xs
xsm
sm
md
lg

"ติ๊งเหล่" เมิน แนวคิดคอป. อ้างประเทศไหนๆก็ใช้นิรโทษกันทั้งนั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนพดล ปัทมะ (แฟ้มภาพ)
“นพดล” เป็นตุเป็นตะสวนแนวคิดคอป. อ้างศึกษามาดีแล้ว ชี้ข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นเรื่องรอง หลักประชาชนต้องได้รับการนิรโทษ เชื่อไม่เป็นบรรทัดฐานให้คนท้าทายกฎหมาย ยันร่างพรบ.ระบุเหตุการณ์นิรโทษชัดเจนแล้ว เหน็บไม่มีผลไปถึงอนาคตอย่างมาตรา 309

วันนี้ (9ส.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย ต้องมีการศึกษาในมิติใหม่ไม่ใช่เอาแบบอย่างในอดีตมาใช้เพราะที่ผ่านมาเป็นการนิรโทษให้ทหารและประชาชน ไม่ใช่ประชาชนกับประชาชนด้วยกันเองเพราะอาจมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมได้นั้น ว่าเราได้ทำการศึกษามาในระดับหนึ่งแล้ว โดยใช้หลักการทำให้เกิดควาปรองดองมากที่สุดเพราะที่ผ่านมาประชาชนที่ต่อสู้กับทหารก็ได้รับการนิรโทษ อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่แม้ปัจจุบันเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นการต่อสู้ของประชาชน แต่ทุกคนทุกสีทุกส่วนที่กระทำความผิดจากการชุมนุมก็ยังได้รับการนิรโทษกรมอยู่ เพราะวันนี้ต้องมองการนิรโทษในแง่ที่ให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ทำยังไงให้เริ่มต้นกันใหม่ได้ ซึ่งเข้าใจว่านักวิชาการอาจมองในแง่เทคนิคทางกฎหมายที่มีความแตกต่างกันอยู่ แต่เชื่อว่าเรื่องเทคนิคเป็นเหตุผลลำดับรองเพราะวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้ประชาชนที่กระทำความผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงปี 2549-2553 ได้พ้นโทษนั้นๆเพื่อลดความขัดแย้งของบ้านเมืองเหมือนกัน

เมื่อถามถึงความกังวลของหลายฝ่ายที่เกรงว่าประชาชนจะไม่กลัวต่อกฎหมายเพราะเมื่อทำผิดก็จะได้รับการนิรโทษกรรม นายนพดล กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะในอดีตกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการนิรโทษกรรม ก็ไม่เห็นว่ามีใครจะกลับมาฆ่าคนอีก โดยส่วนตัวเชื่อว่าร่างพรบ.นิรโทษกรรมนี้คงจะไม่กลายเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมไม่ยำเกรงต่อกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะร่างพรบ.ดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้ตามเหตุการณ์ทางการเมืองที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ไม่มีผลต่อเนื่องไปยังอนาคต ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ที่ระบุการนิรโทษครอบคลุมไว้ตั้งแต่การกระทำในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

อย่างไรก็ตาม นายนพดลกล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่ครั้งแรกในโลกเพราะไม่ว่าประเทศใดก็ตามที่มีปัญหาการเมืองก็ต้องใช้วิธีนี้เพื่อลดความขัดแย้งในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น