xs
xsm
sm
md
lg

"ปู-ปอท".อ้อมแอ้มสอบไลน์ “กสม.”ชี้ห้ามละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV.ผู้จัดการรายวัน - "โอ๊คอ๊าก" ชี้ ปอท.ตรวจสอบไลน์ไม่เข้าท่า พร้อมเปรียบเทียบโปรแกรมไลน์เหมือนถนนสาธารณะ ต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคล ยกเป็นสุดยอดเครื่องมือติดต่อสื่อสาร กับ "นช.ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์" "มัลลิกา "ประนาม ปอท. ปล่อยเว็บหมิ่นสถาบันฯ เพ่นพ่าน "ยิ่งลักษณ์"ปัดไม่รู้เรื่อง ด้าน ผบก.ปอท.ออกโรง อ้างขอความร่วมมือบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นในการตรวจสอบข้อมูลอาชญากร "หมอนิรันดร์" เตือนปอท. ต้องไม่ละเมิดสิทธิ ย้ำต้องแยกให้ออกระหว่างความมั่นคงแห่งรัฐ กับความมั่นคงของรัฐบาล

จากกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) มีแนวคิดจะตรวจสอบและออกกฏเกณฑ์ในการควบคุมการใช้ Line Application จริงๆ โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้น

วานนี้ ( 13 ส.ค.) นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Oak Panthongtae Shinawatra"ระบุว่าไม่เห็นด้วยครับหากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จะออกกฏเกณฑ์ในการควบคุมการใช้ Line Application จริงๆ โดยอ้างว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ

และผมก็ไม่เชื่อว่า กฏเกณฑ์นี้จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เนื่องจากตัวผมเองก็ใช้ Line และแอพฯ อื่นๆ ในการสื่อสารกับ ทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน (อาปู) และอดีตนายกรัฐมนตรี (คุณพ่อผมเอง) อยู่เกือบทุกวัน โดยที่ท่านทั้ง 2 ก็มิเคยตำหนิหรือพูดถึงแอพฯ ต่างๆ เหล่านี้ ในแง่ลบแต่อย่างใด

Application ประเภท Line นี้ ถือเป็นตัวกลางทางด้านการสื่อสารฯ ก็เหมือนถนนที่รถใช้วิ่งแหละครับ คนขับอาจใช้เพื่อประโยชน์ในการคมนาคม หรือขับเพื่อไปทำทุจริตผิดกฏหมายได้ แต่มันก็น่าจะเป็นความผิดของผู้กระทำแต่ละคน มากกว่าที่จะเหมาว่าเป็นความผิดของถนนหรือของรถวิ่งไปมาทั้งระบบ

อ่านแล้วนึกถึงตอนที่ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอว่าจะให้บล๊อค Facebook แล้วโดนชาวเน็ตรุมประนามด่า จนเสียผู้เสียคนจนทุกวันนี้นะครับ ไม่ดีเลยครับไม่ดี ตำรวจในยุคนี้ต้องเป็นมิตรกับประชาชน อย่าไปเสนอความคิดเห็นอะไรเลียนแบบ ทีมโฆษกฯ ปชป.เขาเลยครับ"

ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ออกมาขู่ว่า จะควบคุมเจาะโปรแกรมไลน์ โดยประสานงานไปยังเจ้าของโปรแกรมที่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการสกัดกั้นเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตย ซึ่งต้องถามนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นผู้ให้นโยบายต่อ ไอซีที และ ปอท. ใช่หรือไม่ หรือหน่วยงานดำเนินการเอง โดยอ้างเรื่องความมั่นคง หรือว่ามีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลสั่งการให้ดำเนินการนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ขายหน้าชาวโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการขอให้ไอซีที ไปเจรจากับเฟซบุ๊ก หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับการหาวิธีบล็อกการโพสต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

"แต่ขณะนี้ปอท.กำลังปิดหู ปิดตาประชาชน ด้วยการเจาะไลน์ของบางคนที่มีแนวโน้มเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งที่ไลน์เป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าประสานกับญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องกิจการระหว่างประเทศทันที แล้วแอพพลิเคชั่นของประเทศอื่นจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ จะตามล่าอย่างไรถึงจะทัน ลูกท่านเกิดมาเป็นตำรวจอีก 3 คนยังไล่เทคโนโลยีไม่ทันเลย แม้แต่ตัวท่านก็ยังใช้ไลน์ไม่เป็น มีโทรศัพท์ 4 เครื่อง มีไลน์ทั้ง 4 เครื่อง ไม่รู้ว่าใช้เครื่องไหนแน่ ขอประนามรัฐบาลไทยว่า กำลังทำในสิ่งที่ผิดขัดต่อหลักประชาธิปไตย ละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และในฐานะประธานชมรมไฟท์ แบด เว็บ จะร่วมกับกลุ่มนักรบไซเบอร์ ขอเข้าพบพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เพื่อขอร่วมประชุม และให้ชี้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้" รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เพราะในสมัยของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยมีความพยายามที่จะทำเช่นนี้ แต่ได้สร้างความอึดอัดให้สังคม รวมถึงความไม่ชอบธรรมต่างๆ จนทำให้เป็นชนวนเกิดปฏิกริยาต่างๆ ขึ้นมา จนในที่สุดก็สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลนั้นเอง

