xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้รัฐติดกับดักทำงบประมาณสมดุลแบบจอมปลอม ชี้เศรษฐกิจกำลังถดถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
ส.ว.สรรหา ชี้รัฐบาลพึ่งแต่เงินกู้หวังสร้าง “ความสมดุลแบบจอมปลอม” อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลดติดต่อกัน 2 ไตรมาส แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย แนะควรนำการลงทุนของภาครัฐเข้ามาไว้ในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี “อนุรักษ์” จี้เร่งทำงบประมาณให้สมดุลโดยเร็ว หวั่นประเทศต้องมีภาระหนี้มากขึ้น

วันนี้ (2 ก.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวอภิปรายว่า ตนไม่คิดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2557 จะสามารถตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เพราะรัฐบาลกำลังติดกับดัก คือการทำงบประมาณสมดุลแบบจอมปลอม มุ่งแต่จะใช้เงินกู้นอกงบประมาณ และกับดักในการทำนโยบายประชานิยม ในขณะนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลดติดต่อกัน 2 ไตรมาส คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย สถานการณ์ที่ผ่านมาหุ้นตกต่อเนื่องกัน ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 32 ภายในระยะเวลา 1 เดือน อัตราทางเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีช่วงไตรมาสที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็เป็นเพราะนโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก ไม่ได้มีผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

นายคำนูณกล่าวต่อว่า นโยบายรถคันแรกกำลังทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศไปอีกอย่างน้อย 2 ปี เนื่องจากจำนวนคน 1 ล้านคน 1 ล้านครอบครัวที่ไปซื้อรถจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้หมดกำลังซื้อสิ่งของอื่นๆ ลดไปอย่างมาก เพราะทันทีที่ซื้อรถมาแล้ว ค่าจิปาถะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ และอีกมากมาย จึงทำให้ประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนในระบบน้อยลงไปอีก 1 ล้านครอบครัว สิ่งนี้คือหลุมดำใหญ่ อย่างที่กูรูทางเศรษฐกิจของชาวต่างชาติพูดเอาไว้ และถือเป็นนโยบายที่ไม่ฉลาด เพราะนโยบายรถคันแรกเป็นการดูดกำลังซื้อในประเทศออกไปหมดจากชนชั้นกลาง

นายคำนูณยังกล่าวต่อว่า ในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในวันนี้ที่ไม่ปกติ ยังมีตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการขึ้นไปแตะที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจีดีพี ตัวเลขของภาคเอกชนก็ไม่เพิ่มขึ้นทั้งๆที่รัฐบาลก็ได้ลดภาษีของภาคเอกชนลดไป แต่กลับไม่มีการเติบโตอย่างที่คาดหวังไว้ ในทางเศรษฐศาสตร์จะเหลือเพียงแค่การลดทุนของภาครัฐเท่านั้นที่จะสามารถช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจเอาไว้ได้ แต่เงินที่รัฐบาลกู้ไปจำนวน 3.5 แสนล้านบาทและเงินอีกจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา กลับไม่มีการนำไปใช้ และมีแต่การรอคอย และถ้ารอไปแล้วกลับไม่ผ่านขึ้นมารัฐบาลจะทำอย่างไรต่อไป สิ่งนี้จึงชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะพึ่งเม็ดเงินจากการกู้นอกงบประมาณเพื่อทำให้เกิดความสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เป็นแบบจอมปลอมเท่านั้น

“ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลเอา 3.5 แสนล้านบาท และ 2.2 ล้านล้านบาทมาบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถทำได้ แต่ไม่ทำ แล้วไปฝากชีวิตไว้กับเงินกู้ ผมจึงมีความขัดแย้งกับเงินกู้นอกงบประมาณเหล่านี้เพราะมันมีสิทธิ์ที่จะเกิดความรั่วไหลได้มาก แล้วเช่นนี้เราจะไปหวังให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นได้อย่างไร ในอนาคตเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงๆ รัฐจะเอาดอกเบี้ยจากที่ไหนไปจ่ายเขา ประเทศเรากำลังเกิดความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ว่า การใช้เงินของภาครัฐจะทันการณ์หรือไม่ ถ้าไม่ทันมันก็ไม่คุ้มค่า และจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย แต่ถ้าทันจีดีพีก็จะเติบโตต่อไป” นายคำนูณกล่าว

