xs
xsm
sm
md
lg

ปอท.เมินกระแสต้าน เดินหน้าเช็กไลน์ ตาม พ.ร.บ.คอมพ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
ผบก.ปอท.เมินกระแสต้านเช็ก “ไลน์” ชี้มีผู้กระทำความผิดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นจำนวนมากและจะตรจสอบเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น โดยจะใช้อำนาจการตรวจสอบ ตามพ.ร.บ.คอมพิเตอร์

วันนี้ (14 ส.ค.) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. เปิดเผยความคืบหน้ากรณีจะมีการตรวจสอบการใช้ “ไลน์” ทางโทรศัพท์มือถือว่า แม้ตอนนี้จะมีกระแสข่าวต่อต้านจากคนหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับกรณีที่ทาง บก.ปอท.เตรียมตรวจสอบการใช้ไลน์อย่างแพร่หลายนั้น อย่างไรก็ตาม ตนยังยืนยันว่าไม่ย่อท้อและจะยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป เนื่องจากตนเห็นความสำคัญว่าปัจจุบันนี้มีการกระทำความผิดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะโปรแกรมไลน์ ที่คนไทยนิยมใช้ในการติดต่อสื่อสารมากถึง 15 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากเฟซบุ๊กที่มียอดการใช้งาน 20 ล้านคน ซึ่งน่าเป็นห่วง

โดยขอยืนยันว่าตนจะทำการตรวจสอบการใช้ไลน์เฉพาะบุคคลที่กระทำความผิดเท่านั้น ซึ่งตนจะตรวจสอบไปทางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ไลน์ คอร์เปอเรชัน เพื่อดูแค่แอ็กเคานต์ว่าคนนั้นคือใครมาจากไหน เพื่อนำข้อมูลมาสืบสวน จับกุม ผู้กระทำความผิดต่อไป ไม่ได้จะขอข้อมูลซึ่งเป็นข้อความทั้งหมด อีกอย่างที่ญี่ปุ่นไม่ได้เก็บคอนเทนต์การสนทนาทั้งหมดอยู่แล้ว เนื่องจากคนใช้ทั่วโลกมีจำนวนมาก ดังนั้นทาง ปอท.จะเอาเฉพาะข้อมูลการเชื่อมต่อเท่านั้น ซึ่งทางญี่ปุ่นจะให้หรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของบริษัท ซึ่งหากถามว่าจำเป็นไหมต้องใช้อำนาจศาลในการขอ ตนมองว่าเนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ไลน์ที่เก็บข้อมูลตั้งอยู่ที่ญี่ปุ่น นอกเขตอำนาจศาลไทย ดังนั้น อำนาจศาลไทยคงอยู่นอกเหนือการควบคุมที่จะสั่งให้เขาส่งข้อมูลมาให้ ขอให้เป็นความสมัครใจของเขาดีกว่า

