xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.จ่อนำยางพาราลาดถ.ยะลา-เบตงนำร่อง เห็นชอบผลิตถังแก๊สอิ่มอุ่นป้องกันใช้ทำบึ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลาโหมแถลงผลไฟใต้รับยังมีเหตุแต่น้อยลง ศอ.บต.เผยจ่อนำยางพาราใช้ลาดถนนนำร่อง ยะลา-เบตง พร้อมนำสร้างสนามฟุตซอลแก้ราคาตก ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ - เห็นชอบทำถังแก๊สอิ่มอุ่ม ผลิตจากใยแก้วผสมเรซิน แทนถังเหล็ก ใช้ป้องกันบึ้มชายแดนใต้

วันนี้ (6 ก.ย.) ที่ห้องสุรศักดิ์มนตรี กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 13.30 น.พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยพล.ต.สุรชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ในสัปดาห์นี้ยังมีเหตุระเบิด ลอบยิงในพื้นที่เกิดขึ้น และสร้างความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนแต่สถิติการก่อเหตุจำนวนครั้งลดน้อยลงและระดับความรุนแรงลดลง ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังมุ่งมั่นการปฏิบัติภารกิจเพื่อดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลยังมอบให้บริษัทการบินไทยจัดเครื่องบินสนับสนุนการเดินทางของคนไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีพล.ต.อ.ประชา พหรมนอก รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม เดินทางไปส่ง

นายสมเกียรติ อ้นทอง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.สนผ.ศอ.บต.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวว่า ทางศอ.บต.โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯ ศอ.บต. ได้เชิญส่วนราชการมาประชุม เช่น กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการ และผังเมือง กรมวิชาการเกษตร กรมการทหารช่าง นายอำเภอ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อหาแนวทางในการนำยางพารามาทำถนน เบื้องต้นทางอำเภอได้มีการสำรวจถนนนชำรุดโดยเน้นเส้นทางที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง 1 อำเภอ 1 สายทาง รวม 37 สายทาง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สนับสนุนให้กรมการทหารช่างเข้ามาดูแล ตรวจสอบ ซึ่งจากการวิจัยสามารถนำยางพาราในระดับ 5 เปอร์เซ็นต์มาผสมกับยางมะตอย โดยผลที่ได้มีความคงทน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานแต่มีข้อเสียอยู่ที่ต้นทุนสูงกว่าถนนลาดยางปกติ 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ โดยจะนำร่องที่ถนนสาย 410 ยะลา-เบตง นอกจากนี้ทางศอ.บต.ยังมีแนวคิดที่จะนำยางพารามาทำเป็นสนามฟุตซอล ต่อไป

ด้านนายจารุพันธ์ จารโยภาพ ผู้อำนวยการส่วนอุตสาหรรมและพัฒนาเครื่องเรือน กล่าวว่า เราพยายามส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพาราหรือธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหาคือ ขณะนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีขาดความเชื่อมั่นจึงต้องเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวไม่ได้สนับสนุนให้ชาวสวนตัดโค่นต้นยาง เพื่อแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ แต่เนื่องจากไม้ยางพารามีอายุในการใช้งาน 20-25 ปี หลังจากนั้นน้ำยางจะลดปริมาณลง ทางศอ.บต.จึงเล็งเห็นแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยาง คือ การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราในจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ต.สุรชาติ กล่าวอีกว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เห็นชอบการจัดทำโครงการนำร่องการจัดทำถังแก๊สอิ่มอุ่นที่ทำจากวัสดุคอมโพสิต (ใยแก้วผสมเรซิน) นำมาใช้งานแทนถังแก๊สเหล็ก โดยบริษัทพีเอพีแก๊ส แอนด์ออยล์ จำกัด เพื่อนำไปใช้ในชุมชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดโอกาสและปัจจัยเสี่ยงต่อจากการนำถังบรรจุแก๊สแบบเหล็กมาดัดแปลงเป็นระเบิดรูปแบบต่างๆ ซึ่งกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโนทัยได้ดำเนินการทดสอบและประเมินผลใน 3 ลักษณะคือ 1.ทดสอบโดยการยิงด้วยกระสุนปืน ชนิดและขนาดต่างๆ ทั้งถังเปล่าและถังบรรจุแก๊ส ผลการทดสอบสามารถยิงทะลุทั้ง2 ชนิดได้ 2.ทดสอบโดยการระเบิดด้วยแท่งดินระเบิด ขนาด 1 ¼ ตอน ผลการทดสอบสามารถทำให้เกิดการระเบิดได้เช่นเดียวกับถังบรรจุแก๊สแบบเหล็กแต่มีส่วนที่คงรูปเหลือมากกว่า และรัศมีการกระจายเล็กน้อย 3.ทดสอบโดยการบรรจุวัตถุระเบิดชนิดแสวงเครื่อง เอเอ็นเอฟโอ น้ำหนัก 25 กม. ผลการทดสอบเมื่อทำการจุดระเบิดภายในสามารถเกิดการระเบิดได้เช่นเดียวกันกับถังบรรจุแก๊สแบบเหล็ก แต่สะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นขนาดชิ้นที่เล็ก มีมวลเบา ไม่สามารถกระเด็นได้ไกล ไม่เป็นอันตรายเหมือนถังบรรจุที่เป็นเหล็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น