“ไชยยันต์”มองแกนนำ พธม.ยุติบทบาท มุ่งกระตุ้นประชาชนตื่นตัวเห็นพิษร้ายเผด็จการเสียงข้างมากกินรวบหมดทุกองค์กร เชื่อกลางปีหน้าเห็นภาพชัด ทุกภาคส่วนหมดความอดทนต้องออกมาต่อต้าน คณบดี รัฐศาสตร์ มสธ.ชี้แม้ยุติบทบาทแกนนำ แต่การตรวจสอบรัฐบาลยังมีอยู่โดยช่องทางอื่น ไม่จำเป็นต้องจัดม็อบ ด้าน“ดร.เจษฎ์” ชี้หาก ปชป.ลาออก มีสิทธิปฏิรูป
วันนี้ ( 24 ส.ค.) นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูปประเทศและการยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ถึงพันธมิตรยุติบทบาท ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลาออก และไม่มีทางจะเกิดการปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่พันธมิตรฯ เสนอได้ แต่จะเกิดการปฏิรูปตามแนวทางอื่นหรือไม่ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็น ซึ่งการมีคณะกรรมการปฏิรูปตามที่รัฐบาลประกาศ ก็อาจจะมีความหวัง ถ้าทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมแต่ถ้าเป็นปาหี่การเมือง ก็จะทำให้การปฏิรูปประเทศไม่มีแสงสว่าง การปฏิรูปจริงๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น การที่พันธมิตรฯ ประกาศยุติบทบาทไม่ได้เป็นเซอร์ไพรส์สำหรับตนเอง เพราะพันธมิตรก็มีทางเลือกไม่มาก มีข้อจำกัดในเรื่องการเคลื่อนไหว เนื่องจากแกนนำก็มีคดี พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมลาออกมาสู้ด้วย ถ้าออกมาเคลื่อนไหวก็มีสิทธิที่จะถูกถอนประกัน จึงต้องยุติบทบาท
นายไชยยันต์ ยังกล่าวอีกว่า การยุติบทบาทของพันธมิตรอาจทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยรู้สึกสบายใจไม่มีคนคอยคัดค้าน หรือถึงขั้นเหลิงอำนาจ ตนเชื่อว่าถึงจุดนั้นซึ่งน่าจะเป็นช่วงไม่เกินกลางปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ตามที่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นบรรดาญาติพี่น้องของ ส.ส. ประชาชนก็จะเห็นภาพเผด็จการเสียงข้างมาก กินรวบหมดทุกองค์กรได้ชัดขึ้น หรือที่เรียกว่าต้องรอให้เห็นโลงศพก่อน แล้วตอนนั้นประชาชนจะยิ่งทนไม่ได้ ออกมาเรียกร้อง ออกมาต่อต้าน ซึ่งก็อาจจะรวมถึงพันธมิตรฯ ด้วย จึงน่าจะถือว่าได้การยุติบทบาทของพันธมิตรคราวนี้ก็หวังให้ประชาชนเกิดการตื่นตัวและเห็นพิษร้ายของเผด็จการเสียงข้างมาก จนทนอยู่นิ่งไม่ไหว
แต่ทั้งนี้ นายไชยยันต์ไม่เห็นด้วยกับที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เสนอว่าแนวทางปฏิรูปโดยการคืนพระราชอำนาจให้ในหลวงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี เพราะหากการบริหารงานของนายกพระราชทานไม่ดี ก็จะมีการตั้งคำถามว่าใครจะต้องรับผิดชอบ กลายเป็นการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน เมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปี ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีการเลือกตั้ง มีส.ส. ส.ว. คือกลับเข้ามาสู่ระบบรัฐสภา มันก็กลายเป็นวังวนเดิม ดังนั้นถ้าจะพูดแนวทางปฏิรูปประเทศ ก็น่าที่จะเสนอให้ชัดว่าหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่พันธมิตรฯ คิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเผด็จการเสียงข้างมากนั้นเป็นอย่างไร หรือกลไกป้องกันอย่างไร