ด้านนายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา กล่าวอภิปรายว่าตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดทำงบประมาณให้สมดุลโดยเร็วเพราะถ้ายิ่งปล่อยให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในลักษณะขาดดุลนานเท่าไหรก็จะมีผลให้ประเทศต้องมีภาระหนี้มากขึ้นเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันประเทศมีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูงทั้งจากนโยบายจำนำข้าว และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

“ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันมีแนวโน้มจะถดถอยและขยายตัวไม่มาก ผนวกกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจะส่งผลให้รัฐอาจจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีคำชี้แจงให้ชัดเจน” นายอนุรักษ์กล่าว

นอกจากนี้ เท่าที่ตรวจสอบการจัดทำงบประมาณยังพบว่ายังไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มจังหวัดอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามามีบทบาทต่อการปฏิรูปการเมืองและความสมานฉันท์ เพราะถ้ารัฐบาลสามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างกว้างขวางจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางของรัฐบาลเอง

ต่อมา นายคำนูณได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ถึงประเด็นสำคัญที่อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2537 เมื่อเวลา 16.00 น. ดังนี้

โดยปรกติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง ไม่มากก็น้อย เพราะเมื่องบประมาณผ่านสภา ก็เท่ากับรัฐบาลมีเงินไปจับจ่ายใช้สอยสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หมุนไป

แต่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 จะตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ได้หรือไม่ ?

คำตอบที่จะให้ในการอภิปรายวันนี้คือไม่ได้ !

เพราะแนวทางของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และแนวคิดของรัฐบาล ติดอยู่ในกับดักทางความคิด 3 กับดัก

กับดักที่ 1 – มุ่งไปสู่เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลจอมปลอม
กับดักที่ 2 – การใช้เงินกู้นอกงบประมาณที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ
กับดักที่ 3 – นโยบายประชานิยม

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงในขณะที่เราพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยที่มาของส.ว.กันอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ

19 สิงหาคม 2556 ใกล้เคียงกับวันแรกของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สื่อฝรั่ง 2 สื่อ BBC และ BLOOMBERG พาดหัวตรงกัน

Thailand's economy falls into recession

Thailand Cuts Growth Outlook as Economy Enters Recession

Recession = เศรษฐกิจถดถอย

ฝรั่งไม่ได้เจตนาร้ายกับเรา แต่ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจที่แถลงโดยหน่วยงานรับผิดชอบของไทยเองมันฟ้องเช่นนั้น โดยนิยามที่นับถือกันจะถือว่าเริ่มเข้าสู่ Recession เมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส

ไตรมาส 1/2556 ลดลงจากไตรมาส 4/2555 = 1.7 %

ไตรมาส 2/2556 ลดลงจากไตรสาม 1/2556 = 0.3 %

ทำให้สภาพัฒน์ฯปรับลดเป้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 จากเดิมประมาณการไว้ 4.2 – 5.3 % เหลือ 3.8 – 4.3 %

เป้าตัวบนลดเยอะนะ 1.0 %

จริง ๆ มันก็ไม่ถึงกับน่าตกใจมาก เพราะถึงแม้จะเข้าตามนิยาม แต่นั่นก็เป็นเพราะสภาพความผิดปรกติของสภาพเศรษฐกิจไทย และวิธีการคำนวณดัชนี

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเขาคำนวณเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียว กันของปีก่อน แต่พอการคำนวณว่าขยายตัวเพิ่มหรือติดลบ เขาเปรียบเทียบกับตัวเลขไตรมาสก่อนหน้าก่อนหน้า