ดังนั้น หากรัฐบาลนี้ต้องการที่จะให้เกิดความปรองดองขึ้นจริง จะต้องไม่ทำเช่นนี้ เพราะจะเป็นการยิ่งบีบให้ฝ่ายที่คิดต่างไม่มีพื้นที่แสดงออก ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของสังคมในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ซ้ำยังสวนทางกัน จึงคิดว่ารัฐบาลนี้มีเป้าหมายที่ต้องการทำให้ประชาชนเกิดความกลัว แต่คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้สำเร็จ เพราะเคยมีการพิสูจน์มาแล้ว ในที่สุดความพยายามที่จะกดให้สังคมไทยที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาลให้อยู่ภายใต้ความหวาดกลัว จึงมั่นใจว่าทำไม่สำเร็จแน่นอน

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบเรื่องนี้ แต่ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ขอเรียนว่า เจตนารมณ์เรายังยืนยันในเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ก็คงจะทำได้ และเราเองคงไม่มองในเรื่องของความมั่นคงในด้านของแอปพลิเคชั่น แต่คงจะดูในเรื่องของบุคคลมากกว่า

วันเดียวกัน เวลา 12.30 น. พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ปัจจุบันนี้มีการกระทำความผิดผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นจำนวนมาก ทั้งเฟซบุ๊ก,ทวิตเตอร์,วอทแอพ รวมถึงไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตอนนี้ เมื่อวันที่ 5-9 ส.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ตนจึงได้ส่งทีมงานเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้กับบริษัทไลน์ คอร์เปอร์เรชั่น เพื่อเจรจาขอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด โดยขอยืนยันว่าจะไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมีแน่นอน เนื่องจากทางปอท.จะมีเครื่องซอฟแวร์ที่เป็นตัวเช็คคำที่สุ่มเสี่ยง และก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายในเบื้องต้นอยู่แล้ว โดยความผิดดังกล่าวนั้นจะเน้นเพียง 3 เรื่องเท่านั้น คือ1.ความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และประเทศชาติ 2. กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และ 3. กระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยการติดต่อขอข้อมูลในครั้งนี้เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีคนใช้ไลน์ 15 ล้านคน ตนไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เราจะดูเฉพาะคนใช้โซเชียลทำผิดกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ละเมิด ประชาชนคนไทยมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นปกติตามหลักสามัญแน่นอน และเรามีซอฟแวร์ที่ช่วยสุ่มคีย์เวิร์ดคำที่สุ่มเสี่ยง เช่น คำว่าค้าขายอาวุธปืน, ค้ายา,ค้าของปลอม,ละเมิดลิขสิทธิ์,ค้าประเวณี พวกนี้ต่างหาก ซึ่งถามว่าเราขอไปเขาจะให้หรือไม่เป็นสิทธิของเขาในการพิจารณา ไม่ให้เราก็มีวิธีตรวจสอบอย่างอื่น แต่ถ้าให้มันก็ถือว่าดีในวันข้างหน้า เป็นการช่วยเราอีกต่อหนึ่ง สำหรับกลุ่มที่จับตามองเป็นพิเศษตอนนี้มีเป็น 10 ถึงหลักร้อยที่ทางปอท.เฝ้าจับตาดูเป็นพิเศษ

“ก่อนหน้านี้ทางตนก็มีติดต่อทางผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก,ทวิตเตอร์ มาบ้างแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ซึ่งตรงข้ามกับกรณีญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มได้รับความร่วมมือที่ดีกว่า ซึ่งตนคิดว่าการกระทำความผิดขอโซเชียลมีเดียเป็นความผิดพิเศษ ไม่มีระยะเวลา ไม่มีพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือระหว่างประเทศจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะระงับความผิดเหล่านั้นได้” ผบก.ปอท.กล่าว

น.พ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีที่ ปอท. จะตรวจสอบคุมเข้มการแชตไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันเหตุภัยคุกคามความมั่นคงทางโซเชียลมีเดีย ว่า การใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานต้องยึดโยงกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการใช้อำนาจของปอท. ในการเข้าไปแทรกแซงการแสดงความคิดเห็นผ่าน โซเชียลมีเดีย ต้องแยกให้ออกเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิด โดยต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่ให้สิทธิเสรีภาพบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 36 ที่ระบุให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ที่รัฐจะไปรับรู้ หรือแทรกแซงไม่ได้

ดังนั้น ปอท. จึงต้องระมัดระวังว่าการใช้อำนาจจะต้องไม่เป็นการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการสื่อสาร รวมทั้งต้องตีความเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐให้ชัดเจน อย่างกรณีการมีหมายเรียก นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวสถานีไทยพีบีเอส มาให้ปากคำ ทั้งที่การโพสต์ข้อความของนายเสริมสุข เป็นการสื่อสารในกลุ่ม ที่มีเจตนาป้องกันไม่ให้คนตื่นตระหนก แต่ก็มีการนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาดำเนินการเอาผิด โดยตีความว่า เป็นการก่อความไม่สงบ ซึ่งหน่วยงานของรัฐ จึงต้องระวังการกล่าวหาคนที่มีความเห็นต่าง ที่กระทำด้วยการสื่อสารสมัยใหม่ การจัดการโดยอ้างเรื่องความมั่นคงก็ต้องแยกให้ชัดว่า เป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล โดยเพาะในช่วงที่สังคมแบ่งฝ่ายแบ่งข้าง จำเป็นต้องดูให้เกิดความรอบคอบที่สุด ไม่ให้มีการยัดเยียดข้อกล่าวหา อย่างเช่นในอดีตที่กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐ หรือปัจจุบันก็จะบอกว่า หมิ่นสถาบันฯ ผิด ม. 112
กำลังโหลดความคิดเห็น