ประธานสภาที่ปรึกษาประชาธิปัตย์ จี้ประธานรัฐสภา ตระหนักถึงความอิสระจากพรรค โอดพรรคเป็นจำเลยเหตุชาวบ้านไม่ได้ดูต้นเหตุถูกกดดันก่อน แต่ยันไม่ยอมเป็นเด็กดีเพื่อรักษาภาพลักษณ์ เผยมีพวกแอบต้านรัฐพอสมควร ไล่ถามตัวเองทำหน้าที่ดีพอหรือยัง
วันนี้ (11 ก.ย.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในรัฐสภาบ่อยครั้งว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่ความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม ในอดีตไม่ว่าพรรคการเมืองไหน เลือกคนมาเป็นประธานรัฐสภาก็จะปล่อยให้ทำหน้าที่ได้โดยอิสระ เพราะคนเป็นประธานรัฐสภาต้องตระหนักตัวเองว่า ต้องวางตัวเป็นกลางโดยไม่ต้องมีใครมาสั่งได้ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ กลายเป็นว่าต้องรอคำสั่งให้ทำอะไร อย่างไร จึงหมดความเป็นอิสระ ทำให้การตีความข้อบังคับตามเงื่อนไขที่ตัวเองต้องการ ไม่ได้เป็นไปตามหลัก เช่น การจำกัดสิทธิของผู้ที่แปรญัตติในสมัยก่อนไม่ค่อยมี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า สภาแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะประธานไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ แต่อยู่ในเงื่อนไขที่พรรคหรือผู้มีอำนาจสั่งมา ทำให้บทบาทของประธานรัฐสภาไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งในการประชุมรัฐสภา เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่มาจากเงื่อนไขการทำหน้าที่ของคนเป็นประธาน เมื่อมีการจำกัดสิทธิ อีกฝ่ายก็ต้องสู้เพื่อให้ได้สิทธิของตนในการทำหน้าที่แทนประชาชน การพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญฝ่ายหนึ่งไม่รับ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อีกฝ่ายจะแปรญัตติทุกคน จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณา
นายชวน กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นจำเลย เพราะประชาชนไม่ได้เห็น หรือฟังการประชุมต่อเนื่อง เขาเห็นเฉพาะช่วงที่มีปัญหา เช่น ที่มีการทุ่มเก้าอี้ แต่ไม่ได้ติดตามว่า ถูกกดดันอย่างไร ทั้งการถูกตัดสิทธิไม่ให้พูดทั้งที่สงวนคำแปรญัตติ และอีกหลายอย่างจนทำให้เกิดอารมณ์ ทั้งนี้ตนได้เตือนเพื่อนสมาชิกร่วมพรรคให้อดทน และยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประชาชนเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ผิดว่าเป็นตัวป่วนของสภา
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้สามารถทำงานในรัฐสภาเต็มที่โดยไม่สูญเสียภาพลักษณ์ของพรรค นายชวน กล่าวว่า ก็ต้องสยบยอมเขา ซึ่งไม่ใช่วิถีของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าจะรักษาภาพลักษณ์ ก็ต้องยอมเขา กลายเป็นเด็กดี แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการอย่างนั้น
“คนที่เป็นเด็กดีเขาต้องสั่งได้ แต่ประชาธิปัตย์คือกลุ่มหนึ่งที่เขายังคุมไม่ได้ในบ้านเมืองนี้ หรือแม้แต่สื่อมวลชนเองก็ถูกเขาควบคุมไปมากแล้ว หรือสิ่งที่พรรคกำลังต่อสู้อยู่จะทำให้พรรคตกเป็นเป้าในการถูกโจมตีก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนรู้ถึงสถานการณ์ว่า มีต้นเหตุอย่างไรเช่น ชาวสวนยางพาราเดือดร้อน แต่ ส.ส.กลับละเลยไม่สนใจ แม้จะมีการชุมนุมประท้วงก็ไม่มีใครไปดูแล คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าทำอย่างนั้นต้องถูกตำหนิ ดังนั้นคนที่เป็นผู้แทนฯ ต้องตระหนักภาระหน้าที่ของตัวเอง ทั้งนี้ยังมีกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำที่ไม่ถูกต้องอยู่พอสมควร เพียงแต่ไม่กล้าแสดงออกเพราะเป็นนักธุรกิจ เกรงว่าจะเป็นอันตราย เนื่องจากเขาบอกกับตนว่า ไม่กล้าที่จะให้สัมภาษณ์ เพราะเมื่อสัมภาษณ์เสร็จ สรรพากรก็จะไปตรวจบริษัท ทำให้เกิดความหวาดกลัวจึงต้องรักษาผลประโยชน์ของตน เช่น ภาคเอกชนที่ประกาศชัดเจนว่าจะต่อต้านการคอรัปชั่น แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรมากไปกว่าการประกาศ ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฏีหรือความรู้ หรือไม่รู้ แต่เป็นเพราะปฏิบัติไม่ได้จริง เพราะคนกล้ามีอยู่น้อย” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า สำหรับการจะยับยั้งการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง จึงต้องยึดพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้ไว้เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.เมื่อ 3-4 ปีก่อนที่ว่า ให้ทุกคนกลับไปทบทวนว่ามีหน้าที่ทำอะไร แล้วทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่เรียกร้องให้คนอื่นทำ แต่ตัวเองไม่ทำ เหมือนที่เราได้ยินผู้ใหญ่พูดว่าการโกงไม่ดี แต่ตัวเองกลับโกง หรือพูดถึงประชาธิปไตยสวยหรู แต่มาจากการซื้อเสียง โกงการเลือกตั้ง ดังนั้นทุกคนต้องถามตัวเองว่า ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองดีพอหรือยัง