xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มกรีนยื่น กสม.สอบ ผบก.ปอท.จุ้นเช็กไลน์ชาวบ้านขัด กม.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ช่วยผู้ประสานกลุ่มกรีนยื่นกรรมการสิทธิฯ สอบ ผบก.ปอท.สอบไลน์ชาวบ้าน ส่อขัดรัฐธรรมนูญ และกฏหมายหรือไม่ ซัดทำเกินกว่ากฏหมาย ปิดกั้นเสรีภาพ ด้าน “นพ.นิรันดร์” พร้อมชงถกอนุ กก.สิทธิพลเมือง จี้ยอมรับเห็นต่าง ห่วงใช้ พ.ร.บ.คอมพ์คุม ชี้อำนาจสอบมีแต่ต้องผิดชัดก่อน

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายจาตุรันต์ บุญเบญจรัตน์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กรณีมีนโยบาย จะตรวจสอบคุมเข้มการแชตไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ การกดไลน์ กดแชร์ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพื่อป้องกันเหตุภัยคุกคามความมั่นคงทางโซเชียลมีเดีย ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 8 หรือไม่

นายจาตุรันต์กล่าวว่า เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การสื่อสารของประชาชน เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะกระทำในลักษณะเหมารวมตรวจสอบทุกข้อความ ทุกการสื่อสารของทุกคน โดยวิธีการเสมือนอาชญากรรมข้อมูล ความลับ ความคิดส่วนบุคคล ซึ่งได้กระทำมาก่อนแล้วจะปรากฏเป็นข่าว นอกจากนี้ ที่อ้างว่าการตรวจสอบ “ไม่เน้นการเมืองนั้น แต่กลับมีความหมายว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน รวมทั้งไม่ปรากฏขั้นตอนวิธีการคัดกรองกลุ่มบุคคล ลักษณะข้อมูล คำจำกัดความโดยละเอียด และแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ เร่งตรวจสอบเพื่อสร้างบรรทัดฐานและให้ความกระจ่างกับสังคม

ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ตนเองเป็นประธาน โดยน่าจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการเชิญ ปอท. ตัวแทนบริษัทไลน์ ประชาชนผู้ใช้บริการมาให้ข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ ปอท.ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27, มาตรา 26, มาตรา 45 แต่สังคมไทยมองความเห็นต่างเป็นศัตรู ตีความความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งระบอบประชาธิปไตยต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ถ้าไม่ยอมรับสังคมไทยจะตกอยู่ในยุคอำนาจมืด อำนาจเถื่อน โดยกรรมการสิทธิก็เป็นห่วงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งเจตนาของกฎหมายเพื่อป้องกันอาชญกรรมทางคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผ่านมามักใช้กฎหมายนี้เข้าไปกำกับเนื้อหาที่มีการถ่ายทอดทางสื่อโซเชียลมีเดีย ยิ่ง 4-5 ปีที่บ้านเมืองแบ่งข้างแบ่งฝ่าย มีการใช้สื่อประหัตประหารกันแต่ก็ไม่ควรเอา พ.ร.บ.ดังกล่าวมาควบคุม แต่ควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการการใช้สื่อที่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีกฎหมายอื่นๆ เช่นกฎหมายหมิ่นประมาทจัดการได้อยู่แล้ว

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้มีการตรวจสอบการแชตไลน์ในทางลับอยู่แล้วจะถือเป็นการละเมิดหรือไม่ น.พ.นิรันดร์กล่าวว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องมีหลักฐานชัดเสียก่อนว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่จู่ๆ ก็จะไปตรวจสอบไลท์แชตเพื่อดูว่ามีการกระทำหรือไม่ เพราะทำเช่นนั้นก็เข้าข่ายละเมิดได้ ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนเองก็ต้องรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการ เพราะหากเปิดเผยไปโดยที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน ก็มีความผิดเช่นกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น