xs
xsm
sm
md
lg

ชิงที่นั่งศาลรัฐธรรมนูญแทน “วสันต์” ลุ้น 9 คน “ใครตัวเต็ง-เข้าวิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาวนีย์ อัศวโรจน์
รายงานการเมือง

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันที่ 29 สิงหาคมนี้ “คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะประชุมเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประเภทผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ที่จะมาแทน “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ลาอออกไป
 

การประชุมจะใช้วิธีการลง “มติลับ” เพื่อเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ จากรายชื่อผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 9 คน หลังมีการเปิดรับสมัครกันไปเมื่อ 6-13 สิงหาคมที่ผ่านมา

ตามรธน.ปี 2550 บัญญัติว่า หากมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดพ้นจากตำแหน่งก็ต้องให้กรรมการสรรหาดำเนินการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันซึ่งนายวสันต์ลาออกมีผล 1สิงหาคมที่ผ่านมา ดังนั้น กรรมการสรรหาก็ต้องลงมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนด 30 วัน

ทั้งนี้ เมื่อ 5 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนนายวสันต์ ได้มีการประชุมกัน โดยกรรมการสรรหาโดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 206 ได้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา, นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน

เป็นไปตามธรรมเนียม คือ ที่ประชุมมีมติเลือก นายไพโรจน์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนัดประชุมกัน29 สิงหาคมนี้เพื่อลงมติคัดเลือกผู้สมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดให้เหลือ 1 คน เพื่อนำเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมให้วุฒิสภาได้รับรองต่อไป

ส่วนรายชื่อผู้สมัครทั้ง 9 คนที่รอลุ้นจะได้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ มีดังนี้ นางเปรมใจ กิตติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา,นายไพรัช เกิดศิริ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต, พล.อ.สถาพร เกียรติภิญโญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ อดีตหัวหน้าสำนักตุลาการทหารและตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารสูงสุด, นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด, นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นางศุภลักษณ์ พินิจภูวดล ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ถามว่า ใครเป็นตัวเต็งและมีแนวโน้มมากที่สุด หากดูจากรายชื่อที่ยื่นสมัคร ส่วนใหญ่ก็ต้องบอกกันไว้ก่อนว่าพวกที่มาจากสายตุลาการจะเป็นพวกที่ถูกจับตามองมากที่สุด

หลายคนเลยมองว่าชื่อของนายชัยสิทธิ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกาและพรเพชร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา-นางเปรมใจ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา และนายไพรัช ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดภูเก็ต ถูกพูดถึงค่อนข้างมากในแวดวงผู้สนใจความเคลื่อนไหวของศาลรัฐธรรมนูญยุคใหม่หลังวสันต์ลาออก

กระนั้นชื่อผู้สมัครคนอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะของแบบนี้คาดเดากันได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นพวกนักวิชาการ อาจารย์สอนหนังสือ หรือพวกผู้สมัครที่มาจากสายศาลทหาร และสำนักงานอัยการสูงสุด

แต่ชื่อหนึ่งที่สร้างเสียงฮือฮาไม่น้อยก็คือบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หนึ่งในแกนนำนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ตอนนี้นายบรรเจิดมีตำแหน่งเป็น “กรรมการปฏิรูปกฎหมาย” ที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน

แน่นอนว่า หลักคิดในเรื่องกฎหมายมหาชน-รัฐธรรมนูญ จัดได้ว่า บรรเจิด ไม่เป็นรองใคร แต่ด้วยความที่มีปูมหลังเคยผ่านมาจากอดีต คตส.เป็นไปได้ว่า อาจทำให้กรรมการสรรหาบางคนมองประเด็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับการจะลงมติเลือกบรรเจิด

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ารายชื่อผู้สมัครมีผู้หญิงมาสมัครกันสองคนคือนางเปรมใจ กิตติคุณไพโรจน์กับนางศุภลักษณ์ อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งมาร่วม 15 ปี เคยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหญิงคนแรกแล้ว ชื่อ นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ ตอนนั้นก็มาจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และตอนหลัง 19 ก.ย. 49 ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ คตส.เช่นเดียวกับนายบรรเจิด โดยปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย รอบนี้จะมีเซอร์ไพรส์คว้าตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้หญิงหรือไม่?