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวอีกว่า ในส่วนนี้เป็นการประสานงานโดยตรงระหว่างตำรวจ ปอท.กับไลน์ ดังนั้นที่มีคนพยายามมองว่าทางตำรวจจะละเมิดสิทธิของพวกเขาหรือไม่นั้น ตนขอยืนยันว่าไม่ได้ละเมิดเด็ดขาด แต่หากทำผิดทางตนก็มีอำนาจในการตรวจสอบตามที่พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 18 ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เชื่อว่ามีการกระทำความผิด มีอำนาจในการร้องขอคำสั่งศาลในการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ยกตัวอย่างมีคนใช้ไลน์แชตกันในการทำผิดกฎหมาย ถ้าเราจะไปดูว่าเขาคุยไรกันต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่ง เมื่อศาลมีคำสั่งเราถึงจะเข้าไปดูได้ อีกอันหนึ่งถ้าผู้ให้บริการคือโอเปอเรเตอร์ที่จัดในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ให้ความร่วมมือก็ทำไม่ได้ ตำรวจทำโดยลำพังไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเอาหมายศาลนี่ไปให้ผู้ให้บริการ เพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาล เอาง่ายๆ คือ ไลน์เปรียบเสมือนถนนไฮเวย์มีรถวิ่งเต็มไปหมดเป็นพันเป็นหมื่นคันต่อวัน แล้วมีรถคันหนึ่งเป็นโจร ตำรวจคงไปดักจับรถคันนั้นคันเดียว ไม่ไปดักจับรถเป็นหมื่นเป็นพัน เราแค่จะจับโจรเท่านั้น อย่างเรารู้ว่ารถทะเบียนนี้เป็นรถผู้ร้ายวิ่งอยู่ในถนน เราก็จะโฟกัสแค่รถผู้ร้าย รถอีกตั้งเป็นหมื่นเป็นแสนเราก็คงไม่ไปยุ่งเหมือนกัน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวต่อว่า ทุกประเทศในโลกเจอปัญหาเหมือนกัน คือ การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี รูปแบบเดิมมันเป็นลักษณะของเว็บไซต์ เว็บบอร์ด ซึ่งง่ายต่อการจับกุม ง่ายต่อการตรวจสอบ แต่ภายหลังมีสมาร์ทโฟน มีแอปพลิเคชันต่างๆ นโยบายของผู้ให้บริการก็เน้นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการมากขึ้น คนร้ายจึงเห็นช่องตรงนี้จึงนำไปใช้กระทำความผิด มันเลยยากต่อการตรวจสอบ บก.ปอท.เล็งเห็นปัญหาตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนคือเหยื่อ ถ้าเราไม่สามารถช่วยเขาได้ มันก็จะมองว่าประสิทธิภาพการทำงานของ ปอท.นี่มันด้อยหรือไม่ คือ บก.ปอท.เราคงไม่คิดว่าเราจะพัฒนาประสิทธิภาพของตำรวจในการสืบสวนสอบสวนจับกุม แต่เราต้องสร้างเครือข่ายด้วยที่จะร่วมมือกัน การทำงานทางเทคโนโลยี มันจะประสบความสำเร็จไม่ได้ ถ้าปราศจากความร่วมมือ ทำโดยลำพังไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมทำไว้สำหรับวันนี้ และวันข้างหน้า

“สำหรับวิธีการตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยด้วยกัน 3 วิธี นั่นคือ 1. การรับแจ้งจากผู้พบเห็นคนกระทำความผิดโดยตรง 2. รับแจ้งจากสมาชิกแจ้งข่าวของ ปอท. ซึ่งจะทำการส่งหลักฐานมาให้ และ 3. จากตำรวจซึ่งตรวจพบว่ากลุ่มนี้อาจจะกระทำความผิด ก็จะมีวิธีการสืบสวนอย่างอื่น เช่น อาจจะปลอมตัวแฝงเข้าไปในกลุ่มไลน์ที่คาดว่าน่าจะมีการกระทำความผิด ส่วนในกรณีที่มีกระแสข่าวว่าทางญี่ปุ่นปฏิเสธว่ายังไม่ได้รับการรับการร้องขออย่างเป็นทางการนั้น เนื่องจากการหารือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงการไปพบปะเพื่อพูดคุย ทำข้อตกลงกันอย่างคร่าวๆ จึงยังไม่มีเป็นหนังสือราชการแต่อย่างใด โดยทาง ปอท.จะดำเนินการต่อไปหลังจากนี้ และปฏิเสธว่าแนวคิดเรื่องการตรวจสอบทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นหน้าที่โดยตรงของพวกตนอยู่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ บก.ปอท.มีสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แค่ตอนที่ส่งทีมไปญี่ปุ่นมันประจวบเหมาะกับช่วงการเมืองพอดี และผมจะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อให้ดีที่สุด เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เราจะพยายามอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อชี้แจงหน้าที่ที่เราทำว่าเรามีกรอบอำนาจในการทำแค่ไหน” ผบก.ปอท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น