xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้มืออาชีพฆ่า “เอกยุทธ” ติงคดีนี้ทำ ปชช.เสื่อมศรัทธา-เตือนสอบ “ไลน์” อย่าละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน(แฟ้มภาพ)
“หมอนิรันดร์” แถลงผลสอบ “เอกยุทธ” เสียชีวิต ยันไม่ได้ถูกรัดคอฆ่า ชี้ ฝีมือมืออาชีพมีการเตรียมการ ไม่ต้องการปิดบังศพ รับ ตร.ไม่ให้ความร่วมมือ แจงสอบการทำงาน ไม่ได้หาคนร้าย ญาติขอเปลี่ยนชุดทำคดี ชง ผบ.ตร.พิจารณาตาม รธน.เหตุ กสม.ไร้อำนาจ ขออย่าเร่งปิดคดี ชี้ คดีนี้ทำ ปชช.เสื่อมศรัทธา “หมอพรทิพย์” จี้ แก้ไขต้นทางสู่ความยุติธรรม กสม.เตือน ปอท.สอบ “ไลน์” อย่าละเมิดสิทธิ

วันนี้ (13 ส.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมืองในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยอนุกรรมการ และคุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ว่า ทางอนุกรรมการได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ โดยได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งญาตินายเอกยุทธ พนักงานสอบสวน แพทย์นิติเวชที่ชันสูตรศพ แพทย์ที่ตรวจสอบศพ และได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักนายเอกยุทธ เขาจิงโจ้ จ.พัทลุง ที่มีการฝังศพ รวมถึงพูดกับประชาชนที่ได้พบเห็น ทำให้ได้ข้อสรุปหลายประเด็น ซึ่งจะมีการทำรายงานเพื่อเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ประกอบด้วย 1.จากการตรวจสอบรายงานของแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพพบว่า การเสียชีวิตของเอกยุทธไม่ได้ถูกฆ่ารัดคอ หรือถูกบีบคอตามที่พนักงานสอบสวนและผู้ต้องหาระบุ แต่เป็นการถูกกระทำให้ขาดอากาศหายใจ ด้วยการใช้ท่าพิเศษ ซึ่งกระทำโดยมืออาชีพที่นอกเหนือจากผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม โดยร่องรอยบาดแผลจากการชันสูตร 3 แห่งเป็นตัวบ่งชี้ ได้แก่ บริเวณปลายจมูกมีรอยฟกช้ำ โคนลิ้นและลิ้นด้านซ้าย เนื้อเยื่อลำคอด้านขวา ซึ่งไม่พบรอยบีบรัดคอแต่อย่างใด แต่เป็นการกดบีบลำคอ กับปิดกั้นจมูกทำให้ขาดอากาศหายใจ ท่านี้ทำให้ผู้ถูกกระทำเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ยังพบบาดแผลที่หัวไหล่ขวา สะบักซ้ายด้านหลังซึ่งเกิดจากการกระทำของผู้ที่อยู่ด้านหลังนายเอกยุทธ โดย นายเอกยุทธ ต่อสู้จึงทำให้กล้ามเนื้อคอด้านหลังฟกช้ำ ดังนั้น นายเอกยุทธ จึงไม่ได้ถูกฆ่ารัดคอหรือบีบคอ ส่วนบาดแผลอีก 2 แห่ง ที่ข้อมือและส้นเท้าเกิดจากการถูกพันธนาการในบริเวณจำกัด ทำให้นายเอกยุทธไม่สามารถต่อสู้ดิ้นรนได้ 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพศพหลังเสียชีวิต ซึ่งมีการเคลื่อนศพจาก กทม.ไปพัทลุง และเคลื่อนย้ายจากเขาจิงโจ้ จ.พัทลุง มาตรวจพิสูจน์ที่ กทม.ทั้งหมดเป็นกระบวนการมีการเตรียมการชัดเจน จากผู้ชำนาญการในการฆ่าคน ไม่ใช่เรื่องของผู้ต้องหาไม่กี่คน โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ 1.การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ห่อศพ และลำเลียงศพจาก กทม.พัทลุง 2. หลังเสียชีวิตมีการถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับออก เหลือแต่เสื้อกล้ามกับกางเกงบอกเซอร์ ลักษณะการห่อศพซึ่งรัดด้วยวัสดุผูกมัด เป็นเทคนิควิธีการเฉพาะของผู้มีความรู้และความชำนาญ 3.มีความเชื่อว่าศพถูกเก็บไว้ในที่ปิดมิดชิด เช่น รถตู้ไม่เกิน 3 วัน โดยไม่พบหนอนในศพ แสดงว่าศพนายเอกยุทธถูกห่อหุ้มอย่างดี ส่วนการขุดหลุมฝังก็ไม่ลึกไม่เกิน 50 ซม.จากพื้นดิน แสดงว่าไม่ต้องการปกปิดศพ และศพอยู่ในหลุมไม่เกิน 1 วัน จึงสันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการที่มีการเตรียมการ ไม่ต้องการปิดบังศพ แต่ต้องการเปิดเผยเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

