xs
xsm
sm
md
lg

SCB ลดเป้าจีดีพีปีนี้โตแค่ 4% เหตุบริโภค-ส่งออกฟุบ กด ดบ.ลงปลายปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ปรับประมาณการเศรษฐกิจยกแผง จีดีพีเหลือโต 4% จาก 5.1% ส่งออก 3.7% จากเดิม 7% ระบุ 3 ปัจจัยหลัก บริโภคหดหลังรถคันแรกดึงกำลังซื้อ-ส่งออกหดหลังศก.จีนชะลอ-โครงการรัฐที่ล่าช้า และอาจเป็นแรงกดดันให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลง ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนยังต้องจับตา โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ต่ำกว่าหนึ่งหมื่น

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(EIC) กล่าวว่า EIC ได้ปรับประมาณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เป็น 4.0% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 5.1% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้าออกไป และการส่งออกที่เติบโตต่ำกว่าคาด จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยประเมินการส่งออกเติบโต 3.7% จากเดิม 7%

"การบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงมาจากหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีช่องว่างในการใช้จ่ายลดลง และจีนเข้ามาเป็นปัจจัยซ้ำและส่งผลกระทบค่อนข้างมากเพราะเป็นตลาดหลัก ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในปลายปีนี้และต้นปีหน้าก็ล่าช้าออกไปอีกที่เรามองว่า 7 หมื่นล้านก็ไม่ได้ และในปีหน้าหากล่าช้าออกไปอีกจากจีดีพีปีหน้าที่เราคาดการเติบโตไว้ที่ 4.9% ก็จะลดลงจากส่วนนี้ 0.5%"

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายนั้น ในช่วงไตรมาส 3 น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 2.50% และมีโอกาสที่จะปรับตัวลงได้อีก 0.25% ในช่วงปลายปี หากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออกชะลอตัวมากจนส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าการส่งออกในช่วงปลายปีน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกหากเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรปกระเตื้องขึ้นบ้างตามที่คาดไว้

"แบงก์ชาติไม่ได้มีเครื่องมือในเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว หากต้องการลดดอกเบี้ยก็จะมีเครื่องมืออื่นๆในการดูแลหนี้ครัวเรือน ซึ่งก็ต้องดูรายละเอียดว่าหนี้ที่ขยายตัวขึ้นเป็นกลุ่มไหน
ก็พบว่าเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อรถยนต์ การบริโภค และบ้าน ซึ่งสินเชื่อบ้านขยายตัวต่ำสุด ขณะที่สินเชื่อรถยนต์เติบโตสูงสุดเนื่องมาจากโครงการรถยนต์คันแรก แต่ก็น่าจะชะลอลงเมื่อหมดโครงการ และอีกส่วนที่ขยายตัวมากก็คือสินเชื่อบุคคล ดังนั้น หากจะมีมาตรการใดๆมาดูแลก็น่าจะเป็นส่วนนี้"

ชี้หนี้ครัวเรือนจับตากลุ่มรายได้ต่ำกว่าหมื่น

นางสาวสุทธาภากล่าวอีกว่า หนี้ภาคครัวเรือนที่ 80%ของจีดีพีนั้น ก็ถือว่าสูง แต่ตัวที่ต้องดูควบคู่กันไปด้วยเป็น ภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือน ซึ่งตัวเลขล่าสุดปี 2011 ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 52% แล้วตอนนี้ก็คงจะเพิ่มขึ้นอีก นับเป็นตัวเลขที่ต้องจับตา ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 10,000 บาท มีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระ 25% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้ ขณะที่หนี้สินโดยรวมของทั้งประเทศนั้น เป็นส่วนของหนี้ครัวเรือน 80% หนี้ภาคธุรกิจ 65% และหนี้ภาครัฐ 45% รวม 190% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ยังบริหารจัดการไดั

ด้านเงินทุนต่างประเทศนั้น จากที่มีความผันผวนค่อนข้างมาในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นผลมาจากความตื่นตระหนกที่สหรัฐฯจะลดวงเงินในมาตรการ QE ทำให้เงินทุนไหล ซึ่งในช่วงครึ่งหลัง ก็คงจะยังมีเงินทุนไหลออกอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่ผันผวนมากนัก โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสม

สำหรับปัจจัยทางด้านการเมืองที่คาดว่าจะมีความร้อนแรงขึ้น หลังจากที่มีข่าวว่าจะมีนำพรบ.นิรโทษกรรมเข้าสู่สภาฯนั้น นางสาวสุทธาภากล่าวว่า ประเทศไทยเคยผ่านสถานการณ์นี้มาหลายครั้ง เชื่อว่าภาคธุรกิจต่างๆคงจะมีการปรับตัวได้ ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่หากกระทบถึงด้านนโยบายด้านการลงทุนของภาครัฐที่จะทำให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น