พิจารณางบฯ 57 14-15 ส.ค.นี้ มียอดรายจ่ายงบฯ กว่า 2 ล้านล้าน 5 แสนล้าน แบ่งชดใช้เงินคงคลังกว่า 1 หมื่น 3 พันล้าน กมธ.สรุป ศธ.รับงบแยะสุด เกือบ 5 แสนล้าน งบกลางรองมา ต่อด้วยงบ มท. ซึ่งเป็นกระทรวงที่ถูกตัดงบแยะสุดเกือบ 8 พันล้าน แต่ก็เป็นกระทรวงที่ ครม.แปรญัตติเพิ่มงบมากสุด 1 หมื่น 2 พันกว่าล้าน
วันนี้ (13 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ในวันที่ 14-15 สิงหาคม วงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้จำนวนทั้งสิ้น 2,525,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นเป็นจำนวน 2,511,576,321,700 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 13,423,678,300 บาท ทั้งนี้ หลัง กมธ.ได้สรุปรายการปรับลดและรายการเพิ่มงบประมาณในแต่ละส่วนราชการแล้ว พบว่าหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุด 10 อันดับแรก คือ 1. กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 482,788,585,900 บาท 2. งบกลาง 343,131,000,000 บาท 3. กระทรวงมหาดไทย 333,145,150,100 บาท 4. กระทรวงการคลัง 228,796,658,400 บาท 5. กระทรวงกลาโหม 183,819,972,100 บาท 6. กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 152,032,949,400 บาท 7. รัฐวิสาหกิจ 149,832,311,400 บาท 8. กระทรวงสาธารณสุข 106,102,910,200 บาท 9. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง 101,402,834,900 บาท และ 10. กระทรวงคมนาคม 100,577,360,100 บาท
ส่วนหน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1. กระทรวงมหาดไทย 7,863,246,900 บาท 2. กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 3,211,546,100 บาท 3. กระทรวงแรงงาน 3,136,463,900 บาท 4. กระทรวงศึกษาธิการ 2,784,146,700 บาท และ 5. รัฐวิสาหกิจ 2,441,946,600 บาท
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ ครม.แปรญัตติตั้งงบเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. กระทรวงมหาดไทย 12,253,023,300 บาท ปรับเพิ่ม 12,253 ล้านบาทในส่วน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงพัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดน ยกระดับความเข้มแข็งของชุมชน จำนวน 3,700 ล้านบาท, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จำนวน 8,500 ล้านบาท, เมืองพัทยา เพื่อปรับปรุงผิวถนน, ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 53 ล้านบาท, 2. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4,556,000,000 บาทอยู่ในส่วนของกรมพลศึกษา ในโครงการส่งเสริมกีฬา, นันทนาการ, กีฬามวลชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 2,458 ล้านบาท, กรมการท่องเที่ยว ในโครงการจัดซื้อคุรุภัณฑ์, ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 2,108 ล้านบาท 3. กระทรวงศึกษาธิการ 4,234,849,100 บาท ในส่วนของค่าตอบแทน และอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อใช้จ่ายค่าชดเชยต้นไม้และบำรุงรักษาสวนป่าทดแทน
4. กระทรวงคมนาคม 2,485,250,000 บาท ในส่วนของการพัฒนาถนนทางหลวง, ทางหลวงชนบทและบำรุงรักษาทางและสะพาน นอกจากนั้นยังมีโครงการจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย จำนวน 11 ล้านบาท และ 5.สำนักนายกรัฐมนตรี 1,553,538,000 บาท จัดอยู่ในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ โครงการพัฒนาสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษและสถานีโทรทัศน์อาเซียน จำนวน 50 ล้านบาท,สำนักเลขาธิการนายกฯ ในค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมือง จำนวน 1,500 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในโครงการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ให้สอดคล้องกับพันธกรณีและกฎเกณฑ์ของอาเซียน จำนวน 3.5 ล้านบาท
นอกจากนั้น ในส่วนของหน่วยงานรัฐสภาได้ปรับเพิ่ม 615 ล้านบาท ในส่วนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นค่าตอบแทนบุคลากร จำนวน 53 ล้านบาท, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 562 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จำนวน 451 ล้านบาท, ให้หน่วยงานวิจัยของสภา 50 ล้านบาท, ให้กรรมาธิการสามัญ 35 คณะ รวม 50 ล้านบาท ที่เหลือเพื่อใช้เป็นค่าดำเนินงาน, หน่วยงานศาล ปรับเพิ่ม 17 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการพัฒนาระบบสืบค้นด้านคดีรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน, สำนักงานอัยการสูงสุด จำนวน 304 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร, ค่าดำเนินงาน