xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฉากถกงบปี 57 วาระ 2 รวม 2.5 ล้านล้าน! กมธ.เสียงน้อยขอลดอีก ชี้เปิดช่องโกง ไร้วินัยคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบปี57 วาระ 2 รวม 2.5 ล้านล้าน เริ่ม "โต้ง" แจงปรับลด 3.1 หมื่นล้าน แต่เอาไปเพิ่มให้ 3 ส่วนราชการแทน "วัชระ" ซักมาตรา 3 แนะลดอีก 0.1% สับโครงการรัฐเปิดช่องโกงเพียบ เพื่อไทยรุมประท้วงออกทะเล "วิทยา" โต้ซัดจ้อของเก่าไล่ไปฟ้องดีเอสไอเอา ด้าน "ผ่องศรี" ขอลด 5% เหตุไร้วินัยการคลังชัด "ชัย" จี้ใช้งบค้างท่อ 1.7 แสนล้านให้หมดก่อน แฉผู้มีอำนาจเบรกข้าราชการใช้










วันนี้ (14 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น.ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวนทั้งสิ้น 2,525,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นจำนวน 2,511,576,321,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 13,423,678,300 บาท โดยมีการถ่ายทอดสดการ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 สถานีโทรทัศน์รัฐสภา และวิทยุรัฐสภา ตลอดการประชุม

จากนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ได้สรุปสาระสำคัญในส่วนรายงานของกรรมาธิการต่อที่ประชุม ถึงรายละเอียดของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่ได้รับงบประมาณรวม 463 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับงบประมาณ รวม 12 หน่วยงาน ทั้งนี้ได้ปรับลดงบประมาณลง 31,899,360,300 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของประเทศ เป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินการจริง ระยะเวลาและความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการใช้จ่ายจริงในปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างเข้มงวด ตลอดความพร้อมในการดำเนินงานอาทิ เช่น 1.โครงการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยใช้จ่ายโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ หรือเป็นโครงการที่กันเงินไว้กว่า 1 ปี 2.โครงการที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน มีความจำเป็นน้อย มีการดำเนินการที่ไม่ประหยัด เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้ประหยัด โดยยังคงเป้าหมายเดิมไว้ได้ เช่นงบอบรมสัมมา การจ้างเหมาบริการ การจ้างที่ปรึกษา และการวิจัยเป็นต้น เป็นต้น 3.โครงการที่มีผลการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด และคาดว่าไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ทันในปี 2557 หรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่เสนอไว้ 4.รายการงบประมาณที่สามารถประหยัดงบประมาณได้ เช่นการปรับครุภัณฑ์บางประเภท ตามแนวโน้มตลาดที่มีราคาลดลง 5.โครงการที่สามารถใช้เงินจากแหล่งอื่นได้ นอกเหนือจากเงินงบประมาณได้ เช่นเงินรายได้ เงินสะสม เงินทุนหมุนเวียน หรือการได้รับการจัดสรรเงินกู้ เป็นต้น

สำหรับการเพิ่มงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ตามที่ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ และรายการที่หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ เสนอคำขอแปรญัตติขอเพิ่มงบประมาณต่อกรรมาธิการโดยตรง ในวงเงินเท่ากับที่ปรับลดคือจำนวน 31,899,360,300 บาท โดยจำแนกดังนี้ จัดสรรเพิ่มให้ 1.หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 22,459,512,000 บาท เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเมือง พัฒนาศักยภาพด้านสวัสดิการสังคม ความเข้มแข็งของชุมชน แก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ป้องกันปัญหายาเสพติด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การท่องเที่ยว ศึกษา และการสาธารณสุข 2.จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,553,022,300 บาท เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการองค์บริหารส่วนท้องถิ่น ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน 3.หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ 886,825,000 บาท เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการปรับลดและเพิ่มงบประมาณ กรรมาธิการได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเป้าหมายการดำเนินงาน ผลการดำเนินการที่ผ่านมา รายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2,525,000,000,000 บาท

จากนั้นสมาชิกเริ่มอภิปรายเรียงมาตรา เริ่มจาก มาตรา 3 ในส่วนของภาพรวม นายวัชระ เพชรทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ เสนอตัดงบประมาณลดลง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากหลายนโยบายเปิดช่องให้มีการทุจริตและไม่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด ทั้งโครงการรับจำนำข้าว ที่มีการปิดกั้น ไม่ให้ตรวจโรงสี กระทรวงพาณิชย์ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา และปาล์มน้ำมันตกต่ำ นโยบายค่าแรง 300 บาทไม่ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ แม้แต่ลูกจ้างที่ทำงานในสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ยังได้รับค่าแรงเพียง 200 กว่าบาทต่อวันเท่านั้น

ทั้งนี้ย้ำว่า โดยเฉพาะงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่พบโครงการที่ส่อเค้าทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ เช่น การจัดซื้อนาฬิกาแบบดิจิตอลเรือนละ 7.5 หมื่นบาทจำนวน 200 เรือน ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทปรับปรุงห้องสื่อมวลชนสภาที่ถือว่าแพงที่สุดในโลก โครงการพาชมทุ่งดอกกระเจียว จ.ชัยภูมิ งบประมาณ 3.3 ล้านบาท ทั้งยังพบว่าในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ยังมีการตั้งงบถึง 80 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อไมโครโฟนติดตั้งในห้องประชุมสภาฯ ทั้งที่สภาพยังสามารถใช้การได้ดี

