รายงานการเมือง
ผ้าโพกหัวหญิงชราวัยเกิน 60 ตัวอักษรสีเขียวบนผืนผ้าสีขาวเขียนไว้สั้นๆ ว่า “กูมาเรื่องราคายาง ไม่ใช่เรื่องการเมือง” กับแววตามุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ตามอัตลักษณ์ของ “คนใต้” สะท้อนความ “ยากไร้” ที่ทำให้ต้องลุกฮือขึ้นมาเพื่อขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล
หลังจากที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เคยนำพาต่อปัญหานี้ เนื่องจากไพล่ไปคิดว่า “เป็นม็อบการเมือง” และเกษตรกรที่เดือดร้อนไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย จึงไม่อนาทรร้อนใจที่ชาวสวนยางรายได้หด 1 ใน 3 ข้าวปลาแทบไม่พอยาไส้
ทั้งที่ความจริงในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางมีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ใช้วิธีแบ่งแยกเพื่อปกครอง เดินเกมใต้ดินโยนเงินใส่แกนนำในหลายพื้นที่ จนทำให้พลังของเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศ ถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อโดดเดี่ยว “เกษตรกรสวนยางพาราภาคใต้” ให้ต่อสู้เพียงลำพัง พร้อมคำป้ายสีจากภาครัฐที่โหมระดมเข้าใส่ผ่านสื่อมวลชนที่ไร้สำนึก
ทั้งการเต้าข่าวว่าม็อบที่ชะอวดมีอาวุธสงคราม สำมะเลเทเมา ทะเลาะกันในวงเหล้า ไปจนถึงข่มขืนหญิงสาว จากชาวบ้านธรรมดาถูกสร้างภาพให้กลายเป็นโจรผู้ร้ายในสายตาคนเมือง
เพียงเพราะว่าเงินทองเขาหมด ปากท้องอดจนต้องออกมา
แทนที่รัฐบาลจะปกครองด้วยความเมตตาเอาใจใส่ แต่สองปีที่ผ่านมากับการยื่นเรื่องร้องทุกข์นับครั้งไม่ถ้วนเปรียบเสมือน “โยนหินลงแม่น้ำ”
มีการอนุมัติเงิน 15,000 ล้านบาท มาช่วยพยุงราคา แต่ก็กำหนดกฎเกณฑ์เปิดช่องทุจริต เอื้อนายทุนเงินแผ่นดินไม่ถึงเกษตรกรสวนยางพาราอย่างแท้จริง เกิดการโกงเวียนเทียนยางไม่ต่างอะไรจากการจำนำข้าว เห็นท่าไม่ดีก็ “เผา ผมรับผิดชอบเอง”
งบประมาณสูญเปล่าไปกับความอหังการ์ของ “อำมาตย์เต้น” คนนครศรีธรรมราช แต่ดูเหมือนว่าถ้ายางหัวไม่ตกคงจำกำพืดตัวเองไม่ได้ เพราะแม้แต่คำมั่นสัญญาอย่างยโสโอหังว่าจะทำให้ราคายางพาราขึ้นถึง 120 บาท สุดท้ายเหลวเละยิ่งกว่าโจ๊ก แถมยังลอยหน้าลอยตาตอแหลกลางสภาอย่างไม่ละอายว่า “ตัวเองไม่เคยพูด แต่ที่พูดเป็นมติ ครม.”
ยิ่งฟ้องว่ารัฐบาลทั้งคณะจะต้องรับผิดชอบการพยุงราคายางพาราที่ 120 บาท หากว่าเป็นมติ ครม.ตามที่ “อำมาตย์เต้น” กล่าวอ้างจริง แต่อนิจจาดูเหมือนว่าในยุคแห่งความเสื่อมทรามที่ กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมนี้จะทำให้ผู้ปกครองขาดสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชนโดยสิ้นเชิง
เป็นความอำมหิตของผู้ปกครองที่กดดันชาวใต้จนถึงขีดสุด กระทั่งคำว่า “ไม่รบนาย ไม่หายจน” ซึ่งหายไปหลายสิบปีกลับมาตะโกนก้องอีกครั้งที่ “ชะอวด” และก็บังเอิญว่าคำประกาศดังกล่าวเป็นของชาวบ้านแถบเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อสตูล-สงขลา-พัทลุง-ตรัง-นครศรีธรรมราช เหมือนกงล้อประวัติศาสตร์กำลังหมุนมาทับรอยเดิม
ต่างกันเพียงแต่ในอดีตชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ แต่วันนี้ “ไม่รบนาย ไม่หายจน” คือคำขวัญที่ถูกชูขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผูกขาดประชาธิปไตยไว้กับคนเสื้อแดง และดูเหมือนว่าชนวนที่ถูกจุดขึ้นด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงตั้งแต่ต้น เพราะต้องการเชือดไก่ให้ลิงดู กลายเป็นการสร้างปรากฏการณ์โต้กลับแบบ “กูไม่กลัวมึง” ขึ้นมาแทนที
จากที่มีชาวบ้านชุมนุมในตอนแรกราว 50 คนเพิ่มเป็นหลักพันในเวลาอันรวดเร็ว หลังเกิดการหลั่งเลือดจากการชุมนุมครั้งนี้ ในขณะที่แกนนำ 15 คนถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย บทบาทของตำรวจแข็งกร้าวเห็นประชาชนเป็นศัตรู ส่วนพ่อเมืองสีแดงก็แว้งกัดไม่เลิก จนถูกกดดันแทบจะหยัดยืนบนแผ่นดินนครศรีธรรมราชต่อไปไม่ได้
