ผ่าประเด็นร้อน
หลายคนกำลังจับตามองกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่มี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ เป็นผู้บังคับการอย่างสนใจทันที หลังจาก่าสุดได้ประกาศว่า ต้องการเข้าไปตรวจสอบแอปพลิเคชัน หรือโปรแกรมไลน์ อย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อดำเนินคดีต่อพวกที่โพสต์ข้อความเป็นภัยและทำลายความมั่นคง พอเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสะท้อนกลับมาอย่างรุนแรง
เกิดเสียงวิจารณ์ในทางลบต่อหน่วยงานตำรวจ ปอท.ดังกล่าว ในทำนองว่าเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน เรียกได้ว่าเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นแบบ “ร้อนฉ่า” และขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็วตามลักษณะของโลกออนไลน์ที่รวดเร็ว มีทั้งความเห็น ทั้งภาพ ทั้งการ์ตูน ล้อเลียนได้อย่างเจ็บแสบ และที่สำคัญยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจในยุคปัจจุบันที่ตกต่ำหมดความศรัทธาจากประชาชนอยู่แล้วว่าเป็น “รัฐตำรวจ” อยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก และที่สำคัญมันดันกระทบไปถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวเข้าอย่างจัง เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าแทบทุกข้อความที่โวยวายล้วนพาดพิงเชื่อมโยงไปถึงคนพวกนี้แทบทั้งสิ้น และด้วยเสียงวิจารณ์อย่างร้อนแรงดังกล่าวทำให้ต้อง “ลดกระแส” อย่างรวดเร็ว ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่จะได้เห็นข้อความในเฟซบุ๊กของ พานทองแท้ ชินวัตร ออกมาคัดค้านการกระทำของ ผบก.ปอท.พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ แทบจะทันควัน รวมทั้งไม่ต่างจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ก็คัดค้านเช่นเดียวกัน โดยอ้างว่ารัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยเพราะเกรงกระทบสิทธิของประชาชน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องรีบแสดงความเห็นแม้ว่าอาจจะฟังแล้วงงๆ แต่เธอก็ยืนยันว่าเป็นแค่เจาะจงเฉพาะบุคคลบางกลุ่ม บางคนเท่านั้น ไม่ใช่ตรวจสอบทุกคน
ความหมายของนายกฯ ก็ไปสอดคล้องกับคำชี้แจงของ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ว่าเจตนาของพวกเขาแค่ต้องการตรวจสอบพวกที่ก่ออาชญากรรมผ่านโลกโซเชียลฯ พุ่งเป้าไปที่พวกค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด เป็นต้น อย่างไรก็ดีเขาก็เปิดเผยในทำนองว่าได้ติดตามบางคนบางกลุ่มที่ที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้าข่ายทำลายความมั่นคง ซึ่งอย่างหลังนี่แหละทำให้เกิดคำถามว่า จะมีการ “นิยาม ”อย่างไรว่าข้อความแบบไหน หรือใครที่ทำลายความมั่นคง และที่สำคัญก็คือ “ทำลายความมั่นคงของใคร” ทำลายความมั่นคงของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวหรือไม่ มันน่าสงสัย
ก่อนหน้านี้ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเดียวกันนี้แหละที่ได้ออกหมายเรียกจำนวน 4 คนที่โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กที่ตำรวจอ้างว่าปล่อยข่าวลือเรื่อง “ปฏิวัติ” เป็นการทำลายความมั่นคง และหนึ่งในนั้นก็เป็นสื่อมวลชน ที่เคยเปิดโปงและวิจารณ์รัฐบาล และข้าราชการคนสำคัญในกองทัพ รวมไปถึงการทำหน้าที่ของตำรวจมาแล้ว ซึ่งในคราวนั้นก็ถูกวิจารณ์จากสังคมในทำนองเดียวกัน
หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในช่วงที่บริหารมาได้ครึ่งเทอม นั่นคือกว่าสองปี ทำให้ประชาชนได้เห็นถึงความล้มเหลวทุกเรื่อง ไม่เป็นไปตามราคาคุย ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวต่อต้าน และเกิดการชุมนุมประท้วงหนาตามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ถือว่ารัฐบาลยังจัดการไม่ได้ “แบบเบ็ดเสร็จ” ก็คือความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดีย ที่นับวันเริ่มมีพลังมากขึ้น และเริ่มรู้สึกว่า “เป็นภัยคุกคาม”ต่อระบอบทักษิณ และที่สำคัญคนพวกนี้ควบคุมไม่ได้ โฆษณาชวนเชื่อแบบฉาบฉวยได้ยาก
ตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นก็คือ เสียงวิจารณ์การทำงานและพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดโปง ทักษิณ ชินวัตร และบรรดา “ขี้ข้า” ได้อย่างถึงพริกถึงขิง พร้อมทั้งมีหลักฐานทั้งภาพถ่าย หรือคลิปนำมาแสดง ก็ยิ่งบั่นทอนภาพลักษณ์ออกมาตรงข้ามกับก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
อีกทั้งที่ผ่านมาหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าในระยะไม่กี่เดือนมานี้มีข้อความบางข้อความที่กลายเป็นของต้องห้าม แม้ว่าจะไม่ได้กล่าวถึงใคร หรือเอ่ยชื่อใคร แต่ก็กลายเป็นว่ามีการข่มขู่คุกคาม มีการดำเนินคดีกับการ์ตูนนิสต์ชื่อดังมาแล้ว ซึ่งคำเหล่านี้กลับแพร่หลายในโลกออนไลน์ มีการแชร์ไลค์ กันอย่างกว้างขวาง ล้วนแล้วกระทบในทางลบต่อรัฐบาลทั้งสิ้น
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่ในภาวะที่รัฐบาล และผู้นำรัฐบาลอยู่ในภาวะขาลงอย่างรวดเร็วแบบนี้มันก็ยิ่งต้องมีการเข้มงวดจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งที่ผ่านมาก็มักออกมาในลักษณะดำเนินคดี การตรวจสอบภาษีรวมไปถึงการหาวิธีกลั่นแกล้ง โดยใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือ และคราวนี้ในเมื่อการสื่อสารสำคัญอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ที่กำลังสร้างผลกระทบ มันก็ต้องถึงเวลาต้องจัดการ และวิธีการที่ “คลาสสิก” ที่สุดก็ใช้ข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ที่ยังใช้ได้อยู่เสมอ และคราวนี้อย่างน้อยเป็นการขู่ไม่ให้โพสต์ด่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ก็ถือว่าโอเคแล้ว!!