รายงานการเมือง
เข้าสู่โค้งอันตราย!! สำหรับการชุมนุมของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ทั้งที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ถึงวันดีเดย์ชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายนกันแล้ว
ดูกันตามสภาพการณ์การชุมนุมใหญ่ในวันดังกล่าวน่าจะได้หวาดเสียวกันพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อหันไปดูท่าทีของ นายเอียด เส้งเอียด แกนกลางประสานงานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน ที่ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ได้อย่างดุดันว่า พร้อมยกระดับการชุมนุมในทันที และไม่ขอรับประกันว่าจะเกิดความรุนแรงหรือเหตุการณ์นองเลือดขึ้นหรือไม่
หากรัฐบาลยังไม่ทำตามข้อเสนอ และยังไม่หยุดการคุกคามทุกรูปแบบ!!
ขณะที่การเคลื่อนไหวในจุดต่างๆ ก็ดูเหมือนจะเอื้อต่อพลังในการชุมนุมให้พลานุภาพสูงยิ่งขึ้น เมื่อองคาพยพต่างๆ ล้วนไฟเขียวให้บรรดาสมาชิกออกมาร่วมเคลื่อนไหวได้ ไล่เรียงตั้งแต่สมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ออกมาแถลงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบเกษตรกรชาวสวนยาง
หรือในส่วนของ นายมนูญ อุปลา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรชาวสวนยาง อ.เวียงสร และแกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี ที่จะร่วมผสมโรงชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน ที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดสงขลาประกาศเตรียมพร้อมนำชาวสวนยางใน จ.สงขลา เข้าร่วมชุมนุมของเครือข่ายชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ที่โคออป
ด้าน จ.ตรัง นายศักดิ์สฤษดิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำเครือข่ายชาวสวนยางรายย่อย ก็เดินคู่ขนานเปิดเวทีบริเวณอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ พร้อมทั้งเตรียมตัวเคลื่อนขบวนมาปิดล้อมศาลากลางจังหวัดตรัง เพื่อไม่ให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ หากรัฐบาลไม่ยอมเจรจาหรือตกลงรับซื้อยางพารา 100 บาทต่อกิโลกรัม
รวมถึงในรายของ นายยงยศ แก้วเขียว ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้คัดค้านการชุมนุม แต่กลับลำแบบ 360 องศาออกมาหนุนการชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช แบบเต็มสูบ หลังหมดกำลังที่จะเจรจากับผู้ชุมนุม
โดยรวมสถานการณ์ภาคใต้ในวันที่ 3 กันยายนนี้น่าห่วงสุดๆ
ว่ากันตามแนวทางแกนนำที่ลั่นฆ้องเตรียมยกระดับ แน่นอนว่า 3 กันยายนนี้ ผู้ชุมนุมน่าจะไม่ปักหลักอยู่แค่ที่บริเวณแยกควนนางหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศีธรรมราช หรือริมทางรถไฟบ้านตูล เฉยๆ หรือทำแค่เพียงเกณฑ์คนมาร่วมชุมนุมให้ปริมาณมากกว่าเก่า
เพราะถ้ายังยึดหลักแบบนั้น ฝั่งภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องขยับเขยื้อนอะไร เพราะถือว่าผู้ชุมนุมยังอยู่ในกรอบที่สามารถประคับประคองเหตุการณ์ได้ สถานการณ์ความเดือดร้อนอื่นๆ ยังแค่ทรงตัว ไม่ได้ขยายใหญ่
ดังนั้น สิ่งที่น่าจับตาดูมากที่สุดคือ หากแกนนำใช้ยุทธวิธีดาวกระจายไปตามจุดต่างๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพิ่มขึ้น หรือหนักขั้นถึงขั้นปิดจุดต่างๆ เพิ่ม ตัวนี้จะเป็นปัจจัยชี้ขาด เพราะหากเป็นเช่นนั้นความเดือดร้อนจะยิ่งกระจายตัว และบี้ให้ภาครัฐต้องขยับทำอะไรสักอย่าง
หากออกมาในลักษณะนั้นสถานการณ์ในวันที่ 3 กันยายน มันจะยิ่งเร้าสู่การเผชิญหน้าเร็วขึ้น และบางทีอาจเข้าตีนรัฐบาลที่จ้องตาเขม็งเกลียวอยู่แล้ว
เพราะหากดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาล มองดูแล้วก็น่าจะไม่ยอมถอยให้มากกว่านี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ เหมือนจะหยุดลงที่การหารือรอบแรกคือ ช่วยเรื่องปัจจัยด้านการผลิต ที่อย่างน้อยก็ทำให้สามารถสกัดการชุมนุมตามภาคต่างๆ อย่างภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญไปได้แล้ว ซึ่งหากจะมีก็น่าจะเป็นการชุมนุมที่ปละปลาย ไม่น่าลุกลามขยายใหญ่ได้
ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่อาจจะยกพลมาประชิดเมืองกรุงนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็ประเมินแล้วว่าพอจะรับมือได้
หลักใหญ่ใจความตอนนี้ พุ่งเป้าไปที่ภาคใต้เต็มๆ!!