เผอิญไตรมาส 4/2554 บ้านเราเจอน้ำท่วม สภาพเศรษฐกิจจึงแย่ พอมาไตรมาส 4/2555 สภาพเศรษฐกิจไทยเป็นปรกติ จึงเติบโตมาก และยังได้รับแรงส่งจากอภิมหาโครงการรถคันแรก จึงยิ่งเติบโตผิดปรกติ ด้านหนึ่ง 4/2554 ต่ำผิดปรกติ อีกด้านหนึ่ง 4/2555 สูงผิดปรกติ เป็น 2 แรงเด้ง ตัวเลขจึงออกมาเป็นว่า 4/2555 ขยายตัวถึง 18.9 %

พอไตรมาส 1/2556 และ 2/2556 กลับมาเป็นปรกติ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่โตผิดปรกติจาก 2 แรงเด้งจึงขยายตัวลดลง – 1.7 และ – 0.3

แต่ทั้ง 2 ไตรมาสของปี 2556 ตัวเลขแรกก็ยังขยายตัวที่ 5.4 และ 2.8

เป็นเพียง Technical Recession เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค

แต่ถึงจะเป็น Technical Recession หรือถดถอยทางเทคนิค ก็ไม่ควรประมาท เพราะมันเป็นสัญญาณเตือนสำคัญว่าถ้าแก้ไม่ดี มันจะถึงจุด Actual Recession หรือถดถอยของจริงได้ในไม่ช้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอ้เจ้าแรงเด้งที่ 2 ที่ทำให้ตัวเลขไตรมาส 4/2555 มันสูงผิด ปรกติ คือนโยบายรถคันแรกนั้น มันจะสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

BBC ถึงกับมีข่าวพาดหัวออกมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2556

Is Thailand's car buying scheme a wise move ?

ไม่ได้คิดว่าฝรั่งเก่ง หรือพูดอะไรต้องถูกทั้งหมดหรอก แต่เรื่องนี้คนไทยพูดกันมามากแล้ว แต่รัฐบาลนอกจากไม่ฟังแล้ว ยังยกเหตุผลสนับสนุนไปเปะปะ แม้กระทั่งทฤษฎีชนชั้น คนจนเขาจะได้มีโอกาสมีรถคันแรกสักคัน คนที่มีรถมาแล้วหลายคันเดือดร้อนอะไร

ฝรั่งมันตั้งคำถามนี้ก็เพราะภายใต้ตัวเลขการขยายตัวติดลบนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีมานด์ลด หรืออุปสงค์ลด

หรือพูดง่าย ๆ ว่ากำลังซื้อไม่มี !

และใคร ๆ ก็อ่านออกว่าเพราะนโยบายรถคันแรกที่ผู้คนเข้าร่วมเบ็ดเสร็จ 1 ล้านคน 1 ล้านครอบครัว หมดกำลังซื้อ เพราะทันทีที่ได้รถคันแรก มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเห็น ๆ ก็คือค่าผ่อนรถ 5,000 – 8,000 บาท ค่าน้ำมันประมาณ 3,000 – 5,000 บาท ค่าจิปาถะอีก ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าบำรุงรักษา

ต่อเดือนผู้คนต้องเก็บเงินอย่างต่ำ 10,000 บาท X 1 ล้านครอบครัวไว้

เท่ากับกำลังซื้อหายไป 10,000 ล้านบาทต่อเดือน !

กูรูทางเศรษฐกิจคนหนึ่ง – ที่ผมอยากจะบอกเหลือเกินว่าอยู่ในพรรครัฐบาลนั่นแหละ – บอกผมว่านี่คืออะไรรู้มั้ยครับ...

“หลุมดำดูดกำลังซื้อ”

ผมไม่กล้าตอบ BBC หรอกว่านี่เป็นนโยบายที่ฉลาดหรือเปล่า แต่ปะหน้ากูรูทางเศรษฐกิจอีกคนหนึ่ง เขาบอกผมว่ายังไงรู้มั้ยครับ...

“เป็นนโยบายที่โง่...”

ที่จริงไม่ใช่แค่ “โง่” แต่มีคำนำหน้าด้วย...

