xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์แก้ยกฟ้อง “รังสรรค์ แสงสุข” อดีตอธิการ ม.รามฯ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง “รังสรรค์ แสงสุข” อดีตอธิการบดี ม.รามฯ และพวก สอบวินัยอาจารย์ลอกเลียนผลงานทางวิชาการ เลื่อนตำแหน่ง ชี้ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์

ที่ห้องพิจารณาคดี 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (3 ก.ย.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2389/2548 ที่ ร.ต.ท.จรัญ ธานีรัตน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นโจทก์ฟ้องนายรังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับคณาจารย์ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายเฉลิมพล ศรีหงส์ อดีตรองอธิการบดี, นางระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์, นายวิรัตน์ แดนราช รองอธิการบดี, นายประสาท สง่าศรี รองอธิการบดี, นายประชา ประยูรพัฒน์ ผอ.กองการกีฬา, นางทิพาพัน ศรีวัฒนศิริกุล หัวหน้างานบุคคล, นายวิริยะ เกตุมาโร รองอธิการบดี, นายวัฒน์ บุญกอบ รองอธิการบดี, นายบุเรง ธนพันธุ์ รองอธิการบดี, นางกัลยา ตัณศิริ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เป็นจำเลยที่ 1-11 ตามลำดับในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เดิมโจทก์เป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำวิจัยและยื่นผลงานวิจัยกับเอกสารทางวิชาการ เสนอคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.)ระดับ 6 โจทก์ได้เสนอเอกสารดังกล่าวผ่านจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ให้เสนอต่อไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอธิการบดี การพิจารณาดังกล่าวต้องมีการพิจารณากลั่นกรองผลงานของโจทก์ ซึ่งมีพวกจำเลยเป็นกรรมการกลั่นกรอง ต่อมามีผู้กล่าวหาว่าโจทก์ลอกเลียนผลงานทางวิชาการจากบุคคลอื่น จากนั้นได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ 4 เป็นประธานสอบข้อเท็จจริง จำเลยที่ 5, 6, 7 เป็นกรรมการ สรุปการสอบสวนว่าการกระทำของโจทก์ผิดวินัย จึงมีการตั้งจำเลยที่ 8 เป็นกรรมการสอบวินัย และมีจำเลยที่ 9, 10, 11 ร่วมเป็นกรรมการสอบสวน ต่อมากรรมการมีมติให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 3-11 เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์และเอาใจจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์มติดังกล่าวจากอนุกรรมการ ซึ่งก็เห็นว่าโจทก์มิได้กระทำผิด โจทก์นำมติดังกล่าวไปแจ้งคณะกรรมการชุดใหญ่ กลับเพิกเฉยไม่นำเรื่องเสนอโจทก์กลับเข้ารับราชการทำให้โจทก์เสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 55 ว่า แม้โจทก์จะถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนผลงานทางวิชาการ แต่ก็ได้อ้างอิงแหล่งที่มาไว้ท้ายเล่ม ถือว่าไม่มีเจตนาปกปิด การกระทำของจำเลยที่ 1, 3 และ 5 เป็นการเลือกปฏิบัติ ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 2 หมื่นบาท ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 1 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท แต่จำเลยเป็นคณาจารย์เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีมาก่อน จึงไม่สมควรจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 2, 4, 6, 7, 8, 9, 10, 11 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1, 3, 5 ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ประชุมหารือตรวจสำนวนกันแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1-2 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 4-7 เป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์นำเสนอผลงานวิชาการ ซึ่งโจทก์ได้นำเสนองานวิชาการด้านกีฬาฮอกกี้ มวยสากล และเซปักตะกร้อที่ไม่ใช่เฉพาะนำเสนอแค่กฎระเบียบกติกาของกีฬาประเภทนั้นแล้ว แต่ยังนำเสนอรูปภาพและรายละเอียดอื่นๆ โดยไม่ระบุแหล่งที่มา ซึ่งตามระเบียบต้องให้มีการระบุที่มาไว้ในเชิงอรรถและบรรณานุกรม โดยการตรวจสอบพบว่าโจทก์ได้ระบุแหล่งที่มาไว้เพียงแค่ในบรรณานุกรม การที่จำเลยที่ 4-7 เห็นว่าไม่มีการระบุไว้ในเชิงอรรถด้วยตามระเบียบ และได้สรุปกรณีของโจทก์กระทั่งจำเลยที่ 1 ได้ใช้อำนาจในการแต่งตั้งจำเลยที่ 3 และ 7-11 เป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2507 มาตรา 5 กฎทบวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2519) และพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 22 แล้ว โดยไม่ใช่กรณีที่มีการกลั่นแกล้งตามที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เคยเป็นผู้สนับสนุนบุคคลที่จะสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นคู่แข่งกับจำเลยเมื่อปี 2546 และกรณีที่โจทก์ได้ร่วมให้มีการลงชื่อถวายฎีกาคัดค้านการดำรงตำแหน่งของจำเลย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าผู้ที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกาในครั้งนั้นยังคงดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจใดๆ ดำเนินการกับบุคคลเหล่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 2-11 ได้รับตำแหน่งใดๆ นั้น เป็นการได้มาจากการตอบแทนของจำเลยที่ 1 ที่กลั่นแกล้งสอบสวนโจทก์

พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังว่าจำเลยที่ 1-11 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามที่โจทก์ฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1, 3 และ 5 ด้วย ส่วนอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลัง นายรังสรรค์กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษไว้ 3 คน แต่วันนี้ศาลอุทธรณ์ได้กรุณายกฟ้องอีก 3 คนดังกล่าว ซึ่งพวกตนปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบของคณะกรรมการสอบวินัย โดยมีผู้ร่วมพิจารณาทั้งหมด 50 คน และตนได้เซ็นตามมติของคณะกรรมการในฐานะประธานฯ เชื่อว่าเรื่องที่ตนถูกฟ้องร้องนั้นมีผู้กลั่นแกล้ง เพราะว่าตนเป็นคู่แข่งสมัยที่ลงเลือกตั้งอธิการบดีในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ไปร้องเรียนว่าตนปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกด้วย ซึ่งตนอยากทราบว่าทาง ป.ป.ช.จะฟ้องตนเมื่อไหร่ และสงสัยว่าคดีขาดอายุความจะฟ้องได้อย่างไร อีกทั้งไม่มีการตั้งข้อหากับตนเองแล้วจะชี้มูลความผิดได้อย่างไร ตนเชื่อมั่นในกระบวนการศาลยุติธรรม แต่ไม่เชื่อในพวกที่ใช้อำนาจอยุติธรรม ขอให้จับตาดูคดีระหว่าง ป.ป.ช.กับตนให้ดี ซึ่งตนได้ฟ้องร้อง ป.ป.ช.2 คดี

“ฝากบอกประชาชนว่า ป.ป.ช.ไม่มีใครตรวจสอบเลย จะเป็นมหันตภัยแก่บ้านเมือง เรื่องทุจริตคิดมิชอบนั้นเป็นเรื่องเลวทราม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือ ป.ป.ช.หรือ ข้าราชการที่ไปทำผิดคิดร้ายต่อบ้านเมือง ก็ถือเป็นเรื่องเลวทราม และที่ ป.ป.ช.บอกว่าจะฟ้องผม ผมไม่ได้ท้า แต่อยากรู้ว่าเมื่อไหร่จะฟ้อง และคดีขาดอายุความจะฟ้องได้อย่างไร” นายรังสรรค์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น