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ในแง่การเมืองภาคประชาชน กับการเมืองในรัฐสภา ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมามีความเชื่อมโยงกันมาก โดยการเชื่อมโยงตรงนี้ ยุคหนึ่งเราจะเห็นว่ามีผู้นำทางการเมืองนอกสภา เข้าไปเป็น ส.ส.ในสภาซึ่งมีทั้งฝั่งเหลือง ฝั่งแดง แต่สุดท้ายข้อจำกัดของระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับการประชุมสภา ข้อบังคับพรรค กฎหมายต่างๆ รัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ส.ที่มาจากผู้นำทางการเมืองนอกสภาแสดงบทบาทได้ไม่เต็มที่ อย่างตอนเป็นเสื้อแดงเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม ตอนเป็นเสื้อเหลืองเรียกร้องเรื่องอยากให้นักการเมืองมีคุณธรรม แต่สุดท้ายเมื่อเข้ามาเป็น ส.ส.แล้วก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตอบสนองมวลชนของฝ่ายตนเองได้ เหตุเพราะข้อจำกัดต่างๆ 7-8 ปีนี้จึงมีความอ่อนแอของการเมืองนอกสภาไม่น้อย จะสังเกตได้ว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างในอดีต ทำให้ความสนใจของสังคม ความสนใจของรัฐต่อการเคลื่อนไหว หรือท่อน้ำเลี้ยงต่างๆ ก็ลดน้อยลง ตรงนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการยุติบทบาทลง แต่ในระยะยาวแล้วมีโอกาสที่จะกลับในรูปแบบใหม่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
“ แม้ พธม.จะยุติบทบาทแล้วแต่เชื่อว่าการตรวจสอบรัฐบาลจะยังมีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะการตรวจสอบไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะการชุมนุมเคลื่อนไหว แต่สามารถตรวจสอบโดยผ่านช่องทางกฎหมายต่างๆ เช่นองค์กรอิสระ หรือร่วมสนับสนุนการตรวจสอบของภาคประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ก็ทำได้”
ส่วนข้อเสนอปฏิรูปประเทศของกลุ่มพันธมิตรที่เสนอให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออกทั้งหมดแล้วออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหยุดระบอบการเมืองที่ล้มเหลวนั้น มองว่าแม้ พธม.ประกาศยุติบทบาทแล้วก็ไม่น่าจะก่อเกิดแรงกดดันจากภาคประชาชนมากขึ้นเพื่อให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออก อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่คิดที่จะลาออกอยู่แล้วเนื่องจากมองสถานการณ์ออกว่าในขณะนี้ตนเองอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ยิ่งถ้าลาออกแล้วมีการเลือกตั้ง อาจจะได้กลับเข้ามาน้อยกว่าเดิมอีก ความวุ่นวายทางการเมืองช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นจังหวะที่พรรคประชาธิปัตย์จะฉวยโอกาสลาออกจาก ส.ส.เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนแต่ก็ไม่ทำ ขณะเดียวกันประชาธิปัตย์ก็คิดแล้วว่า เสียงของประชาชนนั้นแท้จริงแล้วไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเลย
นายยุทธพร ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่พันธมิตรฯ เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศเพราะที่เป็นอยู่ปัจจุบันฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหาร การพิจารณาเรื่องต่างๆ รัฐไม่ได้คิดถึงเรื่องความถูกต้อง แต่มองว่ามีจำนวนเสียงในสภามากจะทำอะไรก็ได้นั้น การจะแก้ปัญหานั้นคงต้องคิดก่อนว่า ประเทศเรายังยอมรับระบบรัฐสภา และระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงข้างมาก เคารพและรับฟังเสียงข้างน้อยหรือไม่ เพราะถ้าเรามองว่าเมื่อ มีเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ หรือที่เรียกว่ามองเชิงคณิตศาสตร์ แล้วบอกว่าไม่ดี ต้องล้มล้างระบบรัฐสภาคงไม่ใช่ ดังนั้นอาจจะต้องแก้ในเรื่องกลไกของระบบ เช่นการทำอย่างไรให้ได้ผู้แทนที่ดีเข้ามา ส.