“ทั้งหมดคือสิ่งที่อนุกรรมการตรวจสอบพบ ซึ่งสอดคล้องกับแพทย์ที่พบศพเป็นคนแรกที่ จ.พัทลุง ล่าสุดญาติของนายเอกยุทธไม่เชื่อมั่นการทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพราะมีประเด็นขัดแย้งกันอยู่เดิม ในช่วงเช้าวันนี้ (13 ส.ค.) ญาติจึงได้แจ้งความต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อขอเปลี่ยนคณะพนักงานสอบสวน ทั้งนี้การตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากตำรวจให้ตรวจสอบพยานหลักฐานหลายชิ้น เช่น ไม่ให้ตรวจสอบรถตู้ โดยตำรวจยังมอง กสม.ด้วยความไม่เข้าใจ คิดว่าไปจับผิด แต่ กสม.ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ในการประสานหน่วยงานให้ปฏิบัติที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้อง ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ใช่การสอบสวนหาตัวคนร้าย แต่ตรวจสอบการทำงานของตำรวจว่าได้มาตรฐานในการบอกความจริงต่อสังคมหรือไม่ โดยจะทำรายงานเสนอต่อผบ.ตร. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 257 ซึ่งตามอำนาจของ กสม.ไม่มีสามารถบังคับหรือสั่งการตำรวจให้ต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะนำไปพิจารณาว่า ข้อเสนอของกสม.สมควรนำไปประกอบในสำนวนการสอบสวนหรือไม่ แต่ก็ไม่อยากให้ตำรวจเร่งสรุปสำนวนว่าเป็นคดีฆ่าชิงทรัพย์” นพ.นิรันดร์ กล่าว

เมื่อถามว่า เหตุใดตำรวจจึงมองข้ามหลักฐานสำคัญจากร่องรอยการห่อศพและเก็บไว้ในรถตู้ไม่เกิน 3 วัน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบนี้เป็นผลการชันสูตรของแพทย์นิติเวช แต่การที่แพทย์ผู้ชันสูตรครั้งแรกเป็นเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบ แต่ร่องรอยต่างๆ มีความชัดเจนมาก ซึ่งตำรวจควรที่จะมีการสอบสวน

นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า จากคดีของนายเอกยุทธทำให้เห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยขาดการยอมรับของประชาชนทุกสี ทุกองค์กรเกิดวิกฤตศรัทธาในความเชื่อมั่น สังคมไทยขาดหลักที่เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ด้านคุณหญิง พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า บาดแผลก่อนตายเป็นการทำให้ขาดอากาศจากภายนอก ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามคำให้การของผู้ต้องหาว่าลงมือฆ่ารัดคอผู้ตาย เนื่องจากมีร่องรอยการพันธนาการ และพบบาดแผลที่เกิดหลังการเสียชีวิต ซึ่งเข้าได้กับการห่อรัดศพ และมีสภาพให้เห็นว่ามีเสื้อจำนวนหนึ่งยังอยู่กับศพก่อนนำไปฝัง การเปลี่ยนแปลงหลังตายที่ขัดแย้งกับสภาพศพ ศพถูกฝังคว่ำหน้า แต่เน่าด้านหน้า ลำตัวด้านหลังไม่เนา และไม่มีหนอน ซึ่งทั้ง 3 จุด ถือเป็นหัวข้อสำคัญที่พนักงานสอบสวนควรรับฟัง อย่างไรก็ตาม สำหรับตนคดีของนายเอกยุทธเป็นคดีธรรมดาคดีหนึ่ง แต่สะท้อนว่า ประเทศไทยไม่เคยตระหนักว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยจึงไม่มีการพัฒนาความโปร่งใส ไม่สนใจต้นทางความยุติธรรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งคิดว่าถึงเวลาต้องแก้ไขที่ต้นทาง ถ้าไม่เก็บพยานหลักฐานอย่างดีจะไม่สามารถพิสูจน์คดีได้อย่างเป็นธรรมและจะนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงกรณีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.จะตรวจสอบคุมเข้มการแชตไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันเหตุภัยคุกคามความมั่นคงทางโซเชียลมีเดีย ว่า การใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานต้องยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการใช้อำนาจของ ปอท.ในการเข้าไปแทรกแซงการแสดงความคิดเห็นผ่าน โซเชียลมีเดีย ต้องแยกให้ออกเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิด โดยต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ให้สิทธิเสรีภาพบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 36 ที่ระบุให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ที่รัฐจะไปรับรู้หรือแทรกแซงไม่ได้ ดังนั้น ปอท.จึงต้องระมัดระวังว่าการใช้อำนาจจะต้องไม่เป็นการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการสื่อสาร รวมทั้งต้องตีความเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐให้ชัดเจน อย่างกรณีการมีหมายเรียก นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวสถานีไทยพีบีเอส มาให้ปากคำ ทั้งที่การโพสต์ข้อความของนายเสริมสุขเป็นการสื่อสารในกลุ่ม ที่มีเจตนาป้องกันไม่ให้คนตื่นตระหนก แต่ก็มีการนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาดำเนินการเอาผิด โดยตีความว่าเป็นการก่อความไม่สงบ ซึ่งหน่วยงานของรัฐ จึงต้องระวังการกล่าวหาคนที่มีความเห็นต่าง ที่กระทำด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ การจัดการโดยอ้างเรื่องความมั่นคงก็ต้องแยกให้ชัดว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล โดยเพาะในช่วงที่สังคมแบ่งฝ่ายแบ่งข้าง จำเป็นต้องดูให้เกิดความรอบคอบที่สุด ไม่ให้มีการยัดเยียดข้อกล่าวหา อย่างเช่นในอดีตที่กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยมั่นคงต่อรัฐ หรือปัจจุบันก็จะบอกว่าหมิ่นสถาบัน ผิด ม.112
กำลังโหลดความคิดเห็น