“มีอย่างที่ไหน สร้างนโยบายอัดเงินเข้าสู่ระบบสารพัด หวังให้มีการจับจ่ายใช้สอย แต่นโยบายนี้กลับดูดออกไปหมด หนึ่ง ดูดเงินออกไปต่างประเทศตามอุตสาหกรรมรถยนต์ สอง ดูดกำลังซื้อต่อเนื่องไปอีกเป็นปี ๆ...”

นื่คือกับดักนโยบายประชานิยม

ยกตัวอย่างแต่เฉพาะนโยบายรถคันแรก เพราะมันส่งผลสะเทือนที่มหาศาลมาก ตรงที่เป็นหลุมดำดูดกำลังซื้อ อันจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อย

ถ้าจะให้เพิ่มอีกหลุมดำหนึ่งก็คือนโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโลก จะขอพูดสั้น ๆ

นโยบายนี้เดิมทีคิดว่าฉลาดที่จะให้ประเทศไทยไปกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้ ที่สุดก็อย่างที่เห็น รัฐบาลก็ยอมรับแล้ว และเห็นได้ชัดว่าไม่ยอมนำมาใช้กับสินค้าเกษตรอื่น ๆ อาทิ ยางพารา แต่การปรับแก้ไม่ใช่เรื่องง่าย

นโยบายรับจำนำข้าวคือหลุมดำดูดงบประมาณและสร้างภาระหนี้สาธารณะ

สรุปว่าในกับดักประชานิยมนี้ มี 2 หลุมดำ

หลุมดำที่ 1 นโยบายรถคันแรกดูดกำลังซื้อ

หลุมดำที่ 2 นโยบายรับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาดโลกดูดงบประมาณและสร้างภาระหนี้สาธารณะ

ในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศวันนี้ที่ไม่ปกติ นอกจากตัวเลขกำลังซื้อหดหายแล้ว ยังมีตัวเลขอื่นที่ล้วนส่งสัญญาณไม่ดี อาทิ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ จนรัฐมนตรีต้องออกมาโต้แบงก์ชาติว่าอาจจะนิยามหนี้ครัวเรือนไม่ถูกต้อง ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนไม่เพิ่ม ทั้ง ๆ ที่อุตส่าห์ใช้ประชานิยมภาคเศรษฐีลดภาษีนิติบุคคลลง อ้างว่าจะได้ทำให้ภาค เอกชนนำเงินที่ได้จากการลดภาษีมาลงทุน สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่จริง ในขณะที่ตัวเลขกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเงินปันผลเพิ่มขึ้น ไม่ต้องพูดถึงการส่งออก

แม้แต่การจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ข่าวที่ว่าร่ำ ๆ หารือในครม.จะแก้ไขพ.ร.บ.สุราเพื่อปรับขึ้นภาษีขี้เหล้าขี้ยาที่วันนี้ชนเพดานแล้ว มันก็ส่งสัญญาณ

ในทางเศรษฐศาสตร์จึงเหลือแต่ตัว G คือการลงทุนภาครัฐ !

แต่ดูร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 สิ ปรากฏว่างบลงทุนเหลือเพียง 441,128.6 ล้านบาท เป็นสัดส่วนต่องบประมาณเพียง 17.5 %

ลดลงจากปีงบประมาณ 2556 ที่ตั้งไว้ 450,373.8 ล้านบาทอยู่ – 2.1 %

ปรกติจะมีแต่ปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเท่านั้นครับที่จัดทำงบประมาณแบบงบลงทุนติดลบเช่นนี้

ปรกติงบลงทุนในงบประมาณประเทศไทยมันก็น่าสงสารอยู่แล้ว ปีนี้ยังมาติดลบอีก แล้วจะพอกระตุ้นเศรษฐกิจหรือในภาวะที่ดัชนีตัวอื่นไม่ได้ดี

รัฐบาลก็จะบอกว่าดูแต่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 เท่านั้นไม่ได้ ต้องดูการลงทุนอีก 2 ยอดตามพ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ 3.5 แสนล้านที่กู้มาเรียบร้อยครบหมดแล้ว กับร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่ยังรอบรรจุวาระ 2, 3 ในสภาผู้แทนราษฎร คงจะรอให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาส.ว.ผ่านไปก่อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอีกกี่วันกี่สัปดาห์

ผมก็จะถามสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าไหนล่ะครับ

3.5 แสนล้านบาทกู้มาแล้วใช้ได้หรือเปล่า ติดศาลปกครองสั่งให้ทำตามรัฐธรรม นูญมาตรา 57 กับ 67 อยู่ อีกกี่เดือน กี่ปี จึงจะผ่านครบถ้วน

โดยเฉพาะมาตรา 67 วรรคสอง !