ตามคิว พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง แย้มไต๋ออกมาแล้วว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาเป็นสิบวัน ถนนหนทางสัญจรไม่ได้ อย่างไรก็ต้องมีมาตรการออกมา แต่ไม่น่าจะถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะยังมีกลไกอย่างอื่นจัดการได้
ตามสภาพอ่านใจภาครัฐตอนนี้ มองไม่เห็นหนทางอื่น นอกจากการสลายการชุมนุม เพราะหากดูท่าทีรัฐบาลในช่วงที่ผ่านๆมา พยายามประโคมข่าวความเดือดร้อนต่างๆ ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไปมา การขนส่งสินค้า การส่งออกยาง
ดูแล้วเหมือนสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองก่อน!!
แต่จะรุกคืบเลยก็ดูจะลุแก่อำนาจ อาจจะเหลือบมองสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 3 กันยายนนี้ก่อน ซึ่งหากมีการลุกลามขยายใหญ่ไปจุดต่างๆ ก็อาจจะเข้าตีนรัฐบาลที่อาจอ้างความชอบธรรมสลายการชุมนุมทันที
หากเป็นอย่างนั้น รับรองได้เสียวแน่!!
เพราะการสลายการชุมนุมยิ่งจะไปปลุกกระตุกอารมณ์ม็อบที่กำลังกรุ่นๆอยู่ช่วงนี้ หลังโดนภาครัฐคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งแผลจากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม วันแรกของการชุมนุมที่ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช และ พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครศรีธรรมราช ที่ฉวยจังหวะที่ผู้ชุมนุมมากันน้อยเพียง 300-400 คนในวันแรก ระดมกำลังตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และ 9 จำนวนกว่า 3,000 นาย หวังตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อเอาใจรัฐบาล และสร้างผลงานเอาหน้า
โดยปรากฏภาพของนายวิโรจน์ และ พล.ต.ต.รณพงษ์ อยู่บนรถขยายเสียงสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมด้วย สุดท้ายทั้งคู่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนออกจากจุดเกิดเหตุ
ทั้งที่ในความเป็นจริงข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่มาปักหลักชุมนุมที่บริเวณแยกควนนางหงส์นั้น ต้องการให้รัฐบาลประกันราคาขายยางที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม ถือไม่ได้มากจากราคาตลาดที่ 74-76 บาทต่อกิโลกรัม
แต่ภาครัฐกลับไม่พิจารณาข้อเรียกร้องของชาวบ้านเลย เลือกใช้มาตรการรุนแรงหวังปรามม็อบให้อยู่หมัด ทำให้เห็นว่าทางการไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น พอเห็นชาวบ้านมากันน้อยก็งัดไม้แข็ง ปิดประตูตีแมว
เมื่อชาวบ้านเห็นว่า ภาครัฐไม่จริงใจ การเจรจารอบแล้วรอบเล่าจึงไม่สำเร็จ และก็เป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้มีการประกันราคายางที่ 101-120 บาทต่อกิโลกรัม
ต้องบอกว่างงานนี้ทั้ง ผู้ว่าฯ และผู้การฯ เมืองคอนพลาดมหันต์ เพราะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม แทนที่ชาวบ้านหวากกลัวตามความตั้งใจ กลับเป็นการจุดกระแสให้ผู้ชุมนุมขยายกว้างขึ้น เมื่อเห็นว่าชาวสวนยางที่ออกมาชุมนุมโดยสงบ ถูกภาครัฐเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรม
หรือกับกรณีล่าสุดที่การ์ดผู้ชุมนุมชาวสวนยางถูกลอบยิงเสียชีวิต เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเร่งสรุปว่า เป็นความขัดแย้งส่วนตัว ชนิดใช้เวลาไม่ถึงวันก็รู้ผล
แถมที่ผ่านๆ มาก็ป้ายสี หรือใช้วิชามารสารพัดวิธีโจมตีผู้ชุมนุมจนหลายคนอัดอั้นเต็มแก่ ไม่ว่าจะเป็นโหมกระแสให้คนอื่นเห็นว่า เป็นม็อบที่สร้างความเดือดร้อนกับส่วนรวม การใส่ร้ายว่าเป็นเกษตรกรตัวปลอมมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
เรียกว่า สารพัดวิธีที่จะยัดเยียดได้ทำหมด!!
ตามสภาพแค้นเป็นทุน ฉากเผชิญหน้า เสียเลือดเสียเนื้อ มีให้ลุ้นทั้งวันใน 3 กันยายนนี้ ยิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รู้ทันเล่นตีกรรเชียงหนีม็อบไปประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทำให้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในดินแดนด้ามขวานวันที่ 3 กันยายนนี้