื้องานในโครงการเลย สนใจแต่ว่าต้องมีเงินใช่2 ล้านล้านบาท ตนจึงต้องการให้บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายเลยว่าเงินที่เหลือต้องนำมาใช้หนี้ เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะเล่นแร่แปรธาตุเอาเงินไปใช้เรื่องอื่นได้อีก

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรฯ รองประธานกมธฯ กล่าวว่า ทั้งหมดมุ่งความสำเร็จของงานไม่ได้หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ เพราะมิเช่นนั้นไม่เสนอเป็นพ.ร.บ. และยืนยันเป็นโครงการตามหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอเข้ามาตามความจำเป็นของประเทศ ส่วนที่ต้องการให้เขียนกฎหมายโดยระบุว่าต้องใช้วิธีประมูลระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ 2535 จากที่ดูกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา ไม่เคยเขียนกำหนดไว้ อีกทั้งยังไงพ.รบ.ดังกล่าว ก็ต้องใช้ระเบียบพัสดุเป็นตัวกำหนดอยู่แล้ว และบางโครงการก็มีข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบพัสดุเพื่อให้โครงการเดินไปได้

ส่วนที่ต้องการให้โครงการต้องกลับมา ขอความเห็นชอบของสภาฯ ตนคิดว่าเพราะเมื่อพ.ร.บ.ผ่านสภาฯไปแล้ว และหากต้องหากนำกลับเข้ามาสภาฯอีกจะเกิดความซ้ำซ้อน ของหลักการแบ่งแยกอำนาจ และสภาฯก็สามารถตรวจสอบได้ในรูปแบบอื่นๆ และยืนยันว่าโครงการไม่สามารถโยกข้ามแผน และทำเอาเงินไปทำนอกเหนือแผนยุทธศาสตร์ตามบัญชีแนบท้ายได้ ส่วนเงินกู้ที่เหลือจากงบ 2 ล้านล้านบาท ก็ไม่สามารถทำโครงการอื่นๆ จะต้องส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป เพื่อปฏิบัติตามวิธีการงบประมาณ



















กำลังโหลดความคิดเห็น