แล้วก็ยังเป็นการดำเนินการไปโดยขัดกฎหมายป.ป.ช.มาตรา 103/7 อีก

ส่วนร่างพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทนั้น ที่ท่านคาดครั้งแรกว่าจะให้มีผล 1 ตุลาคม 2556 จนถึงวันนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว วาระ 2, 3 ในสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มได้เมื่อ ไรไม่รู้ และเมื่อเริ่มแล้วจะใช้เวลากี่วันกี่สัปดาห์ เพราะฝ่ายค้านเขาประกาศว่าเป็น 1 ใน 3 กฎหมายสำคัญที่จะดำเนินการคัดค้านอย่างถึงที่สุด

เอ้า...ต่อให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาภายในสิ้นเดือนกันยายน 2556 กว่าจะผ่านอีก 3 วาระในวุฒิสภาก็อีก 60 วัน

แล้วยังมีชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีก

ถ้าผ่านหมด 1 มกราคม 2557 ได้ใช้ก็บุญโขแล้วครับ

ช้าไป 3 เดือนนี่จะทันการณ์หรือไม่ อย่าลืมนะครับว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1 – 2 เราขยายตัวติดลบ แม้จะเป็นเพียงการถดถอยทางเทคนิคก็ตาม แต่สภาพการณ์อย่างนี้รัฐต้องเร่งเกระตุ้นการใช้จ่ายลงทุนทันที แต่กลับต้องมารอ แล้วถ้ารอไปแล้วไม่ผ่านละครับ จะไปตั้งหลักแก้ปัญหาใหม่ เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเข้ามา ก็ต้องใช้เวลาอีก

Technical Recession อาจจะเป็น Actual Recession จริงก็ได้นะ

อันนี้แหละครับเป็นประเด็น 2 กับดักที่เหลือ

กับดักที่ 1 – มุ่งไปสู่เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลจอมปลอม

กับดักที่ 2 – การใช้เงินกู้นอกงบประมาณที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ

ด้านหนึ่ง รัฐบาลบอกว่างบประมาณปีนี้ขาดดุลเพียง 2.5 แสนล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 5 หมื่นล้านบาท หมายถึงเราต้องกู้มาปิดหีบงบประมาณลดลง 5 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลยังบอกอีกว่าตั้งเป้าไว้ว่าจะจัดทำงบประมาณสมดุลภายในปีงบประมาณ 2559 หรือ 2560 ผมไม่แน่ใจ ถ้า 2559 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะปีนี้กู้มาปิดหีบลดลงเพียง 5 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเป็น 1 ล้านบาท

ถ้าลดไปปีละ 5 หมื่นล้านบาทกว่าจะสมดุลก็ 2562 ละกระมัง ?

แต่อีกด้านหนึ่ง แม้ไม่กู้มาปิดหีบงบประมาณ หรือกู้ลดลง แต่รัฐบาลกู้เงินนอกงบประมาณมหาศาล 3.5 แสนล้านบาท และกำลังจะอีก 2 ล้านล้านบาทจากนี้ไปจนถึงปี 2563 ไอ้ที่คุยว่าทำงบประมาณสมดุลมันจึงไม่จริง

อย่างมากก็เป็นได้แค่งบประมาณสมดุลจอมปลอม

ปัญหามันไม่ใช่แค่นี้

เพราะการกู้เงินนอกงบประมาณ มาใช้นอกงบประมาณ โดยกฎหมายพิเศษ มันขัดรัฐธรรมนูญหมวด 8 กรอบวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ มาตรา 167 – 170 โดยเฉพาะมาตรา 169

