xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า แนะแก้ รธน.ทำรัฐสวัสดิการ เพิ่มอำนาจ ปชช. “เดโช” แฉมีพวกอยากได้ ปธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.พระปกเกล้า สัมมนาเปิดทางเลือกปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ผอ.สำนักวิจัยฯ ชี้ชาวไทยไม่มั่นใจการเมือง แต่ยังเชื่อมั่นสถาบันหลัก หนุนพัฒนาการศึกษา-จิตใจ ระบุคนชอบดูทีวีแต่ไม่ฟังข้อมูลอื่น แถมไร้เงินออม ความมั่นคง ศก.แย่ แนะถ้าแก้ต้องหลายจุด ทำรัฐสวัสดิการ สร้างอำนาจประชาชน เลี่ยงพึ่งรัฐ รับคนไว้ใจลด “เดโช” แฉมีพวกอยากเปลี่ยนชาติใช้ระบอบ ปธน. “พรชัย” ชี้โครงสร้างรัฐสภาเป็นปัญหา

วันนี้ (6 ก.ย.) สถาบันพระปกเกล้าได้จัดการสัมมนา “เปิดทางเลือก..ปฎิรูปรัฐธรรมนูญ” เพื่อนำเสนอเอกสารทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่สาธารณชน นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถานำ “สภาพปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน : ศึกษาในมิติคุณภาพสังคมและทางออก” ระบุถึงสภาพปัญหาสังคมไทยในปัจจุบันว่า ประชากรไทย ไม่มั่นใจการเมืองในประเทศ และไม่ไว้ใจคนอื่น โดยเฉพาะในปี 2549 มีความไม่ไว้ใจถึงร้อยละ 53.8 แต่ก็ยังมีความเชื่อมั่นสถาบันหลักของประเทศ การพัฒนาคนในประเทศ ต้องมีการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะการศึกษา ที่จะยกระดับชีวิตตนเองได้ และรัฐบาลต้องเป็นตัวหลักสำคัญในการผลักดัน รวมไปถึงการพัฒนาจิตใจด้วย

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า จากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่จะดูแต่ทีวีถึงร้อยละ 80 โดยไม่รับฟังข้อมูลจากคนอื่น ขณะที่ปัจจุบันความมั่นคงทางเศรษฐกิจแย่ลง คนไทยไม่มีเงินออม ทั้งนี้ เห็นว่าหากจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องแก้ไขหลายจุด เพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยการมองบนพื้นฐานมิติคุณภาพสังคม ต้องมีหลักการ และสภาวะการสังคม รวมถึงมีแนวคิดบนหลักความเท่าเทียมกัน และยอมรับความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติ ดังนั้นแนวทางการพัฒนา มี 3 ด้านหลัก คือ รัฐสวัสดิการ การสร้างอำนาจพลังของประชาชน และหลีกเลี่ยงการพึ่งพารัฐ

นางถวิลวดียังกล่าวถึงเหตุที่ต้องปฎิรูปรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันการเมืองคิดแบบแยกส่วน เพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม อยากให้นักการเมืองมองสังคมไทยในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม โดยยึดมติ 4 ประการ คือ ความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งเรื่องนี้ ด้วยนโยบายสังคม และเศรษฐกิจต่างๆ การยอมรับสมาชิกในสังคม ที่พบว่าคนไทยมีความรู้สึกถูกแบ่งแยกและสภาพภาพเป็นสำคัญ มากว่าประเด็นอื่น ซึ่งหมายถึงความแตกต่างทางฐานะ ทางเศรษฐกิจ สังคมที่มาจากฐานะการเงิน อาชีพที่มั่นคง

“ความเอื้ออาทรความสมานฉันท์ในสังคม พบว่าสังคมไทยยังมีความเปราะบางทางด้านความสามัคคี เพราะการลดลงของความไว้วางใจกัน รวมถึงความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันการเมือง รวมทั้งการเสริมสร้างอำนาจหรือพลังทางสังคม เพื่อให้สมาชิกในสังคมสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ เปิดโอกาสที่มีมากขึ้น การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้รับการยืนยัน และนำมาปฏิบัติมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เมื่อพบว่าการเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น ยังไม่เท่าเทียมกันและบางคนยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธินั้นได้” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้ากล่าว

ด้านนายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291 บังคับไว้ว่า 2 เรื่องที่แก้ไขไม่ได้ คือ รูปแบบของประเทศ จะต้องเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ และรูปแบบการปกครองต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศไทย พร้อมกันนี้ ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างระบบรัฐสภา และระบบประธานาธิบดี ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย มีความพยายามที่จะนำไปสู่ระบบประธานาธิบดี แต่คนไทยรับไม่ได้เพราะจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยกับเด็กในทางที่ดี ไม่ใช่ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเลวร้าย ไม่มีคุณธรรม ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองและประชาธิปไตยจะไปไม่รอด เพราะฉะนั้นอย่าเเช่แข็งประชาธิปไตย และขอให้เชื่อมั่นในประชาชน

ส่วนนายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า โครงสร้างเป็นปัญหาของระบบรัฐสภา โดยดูจากการเลือกตั้งที่เราไม่ได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นการเลือกคนจากที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก


กำลังโหลดความคิดเห็น