xs
xsm
sm
md
lg

ผลโพล ปชช.เห็นด้วย พธม.ยุติบทบาท ชี้ “ฝ่ายค้าน-องค์กรอิสระ” ไม่เพียงพอถ่วงดุลรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่ 67% เห็นด้วยพันธมิตรฯ ยุติบทบาท แต่ไม่เห็นด้วยที่ ส.ส.ปชป.จะลาออกมาเป็นแกนนำม็อบนอกสภาฯ ขณะที่ 46% คิดว่าฝ่ายค้าน และองค์กรอิสระไม่เพียงพอที่จะถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาล 52% ไม่เชื่อพลังมวลชนนอกสภาจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การยุติบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ” สำรวจระหว่างวันที่ 28-29 ส.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,241 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการประกาศยุติบทบาทของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ นอกสภา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 1.4

ผลสำรวจการประกาศยุติบทบาทของ พธม.พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.45 เห็นด้วย เพราะเป็นการลดความขัดแย้ง ลดการแบ่งแยกของคนในประเทศ อยากเห็นความสงบและความสามัคคีของชาติบ้านเมือง รองลงมาร้อยละ 22 ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเป็นตัวแทนออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ เพื่อจะได้มีข้อเสนอแนะต่อการทำงานของรัฐบาล และเป็นสีสันทางการเมือง

ส่วนความคิดเห็นต่อการลาออกของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปเป็นแกนนำทางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.24 ระบุว่าไม่ควรลาออก และไปเป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ รองลงมา ร้อยละ 17.65 ระบุว่าไม่ควรลาออก แต่ร่วมเป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ร้อยละ 16.28 ระบุว่าควรลาออก และเป็นแกนนำทางการเมืองเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และร้อยละ 21.83 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นต่อความเพียงพอของกลไกระบบรัฐสภาและกลไกองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ในการถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.98 ระบุว่า ไม่เพียงพอ เพราะเสียงน้อยกว่ารัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 28.77 ระบุว่า เพียงพอ เพราะมีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลมากกว่ารัฐบาล และเชื่อมั่นในการทำงานของกลไกระบบรัฐสภาและองค์กรอิสระ และร้อยละ 24.25 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อพลังมวลชนที่เคลื่อนไหวนอกสภาว่าจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.14 ไม่เชื่อ เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกอย่างขึ้นอยู่การตัดสินใจของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 33.84 เชื่อ เพราะกลุ่มคนหมู่มากย่อมมีแรงขับเคลื่อนมาก และรัฐบาลต้องฟังความเห็นของประชาชน และร้อยละ 14.02 ไม่มีความเห็น/ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า “ผลการสำรวจ สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้การรับรู้ของคนไทยนั้น “ระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยเสียงข้างมาก” ซึ่งยืนยันได้จากความคิดเห็นที่ได้จากการสำรวจใน 2 ประเด็นคือ 1) ประชาชนส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 46.98 มีความเห็นว่าภายใต้ระบบการเมืองของไทยในปัจจุบัน กลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลกับรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ด้วย “ระบบรัฐสภา” (การตรวจสอบโดยพรรคฝ่ายค้าน) และองค์กรอิสระ นั้นเป็น “กลไกที่ไม่เพียงพอ” ในการถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาล

2) ประชาชนส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 52.14 “ไม่เชื่อว่า” พลังมวลชนที่เคลื่อนไหวนอกสภาฯ จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมได้ จึงต้องจำยอมปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลซึ่งคุมเสียงข้างมากอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการประกาศยุติบทบาทของ พธม.ในทัศนะมองว่า การที่ พธม.ยุติบทบาทการเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภาจะส่งผลทำให้รัฐบาลติดตามและประเมินการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนกลุ่มที่ต่อต้านระบอบทักษิณได้ยากขึ้นเพราะโครงสร้างการจัดตั้งเดิมที่เคยเคลื่อนไหวมาตลอดระยะเวลา 8 ปี ยุติลง

การเคลื่อนไหวนอกสภาของภาคประชาชนในอนาคต อาจเป็นไปได้หลายลักษณะ เช่น 1. พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นำการขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเองโดยตรง หรือ 2. ประชาชนกลุ่มต่างๆ มีการประสานกันเพื่อระดมความคิดในการจัดตั้ง “โครงสร้างใหม่” เพื่อขับเคลื่อน “การเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่” ที่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลคาดการณ์และเตรียมการรับมือได้ยากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น