ผมเห็นว่าขัด ท่านเห็นว่าไม่ขัด ไม่เป็นไรเมื่อถึงเวลาศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน

จะไม่พูดรายละเอียดในวันนี้

แต่อยากจะบอกว่า การใช้เงินกู้นอกงบประมาณโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรม นูญหมวด 8 กรอบวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ มาตรา 167 – 170 แล้วออกทะเลไปใหญ่ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ว่า “เงิน กู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 จึงไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรม นูญน่ะ ไปกันใหญ่ ซึ่งผมไม่มีทางจะเห็นด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าเราเลิกพูดในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมา จากการรัฐประหาร 2549 แล้ว ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่ก้าวหน้ามาก ที่จัดหมวดหมู่ให้มีหมวด 8 กรอบวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ มาตรา 167 – 170 ขึ้นเป็นครั้งแรก และแต่ละมาตราก็มีความเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน

โดยเฉพาะมาตรา 170 วรรคสองที่กำหนดหลักการสำคัญใหม่ไว้ว่าแม้เงินนอกงบประมาณก็ต้องปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลัง

โดยกำหนดให้มีกฎหมายลูกตามมาตรา 167 วรรคสาม

แต่กี่รัฐบาลแล้ว ร่างไม่เสร็จสักที ทั้ง ๆ ที่ร่างแรกส่งถึงคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อปี 2552 และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552

ขอตั้งข้อสังเกตว่าไอ้ที่ร่างไม่เสร็จ ไม่ลงตัว ก็อยู่ที่ประเด็นการใช้เงินกู้นอกงบประมาณผ่านกฎหมายพิเศษที่จะไม่อยู่ในบังคับของหมวด 8 ทั้งหมดนี่แหละครับที่เป็นปัญหา

ตอนนั้นมีพ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งกู้เงินนอกงบประมาณ 4 แสนล้านบาท แม้จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นเพียงการผ่านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เรื่องการตราพระราชกำหนดเท่านั้น มาถึงขั้นตอนการใช้เงิน กระทรวงการคลังก็เกิดสงสัยว่ามันจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ กระทรวงการคลังจึงเสนอครม.หารือไปยังกฤษฎีกา โดยกระทรวงการคลังอ้างเพียงมาตรา 23, 24 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502

ผมจะไม่ลงรายละเอียดนะ

เอาเป็นว่ากฤษฎีกาคณะที่ 12 คงจะเห็นว่าแค่ที่กระทรวงการคลังอ้างมาไม่น่าจะเป็นเหตุให้ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ได้ ท่านจึงให้ความเห็นสุดกู่ไปเลยว่าจ่ายเงินได้ ไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เพราะ

“เงินกู้(นอกงบประมาณตามกฎหมายพิเศษ)ไม่ใช่เงินแผ่นดิน”

ความเห็นนี้ออกมาเมื่อปลายปี 2552 และกลายเป็นคัมภีร์ให้รัฐบาลชุดนี้อ้างเป็นนกแก้วนกขุนทอง

จากนั้นก็มีความพยายามจะแก้นิยาม “เงินแผ่นดิน” ในกฎหมายฉบับนั้นเสียใหม่ ไม่ให้รวมถึงเงินกู้นอกงบประมาณตามกฎหมายพิเศษ

จากต้นร่างเดิมนิยาม “เงินแผ่นดิน” ไว้ดังนี้

“เงินทั้งปวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนสาธารณะ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นเงินงบประมาณรายจ่าย เงินรายได้แผ่นดิน และเงินนอกงบประมาณ และให้หมายความรวมถึงเงินคงคลังด้วย”

อันที่จริงหากปฏิบัติตามกรอบรัฐธรรมนูญ ก็แค่ใช้เงินได้อย่างมีหลักประกันการตรวจสอบเท่านั้น ให้อำนาจรัฐสภาในการตรวจสอบรายละเอียดเท่านั้น