ใครจะได้รับเลือก เป็นเรื่องที่เก็งยากจริงๆ อีกทั้งกรรมการสรรหาทั้ง 5 คนก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น การจะไปคาดเดาอะไรเป็นเรื่องยาก ยิ่งจะไปพูดถึงเรื่องการล็อบบี้อะไรหรือไม่ บอกได้คำเดียวยาก

แม้ในโครงสร้างกรรมการสรรหาจะมีฝ่ายการเมืองส 2 คน คือ อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมศักดิ์ ประธานสภาฯ แต่ก็เป็นสองเสียงที่ก็อยู่คนละฟาก การล็อบบี้อะไรจึงไม่มีผลอะไรเลย

จึงต้องดูว่า กรรมการสรรหา จะคัดกรองรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดออกมาจนได้เป็นว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นทองแท้หรือไม่?

พูดถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่รู้ว่าสุดท้าย “บุญส่ง กุลบุปผา”ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเคลียร์ตัวเองอย่างไรกับกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีการตรวจสอบกรณีมีคนไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ว่านายบุญส่งปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากแต่งตั้งบุตรของตัวเองเป็นเลขานุการ แล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามปกติเกือบ 1 ปีกว่า

ผลการพิจารณาและแถลงข่าวของ ป.ป.ช. โดย กล้านรงค์ จันทิกเมื่อ 27 ส.ค.ทาง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งบุตรชายนายบุญส่งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ปรากฏว่า มิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใดให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศได้ และไม่มีการให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้อนุญาตเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญลาไปศึกษาในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน

“การที่บุตรชายของนายบุญส่ง ขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้สิทธิในการลา และการที่นายบุญส่งได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ จึงเป็นการกระทำโดย โดยปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย

แต่การกระทำดังกล่าวของนายบุญส่ง ไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่การที่นายบุญส่งมิได้รายงานให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญทราบ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามปกติ จึงเป็นความรับผิดชอบในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกให้ส่งชดใช้คืนต่อไป”

ล่าสุด เชาวนะ ไตรมาศเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ บอกเรื่องนี้ก็ต้องรอหนังสือจากสำนักงาน ป.ป.ช.อย่างเป็นทางการก่อน แต่หากเป็นไปตามนี้ก็คงไม่มีปัญหา การดำเนินการก็ต้องทำไปตามขั้นตอน

กรณีที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการแถลงฝ่ายเดียวจาก ป.ป.ช.ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากตัวบุญส่ง แต่ดูแล้วพบว่า ป.ป.ช.มีการตรวจสอบเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้วถึงได้แถลงออกมา แสดงว่ามีการตรวจสอบหลักฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาหมดแล้ว

คำแถลงคำร้องคดีนี้จึงทำให้สังคมได้เห็นข้อเท็จจริงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญที่ตกเป็นที่กล่าวขานกันไปทั่ว

เชื่อว่า เรื่องนี้หากว่าวันหนึ่งข้างหน้า มีกรณีอะไรเกิดขึ้นกับการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วบางฝ่ายไม่พอใจโดยเฉพาะนักการเมือง ยิ่งหากการลงมติของนายบุญส่ง ไม่ถูกใจบุคคลบางกลุ่ม ก็คาดว่าเรื่องนี้จะต้องมีการถูกหยิบยกมาพูดถึงแน่นอน

คำถามคือหากถึงวันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญและตัวบุญส่งจะทนแรงเสียดทานได้แค่ไหน?
บรรเจิด สิงคะเนติ
กำลังโหลดความคิดเห็น