ส.อาจจะมาจากการเลือกตั้งแบบเดิม แต่ ส.ว. อาจสร้างกลไกการเลือกเพื่อให้ได้ตัวแทนของชุมชนมากขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาระบอบอุปถัมภ์ที่เป็นปัญหารากเหง้าในสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทำคู่ขนานไปกับการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งการพัฒนาประชาธิปไตยในบางประเทศเขาใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ของไทย 7-8 ปีที่ผ่านมาน่าจะถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
ด้านนายเจษฎ์ โทณะวนิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรฯ ถือว่าลดทอนน้ำหนักของการเมืองภาคประชาชนไปเยอะ และทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพันธมิตรฯ ยกมือให้กับรัฐบาลแล้ว ต่อไปรัฐบาลจะทำอะไรตามสะดวกได้เลย พันธมิตรฯ จะไม่ยุ่งอีก รวมถึงเป็นการบอกไปยังพรรคประชาธิปัตย์กลายๆ ว่าพันธมิตรฯ ช่วยมาเยอะแล้วเบื่อ ต่อไปประชาธิปัตย์ก็ช่วยตัวเองแล้วกัน
ทั้งนี้ นายเจษฎ์ ยังมองด้วยว่าข้อเสนอปฎิรูปประเทศของพันธมิตรฯ ที่ให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากส .ส. มาร่วมขับเคลื่อนล้มระบอบการเมืองปัจจุบันนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจริง แนวโน้มการขับเคลื่อนนั้นจะเกิดขึ้นได้แม้ว่ามันอาจจะไม่ไปสู่จุดที่พันธมิตรฯ ต้องการก็ตาม แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เลือกที่จะเดินทางนี้เพราะเห็นแล้วยากที่เกิดประโยชน์กับตนเอง เพราะถ้าลาออกไปเลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะได้เสียงเข้ามาไม่เท่าเดิม ขณะเดียวกันจะยิ่งกลายเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลทำอะไรได้สะดวกยิ่งขึ้น
“พันธมิตรฯ เป็นแต่คนที่ยืนอยู่ข้างนอก ลงเลือกตั้งก็ไม่เคยได้รับเลือกตั้งเลย หากได้รับเลือกตั้งมี ส.ส.แล้ว ส.ส.ของตนเองเป็นแกนนำประกาศลาออก เพื่อไปขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปประเทศ อย่างนี้ยังมีน้ำหนัก เรียกร้องให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกตามได้ แต่นี่พันธมิตรฯ เป็นภาคประชาชนแล้วไปเรียกร้องให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออก ถ้ายอมลาออกมันก็อาจจะขับเคลื่อนไปได้ และอาจจะกลายเป็นการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยซ้ำว่าต่อไปพรรคจะเติบโตโดยสร้างฐานจากการเมืองภาคประชาชน เหมือนพรรคการเมืองในเยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ แต่นั่นเขาก็ใช้เวลาร้อยสิบหลายร้อยปี แต่นี่ประเทศไทยก็อาจแตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตามการที่พันธมิตรฯ ยุติบทบาทครั้งนี้ส่วนตัวมองว่าไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ มองผลที่จะได้จากยุติบทบาทครั้งนี้คืออะไร แต่เชื่อว่า ผลที่พันธมิตรมองว่าจะเกิดขึ้นนั้น ไม่มีทางที่ใครจะนำผลนั้นมาให้กับพันธมิตรฯ แต่จะต้องเกิดขึ้นจากการที่พันธมิตรฯ ลงมือทำเอง และเมื่อนั้นคนจะรู้และเข้าใจเจตนาที่พันธมิตรฯ ทำ รวมถึงมีคำตอบให้กับพันธมิตรฯ ว่าสิ่งที่ได้ทำนั้นเขาเห็นด้วยหรือไม่ และมันถูกต้องในสายตาเขาหรือไม่