และไม่ติดขัดเพดานการกู้เงินตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 21 แต่ประการใด หมายถึงเอาแผนการใช้เงินทั้ง 2 ต่อปีมาพล็อต กร๊าฟกับกฎหมายงบประมาณประจำปีที่จะมีเปอร์เซ็นต์การโตขึ้นตามที่แถลงมาทั้งหมดแล้ว จะพบว่าไม่เกิน ทำได้

ทำไมถึงไม่ทำ

พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านออกมาปีกว่า ๆ กู้ไปนิดเดียว มากู้ 90 % ก่อนพ.ร.ก.หมดอายุ 30 มิถุนายน 2556 ทำไม

ทำไมไม่ปล่อยให้พ.ร.ก.หมดอายุ

เอาโครงการที่พร้อมมาบรรจุเข้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

เช่นเดียวกับ 2 ล้านล้านบาทที่จะทยอยกู้ 7 ปี ออกเป็นกฎหมายพิเศษทำไม เอามาบรรจุเข้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณแต่ละปีตามยอดที่จำเป็น ไม่ต้องถึง 2 ล้านล้านบาท ไม่ดีกว่าหรือ

แทนที่จะให้ปีงบประมาณ 2557 ขาดดุลงบประมาณสัก 4 แสนล้านบาท บรรจุงบลงทุนภาครัฐที่พร้อม และทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เช่นระบบรถไฟทางคู่ หรือระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ที่จะเป็นการลดการใช้รถ กลับจัดงบให้ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ทำให้งบลงทุนลดลง 2.1 % เพื่อสร้างภาพรักษาวินัยการคลังโดยเอาไปซุกไว้ในพ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท ที่กู้มาแล้วก็ใช้ไม่ได้ และร่างพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทที่มีความขัดแย้งสูง เพื่ออะไร

เพื่อจะไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแม่บทการเงินการคลังที่ประเทศนี้มีมา คือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502, พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

รัฐบาลชอบบอกว่างบลงทุนในงบประมาณมีจำกัด ต้องออกกฎหมายพิเศษ ไม่จริง ถ้าไม่ไปติดกับดักสำคัญว่าต้องจัดทำงบประมาณสมดุลจอมปลอม

รัฐบาลชอบบอกอีกว่าต่างชาติจะได้มั่นใจว่าประเทศไทยลงทุนแน่ จึงใช้วิธีตรากฎหมายพิเศษ แต่ถามจริง ๆ เถอะสถานการณ์เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ต่างชาติจะมั่นใจได้อย่างไร ยิ่งปล่อยให้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวเป็นลบปรากฏออกไปอย่างนี้ ต่างชาติยิ่งเห็น เพราะประมาณการต่าง ๆ มันจะผิดเพี้ยนไป

โดยเฉพาะการเติบโตของ GDP

ประเด็นที่ผมต้องการจะ ‘เน้น’ เป็นพิเศษคือ...

การเสี่ยงต่อการทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ทันต่อสถานการณ์ จะส่งผลทำให้ประเทศตกเหวนรกหนี้สาธารณะโดยเปล่าประโยชน์

เพราะถ้าการลงทุนล่าช้า เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ Actual Recession

แล้วรัฐจะเอารายได้ที่ไหนไปจ่ายดอกเบี้ย

เราจะเดินลง 2 เหวนรกใหญ่

เหวนรก 1 กู้ 3.5 แสนล้านบาท

เหวนรก 2 กู้ 2 ล้านล้านบาท

ถ้าสมมุติว่ายอมขาดดุลงบประมาณเพิ่มปีละ 2 แสนล้าน 5 ปีผลออกมาหนี้สารณะเท่ากัน แต่เม็ดเงินเข้าระบบเร็วขึ้น เศรษฐกิจจะได้ไม่ถดถอย

และยังโปร่งใสตรวจสอบได้ตามรัฐธรรมนูญ

ถึงจะเฉียดปากเหวบ้าง แต่ก็ยังจะพอเดินกลับออกมาได้

แต่รัฐบาลก็ติดใน 2 กับดักสำคัญตรงนี้

กับดักเป้าหมายงบประมาณสมดุลจอมปลอม

กับดักใช้เงินกู้นอกงบประมาณตามกฎหมายพิเศษเพื่อที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังงบประมาณ

ผลก็คือจะเกิดความ เสี่ยงว่าการใช้เงินลงทุนภาครัฐจะทันการณ์หรือไม่ ?

