xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.ที่มาวุฒิฯ เดินต่อ! โอเค 57 สมาชิกจ้อ ปชป.ยำรวบรัด หวังทันหมดวาระ ฟื้นสภาผัวเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มเดินหน้าแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ต่อหลังวิป 3 ฝ่าย โอเค 57 สมาชิกอภิปรายได้ แต่ถ้าขัดหลักการก็ให้ประธานพิจารณา “เทพไท” ได้ฤกษ์จ้อซัดสุดรวบรัด หวังให้ทันพวกเลือกตั้งหมดวาระ “ธนา” ชูบทเรียนสภาผัวเมีย “ประเสริฐ” ชี้กินรวบประเทศ “อิสระ” ยันไม่มีชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องวุฒิสภา

วันนี้ (21 ส.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของวุฒิสภา ในวาระ 2 โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งเป็นการพิจารณามาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้ แต่ปรากฏว่าที่ประชุมต้องเสียเวลาร่วม 3 ชั่วโมง เนื่องจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน ยังคงมีการประท้วงการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ และเรียกร้องให้อนุญาตให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 57 คนที่ถูกตัดสิทธิอภิปรายเพราะเสนอคำแปรญัตติแก้ไขถ้อยคำที่ขัดกับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีสิทธิอภิปรายในรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภายังยืนยันว่ารัฐสภามีมติไปแล้วว่าผู้เสนอคำแปรญัตติที่ขัดกับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถอภิปรายในสภา ดังนั้น ต้องเดินหน้าตามระเบียบวาระการประชุม

ต่อมาเมื่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา ได้เสนอญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติทบทวนการลงมติที่ตัดสิทธิการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา 57 คน แต่ แต่นายนิคมอ้างว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดไว้ว่าในระหว่างที่รัฐสภากำลังพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะเสนอญัตติขึ้นมาไม่ได้ ซึ่งตนอยากให้สมาชิกรัฐสภา 57 คนได้อภิปรายเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการเสนอคำแปรญัตติที่ถูกตีความว่าขัดกับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอความร่วมมือขอให้อภิปรายคนละไม่เกิน 5 นาที

นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้สมาชิก 57 คนอภิปรายได้แต่หากสมาชิกคนไหนอภิปรายโดยมีเนื้อหาที่ขัดกับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ขอให้ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรจะให้อภิปรายต่อไปได้หรือไม่

หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะให้สมาชิก 57 คนได้สิทธิในการอภิปราย จากนั้น การประชุมเริ่มเข้าสู่การพิจารณามาตรา 2 ที่บัญญัติเกี่ยวกับ การกำหนดวันบังคับใช้กฏหมาย โดย สมาชิกส่วนใหญ่ที่สงวนคำแปรญัตติต่างไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ว. ทั้งชุด โดยเพราะเกรงว่าจะส่งผลลบมากกว่าได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการรวบอำนาจทางการเมืองของเสียงข้างมาก

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเป็นคนแรก โดยเสนอแก้ไขให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ไม่ใช่ให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องการสนองความต้องการของฝ่ายที่อยากแก้รัฐธรรมนูญอย่างรวบรัด

“กระบวนการพิจารณารัฐธรรมนูญขณะนี้มีความต้องการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว จะเห็นได้ตั้งแต่การเสนอรวบรัดการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านไม่ให้อภิปรายครบทุกคนตั้งแต่วาระที่ 1 ดังนั้น การแก้ไขที่มาของสว.ก็เพื่อต้องการให้ส.ว.เลือกตั้งปัจจุบันที่จะหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค.2557 สามารถลงสมัคร ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันเวลา ทั้งที่เวลานี้มีหลายเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการมากกว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ หรือการแถลงผลงานของรัฐบาล” นายเทพไทกล่าว

นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอให้ตัดมาตรา 2 ทั้งมาตรา เพราะต้องการให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง เพราะจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ และที่สำคัญการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้หยุดแค่นี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการแสดงเจตจำนงว่าไม่พอใจการทำงานขององค์กรอิสระ ตนไม่ได้คัดค้านการให้ประชาชนได้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. แต่ ส.ว.มีอำนาจหน้าที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และการถอดถอนบุคคลระดับสูง เช่นประธานศาลฎีกา ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีบทเรียนมาแล้วจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ให้ ส.ว.มาจาการเลือกตั้งหมดจนส่งผลให้ต้องพึ่งพิงกับอำนาจทางการเมืองจนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ

“การแก้รัฐธรรมนูญในส่วนนี้จะต้องมีหลักประกันให้สังคมและประชาชนเกิดความมั่นใจว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำหน้าทีได้อย่างอิสระและเป็นกลาง เนื่องจากการได้มีการแก้ไขให้ผู้สมัคร ส.ว.สามารถหาเสียงได้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่สามารถหลักเลี่ยงการอิงแอบพรรคการเมืองและการรับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนไปได้” นายธนากล่าว

นายประเสริฐ พงศ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดออกทั้งมาตรา เพราะไม่มีความจำเป็น การชี้ขาดความยุติธรรมจะโอนเอียงไป ทำให้กลไกการตรวจสอบมีเรื่องขัดกันในผลประโยชน์ เช่นหากรัฐบาลต้องการให้คนตนเองไปนั่งในองค์กรอิสระ หรืออยากให้ถอดถอนคนในองค์กรนั้นๆ รัฐบาล และ ส.ว.สามารถสั่งได้ สุดท้ายประเทศชาติต้องล่มจมแน่นอน อย่างนี้เรียกว่ากินรวบ ทุกคนต้องคิดถึงประโยชน์สาธารณะและประชาชน อย่าคิดว่าเป็นเพียงฝูงชนขนาดใหญ่เพื่อให้ใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งเท่านั้น

นายอิสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดออกหมดเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ ไม่มีใครเดือดร้อนเรื่อง ส.ว. แต่เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไปทำแต่เรื่องที่ประชาชนไม่ต้องการ และเนื้อหาที่ขอแก้ไข ก็เหมือนเอาร่างปี 40 กลับมาใช้อีกครั้ง ทำให้กลับไปสู่สภาครอบครัว ขณะที่ภาพลักษณ์ของ ส.ว.ก็มีข้อกล่าวว่าไปรับเงินเดือนจากฝ่ายการเมือง ทำให้ความเป็นกลางไม่เกิดขึ้น หน้าที่หลักคือกลั่นกรองกฎหมาย ถอดถอนองค์กรอิสระ ปี 50 ที่ใช้ จึงเขียนไว้ให้แยก ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภท คือจากเลือกตั้งและสรรหา โดยให้เว้นวรรค1 เทอม ตนรับไม่ได้ในร่างนี้โดยเฉพาะประธานวุฒิสภา ที่สัมภาษณ์ว่ากฎหมายนี้ต้องผ่านเพื่อให้พวกตนเองมาสมัครกัน

หลังจากอภิปรายอย่างกว้างขวางของสมาชิกรัฐสภา ในมาตรา 2 ประธานที่ประชุมได้ขอลงมติเมื่อเวลา 16.35 น. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามร่างกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนนเสียง 349 ไม่เห็นด้วย 157











กำลังโหลดความคิดเห็น