ยิ่งลักษณ์ โชว์โง่ว่าช่วยยางพาราไม่ได้เพราะเราปลูกน้อย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยส่งออกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีเพียง 3 ประเทศที่ผลิตยางได้คือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หากมีการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้ เหมือนยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เคยทำ จนทำให้ราคายางพาราที่เคยตกต่ำทะยานขึ้นถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม และวันนี้ก็ถูกยิ่งลักษณ์ กระชากลงมาเหลือแค่ 60-70 บาท คือต้องขายสองโลถึงจะได้ 120 บาท ตามที่ “อำมาตย์เต้น” คุยโว
แถมรัฐชั่วยังใส่ร้ายประชาชนว่าเป็นกลุ่มจัดตั้งจากนักการเมืองเพื่อล้มรัฐบาล ถึงขนาด สุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขานายกฯ ฝ่ายการเมืองที่ถูกส่งไปเจรจา จนวิ่งหนีหางจุกตูดกลับกรุงเทพฯ แทบไม่ทัน ยังเอาหญ้าไปป้อนในทีวีเสื้อแดงว่า “การชุมนุมเป็นพวกจัดตั้้ง แม้รัฐบาลจะให้ 200 บาทต่อกิโลกรัมการชุมนุมก็ไม่ยุติ เพราะมีเจตนาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์”
ทั้งๆ ที่สิ่งที่ชาวสวนยางพาราต้องการมีเพียงแค่ให้ซื้อยางพาราแผ่นดินในราคา 92 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วรัฐจะใช้งบเพื่ออุดหนุนเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศราว 20,000 ล้านบาท
น้อยกว่างบสำหรับรถคันแรกที่ทะลุไปถึง 90,000 ล้านบาท และยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาทำลายกำลังซื้อภายในประเทศจนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่ในขณะนี้
น้อยกว่าเงินกู้ 5 แสนเพื่อนำมารับจำนำข้าว 15,000 บาท ภายใต้ต้นทุนที่ 8,000 บาท เท่ากับรัฐเอาภาษีคนทั้งประเทศไปเพิ่มกำไรให้ชาวนาเกือบ 100% แค่คิดในแง่เศรษฐกิจก็ไม่เป็นธรรมกับคนในชาติแล้ว ยังไม่นับรวมการทุจริตทุกขั้นตอนจนปัจจุบันใช้เงินเกิน 7 แสนล้าน ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้าน ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งออกมติครม.อนุมัตเงิน 2.7 แสนล้านบาทรับจำนำข้าว
ในวันเดียวกัน ครม.ยิ่งลักษณ์ ไม่พิจารณาข้อเสนอของชาวสวนยางพารา หักดิบด้วยการบังคับให้รับปุ๋ยโดยอ้างว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต แทนที่จะอุดหนุนตรงให้เกษตรกรซึ่งจะทำให้ไร้ช่องโหว่ในการทุจริต แต่กลับเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่สามารถซิกแซกแดกได้ เพราะชาวสวนยางพาราเขาเข็ดหลาบกับ “ปุ๋ยปลอม” มาหลายหนแล้ว
นางสาวยิ่งลักษณ์ มักพูดเสมอเวลาถูกถามถึงความคุ้มค่าในการรับจำนำข้าวที่ส่งผลกระทบต่อสถานะการคลังของประเทศและหนี้สาธารณะด้วยถ้อยคำออดอ้อนว่า “ให้ชาวนาเถอะค่ะ” แล้วทำไม 2 หมื่นล้านที่ไม่ใช่เงินของตระกูลชินแต่เป็นภาษีอากรของราษฎรจึง “ให้ชาวสวนยางพาราไม่ได้”
การกระจายตัวชุมนุมในหลายพื้นที่ของเกษตรกรสวนยางพารา อาจยังดูเหมือนว่าไร้เอกภาพ ต่างคนต่างเดิน แต่เมื่อถูกไล่จนหลังชนฝา เชื่อได้เลยว่าเมื่อนั้นเลือดคนใต้จะไหลรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้รัฐอธรรมอย่างถึงที่สุด
เพื่อไทยอาจเคยวางยุทธศาสตร์แดงทั้งแผ่นดินไว้อย่างได้ผล ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้ข้อมูลเท็จ สร้างความเกลียดชัง แต่ความเดือดร้อนที่ไร้สีในวันนี้ทำให้ “จนทั้งแผ่นดิน” กำลังจะส่งผลให้ “ยิ่งลักษณ์” สิ้นอำนาจเร็วขึ้น
ใครจะไปเชิ่่อว่าชาวบ้านหันไปพึ่ง “เอียด เส้งเอียด” น้องชาย “เจิม เส้งเอียด” จอมโจรไข่หมูกผู้โด่งดัง จับคนรวยมาเรียกค่าไถ่แล้วนำเงินที่ได้บางส่วนไปแจกคนจน ประวัติอันโชกโชนของ “เอียด” เพียงพอที่จะทำให้ภาครัฐเกรงขาม ติดคุกตั้งแต่วัยหนุ่ม เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ 7 ปี
ไม่ใช่เพราะอุดมการณฺ์การเมือง แต่ต้องการจับปืนล้างแค้นให้พี่ชาย ก่อนเข้ามอบตัวกับกองทัพภาค 4 และพลิกผันกลับมาเป็นโจรเรียกค่าไถ่อีกครั้้ง ถูกตำรวจไล่ล่าจับยัดคุก ก่อนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ทดแทนคุณแผ่นดินด้วยการปกป้องผืนป่าแห่งเทือกเขาบรรทัด
อดีตโจรกลับใจ ได้เข้าร่วมกับชาวสวนยางพาราที่ชะอวด เป็นแกนกลางประสานรัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็นมวยถูกคู่ เพราะจะปราบรัฐบาลโจร ก็ต้องใช้อดีตโจรเป็นคนโค่นลง