การใช้เงินลงทุนภาครัฐให้ทันการณ์นี่สำคัญมากนะครับ

เพราะเป็นเงินกู้ไม่ว่าจะในงบประมาณหรือนอกงบประมาณ กู้มาแล้วต้องใช้คืน

ถ้าทันการณ์คือจะทำให้ GDP ขยายตัว ถ้าไม่ทันการณ์ คือ GDP หดตัว เกิด Actual Recession ขึ้นก่อน

การกู้เงินมาก็จะไม่คุ้มค่า และมีปัญหาตามมาชุดใหญ่

ที่รัฐบาลเคยบอกว่าไม่ต้องห่วง หนี้สาธารณะเราจะสูงสุดเพียง 50 % กว่า ๆ ของ GDP ในปี 2559 ที่เป็นปีที่คาดว่ายอดกู้เงินตามโครงการ 2 ยอดใหญ่จะขึ้นสู่จุดสูงสุด – มันอาจไม่ใช่ก็ได้

เพราะนั่นคือ 50 % ของ GDP ตามคาดการณ์ GDP ปรกติ ซึ่งน่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 5.5 % หรือไม่ต่ำกว่า 5 %

ถ้ามันต่ำกว่านั้นล่ะ ตัวเลข 50 % มันจะขึ้นสูงไป อาจแตะ 60 % ก็ได้

ถ้ายอดหนี้สาธารณะแตะร้อยละ 60 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2559 หรือปีปฏิทิน 2560 ช่วงไตรมาส 3 อะไรจะเกิดขึ้น

ผมถึงย้ำว่าการลงทุนภาครัฐต้องทันการณ์

เพราะเราต้องลงทุนด้วยหนี้

เมื่อเป็นหนี้แล้ว ต้องคุ้ม

เพราะฉะนั้นจึงควรนำการลงทุนภาครัฐเข้ามาไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯให้ถูกตามครรลองรัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่สักแต่เพื่อให้ถูกตามรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อให้โปร่งใส เพราะมีกลไกตั้งแต่ต้นจนจบที่เข้มงวดพอสมควร และตรวจสอบได้โดยรัฐสภา

ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้นมา รอบนี้จะไม่เหมือนปี 2540 ครับ โดยสาระสำคัญก็คือจะเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ไม่ใช่ภาคเอกชน และจะเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย

จะฟื้นยากกว่า

รัฐบาลก็จะบอกว่า งั้นส.ว.ก็อย่าขวางร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทสิ เร่งให้ได้ใช้ ส.ว.อย่ายื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่งั้นเศรษฐกิจเรามีปัญหานะ

จะเอาเศรษฐกิจของประเทศเป็นตัวประกันบังคับให้เราผ่านร่างกฎหมายกู้ 2 ล้านล้านบาทง่าย ๆ ใช่ไหม

สรุป

ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ตอบโจทย์ทางเศรษฐ กิจของประเทศไม่ได้ เพราะติดอยู่ใน 3 กับดัก คือ กับดักเป้าหมายงบประมาณ สมมดุลจอมปลอม กับดักการใช้เงินกู้นอกงบประมาณตามกฎหมายพิเศษ และกับดักประชานิยม

ในกับดักประชานิยมมี 2 หลุมดำใหญ่ หลุมดำนโยบายรถคันแรกดูดกำลังซื้อ หลุมดำนโยบายรับจำนำข้าวดูดงบประมาณและสร้างภาระหนี้สาธารณะ

แนวทางเช่นนี้สุ่มเสี่ยงที่จะพาประเทศตกเหวนรกหนี้สาธารณะในไม่ช้านี้เป็นอย่างยิ่ง.


กำลังโหลดความคิดเห็น