xs
xsm
sm
md
lg

พณ.โบ้ย ก.เกษตรฯ จัดการยาง ชี้คนนอกปิดถนน ยันดูแลเท่าเทียม ชาวสวน-นารับได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(แฟ้มภาพ)
รมว.พณ.แจงไม่รู้ปัญหาราคายาง โยน ก.เกษตรฯ เคลียร์ ยัน รบ.ดูแลพืชผลเกษตรเหมือนกันหมด แย้มข้าวไม่ได้ราคาเดิม เหตุงบลด 7 หมื่นล้าน ย้ำต้องยึดตลาดโลก รับต้นทุนเกษตรสูงต้องดูแลเตรียมเข้า AEC ชี้ข้าวตัน 1.5 หมื่น ไม่รับปากทำทุกฤดู อ้างส่วนใหญ่รับได้ เผยชาวสวนรับข้อเสนอรัฐฯ โบ้ยคนนอกพื้นที่ป่วน ขอสื่อ-สังคมจับตา ชี้เสียหายแบบข้าวลือมะกันคืนข้าว ที่แท้แค่ส่งผิด ซัดคนกุข่าวทำลายชาติ

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่อง ราคายางพาราของเกษตรกร ชาวสวนยางว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ทั้งหมด และกระทรวงพาณิชย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ทราบรายละเอียด ส่วนกรณีที่มีนักการเมืองนำปัญหาการช่วยเหลือข้าวและยางมาเปรียบเทียบกันนั้น ทราบว่ามีการพูดคุยกันอยู่ และมองว่ายางพาราได้รับการดูแลพิเศษเพราะมีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางดูแลอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดเหมือนกันหมดด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะต้องการให้เกษตรกรมีรายได้และสามารถเลี้ยงตัวเองได้เป็นอย่างดี อาจจะไม่ได้ราคาตามที่คาดหวังไว้ ทั้งข้าว ยาง และข้าวโพด แต่รัฐบาล พยายามจะทำให้ได้ราคาในระดับหนึ่ง

นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวต่อว่า ในส่วนของข้าว ราคารับซื้อในฤดูใหม่นี้อาจจะไม่ได้เหมือนเดิม เพราะจะจัดโครงการโดยยึดงบประมาณเป็นหลัก เพื่อให้เข้ากับระเบียบวินัยการเงินการคลัง โดยเราจัดงบประมาณไว้ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยข้าวฤดูกาลผลิต 2556/2557 จะรับจำนำที่ราคา 1.5 หมื่นบาท แต่มีการจำกัดวงเงินต่อครัวเรือนไว้ที่ 3.5 แสนบาท ส่วนข้าวฤดูกาลผลิต 2557 จะนำเงินที่เหลือจาก 2.7 แสนล้านบาทมาดำเนินการ โดยรับจำนำในราคาตันละ 1.3 หมื่นบาท กำหนดเพดานรับจำนำที่ครัวเรือนละ 3 แสนบาท ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้การช่วยเกษตรกรผู้ปลูกพืชทุกชนิด แต่ต้องคำนึงถึงงบประมาณด้วยเพราะรัฐบาลต้องดำเนินการในหลายเรื่อง และต้องคำนึงถึงราคาในตลาดโลกด้วย พร้อมทั้งยอมรับว่าพืชเกษตรของเรามีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นเราต้องจัดระบบให้ดีและเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน 2 ปีข้างหน้า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ไม่มีทางที่จะช่วยดูแลได้เช่นนี้ เพราะสินค้าสามารถเข้าออกทุกประเทศอย่างเสรีโดยไม่มีภาษี เราจึงต้องดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเป็นสำคัญ

เมื่อถามว่ามีเกษตรกรบางรายเรียกร้องราคารับจำนำที่ตันละ 1.4 หมื่นบาทจะเป็นไปได้หรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกร ได้สะท้อนที่ราคา 1.3 หมื่นบาท และ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลได้แถลงนโยบายว่าจะกำหนดไว้ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำทุกฤดู แต่เราก็ต้องดูงบประมาณที่มีอยู่เป็นสำคัญ เมื่อมีงบประมาณเหลือเราก็ดำเนินการโครงการต่อไป เนื่องจากเราต้องการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยโดยการจำกัดวงเงินไว้ และจากที่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรี หลายๆท่านก็ให้การสนับสนุนโครงการนี้ และเมื่อเข้าที่ประชุม ครม. ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างใด และจากการพูดคุยกับเกษตรกรส่วนใหญ่ก็รับได้ในแนวทางนี้ ส่วนที่รับไม่ได้ขอความร่วมมือไป

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการปิดถนนในพื้นที่ภายใต้กีดขวางเส้นทาง รองนายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยเจรจากันอยู่แล้ว และเท่าที่ทราบเกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลอยู่แล้วแต่เห็นว่ามีกลุ่มที่ไม่ใช้คนในพื้นที่เข้ามา สังคมและสื่อมวลชนต้องช่วยกันเพราะเรากำลังจะทำให้ประเทศชาติเสียหายเหมือนกับข่าวลือเรื่องข้าวที่ไปยังต่างประเทศ เมื่อพิสูจน์จริงๆ แล้วตนเพิ่งได้รับรายงานเข้ามาว่าข้าวหอมมะลิที่สหรัฐอเมริกาส่งคืนมานั้นไม่ใช่เพราะมีสารพิษหรือสิ่งเจือปน แต่เป็นเรื่องของการส่งไปผิดสเปก ขณะนี้กำลังขอรายละเอียดอยู่

“คนที่ออกมาให้ข้าวที่ไม่เป็นความจริงทำให้ประเทศชาติเสียหาย และทำให้ข้าวไทยเสียชื่อเสียงทำให้ไปค้าขายลำบาก เรากำลังทำลายพวกกันเอง ทำลายชาติ ทำลายข้าวไทย” นายนิวัฒน์ธำรงกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น