นอกจากนี้ พบว่ามีการจัดงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่รัฐสภา รวมถึงในห้องเลขาธิการสภาฯ จำนวน 40 ล้านบาท นอกจากนั้นทางสำนักเลขาธิการสภาฯ ยังใช้งบประมาณ 2.3 ล้านบาทต่อปีเพื่อจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการเก็บขยะในสภา จากเดิมที่จ้างหน่วยงานของกทม.ในการเก็บขยะซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียง 1 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายของนายวัชระ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามประท้วงว่าอภิปรายใส่ร้ายกล่าวหาผู้อื่น และไม่อภิปรายตามเนื้อหาที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้ซึ่งทำให้การอภิปรายของนายวัชระใช้เวลานาน จนประธานต้องกำชับให้นายวัชระ พูดเข้าประเด็น และขออย่าใส่ร้ายผู้อื่น

ขณะที่นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอให้มีการแปรญัตติปรับลดงบประมาณลงร้อยละ 5 โดยระบุว่า หลายโครงการที่มีการเสนอของบประมาณนั้น เป็นโครงการที่ไม่มีวินัยทางการคลังและไม่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณที่เกินกำลัง ไม่มีการคำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมือง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ชี้แจงการอภิปรายของนายวัชระ โดยระบุถึงงบที่ถูกตั้งข้อสังเกต เป็นงบประมาณที่รัฐสภาได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2555 ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณปี 2557 ซึ่งหากฝ่ายค้านพบความผิดปกติ ก็สามารถใช้ช่องทางตรวจสอบ เช่น การยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ

ด้านนายชัย ชิดชอบ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอให้ตัดออก 5 เปอร์เซนต์ ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท อยากเรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบค้างท่อ จำนวน 1.7 แสนล้านบาทใน งบปี 56 ให้หมด และอยากถามว่าระยะเหลือกอีกไม่กี่เดือนจะมีแนวทางจัดการอย่างไร หากจัดการไม่ได้ก็ขอให้เอาไปอุดหนุนโครงการรับจำนำราคาข้าว เพราะเห็นลงข่าวว่าต้องใช้ ถึง 6 - 7 แสนล้านบาท ตนว่าไม่พอแน่นอน เดี๋ยวชาวนาก็เดินขบวนอีก ตนสงสารนายกรัฐมนตรี เพราะดูแล้วคงจัดเก็บรายได้ไม่ตรงเป้าแน่นอน ดังนั้น เราต้องหาทางแก้ไขในการพิจารณาจัดงบแผ่นดิน ต้องวางกรอบทำให้ถูก

“ผมเห็นใจเห็นใจข้าราชการประจำเพราะทราบว่าอยากจะใช้ให้มันหมด แต่มีใครที่มีอำนาจสูงสุดขวางอะไรไม่ทราบ หากฝ่ายรัฐบาลขอก็จบเลย แต่ฝ่ายค้านมึงอย่าเอาไปนะ ซึ่งก็น่าเห็นใจฝ่ายค้าน”นายชัย กล่าว

ด้านนายวิทยา ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุดสำนักงบฯได้จัดสรรไปแล้ว 8 หมื่นล้าน เหลือจริงๆ คือ 9.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.8 เปอร์เซ็นต์ โดยกระจุกตัวอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย และงบกลาง

จากนั้นเวลา 16.10 น. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขออภิปรายถึงการลงทุนของรัฐบาลภายใต้งบประมาณปี 57 โดยยกโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาและสรุปแล้วว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่าการลงทุน โดยรัฐบาลพยายามปั่นตัวเลขให้สูงเพื่อให้คุณค่าการลงทุนจากการหาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) ซึ่งจะต้องมากกว่าร้อยละ12 ของการลงทุน จึงมีการปั่นตัวเลขอีไออาร์อาร์ โดยคิดมูลค่าจาก 1.ประหยัดเวลาจากาการเดินทาง 2.ประหยัดน้ำมัน 3.ลดอุบัติเหตุ 4.ลดมลภาวะ5.พัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่จะคิดเป็นตัวเงิน ร้อยละ 58 ของรายได้ทั้งหมด ทำให้อีไออาร์อาร์มากกว่าร้อยละ 12 ส่งผลให้รัฐบาลอ้างความชอบธรรมที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ นอกจากนี้ก็ยังมีการหาผลตอบแทนทางการเงิน (เอฟไออาร์อาร์) โดยคิดมูลค่าจากรายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากธุรกิจอื่นซึ่งรัฐบาลคิดเป็นร้อยละ35 ของรายได้จากค่าโยสาร ตั้งปีแรกที่เปิดให้บริการ

“การเดินทางไปหัวหินใครๆก็เดินทางโดยรถยนต์ เนื่องจากสะดวกกว่าไม่มีใครนั่งรถไฟความเร็วสูงไปหัวหิน ดูได้จากกรณีที่นายกเดินทางไปเวิร์คช้อปยังลงรถไฟที่นครปฐม เพราะการเดินทางโดยรถไฟเสียงดังทำให้การประชุมไม่รู้เรื่อง” นายสามารถ กล่าว













































กำลังโหลดความคิดเห็น