xs
xsm
sm
md
lg

“ปธ.สภา นสพ.” แนะ “เสริมสุข” ปฏิเสธข้อหาลือปฏิวัติ เตือน ปอท.จับมั่วเข้าข่ายกลั่นแกล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยัน บก.ไทยพีบีเอส โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ข่าวลือปฏิวัติไม่ผิด ชี้ขยายความว่าไม่เห็นด้วย ไม่ครบองค์ประกอบ เตือนตำรวจกลั่นแกล้งผู้อื่นผิดอาญา จับพิรุธออกหมายจับทันทีไม่อาจยอมรับได้ แนะเจ้าตัวปฏิเสธใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ สู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ

วันนี้ (5 ส.ค.) นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูกกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เตรียมแจ้งข้อกล่าวหา หลังจากระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้กระทำความผิดในการโพสต์ข้อความที่เป็นเท็จ ในเรื่องของการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาล เพื่อชี้นำให้ประชาชนตื่นตระหนกโดยการกักตุนอาหารและน้ำ อีกทั้งยังโพสต์ข้อความที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง ระบุว่า ไม่ว่าคำสั่งแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังพนักงานสอบสวน ที่ระบุความผิดของนายเสริมสุข จะมาจากผู้ใด แต่ตนมีความเห็นทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ยืนยันว่าคุณเสริมสุข ต้องปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในครั้งนี้ทุกกรณี และยืนยันว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ใช่บุคคลใด โดยมีเหตุผล ได้แก่

1.ความผิดที่พนักงานสอบสวน ใช้เป็นฐานในการเตรียมแจ้งข้อหากับนายเสริมสุข คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 11(2) ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าข้อความใดที่นายเสริมสุขโพสต์จะเป็นความผิด เพราะเป็นการอ้างถ้อยคำจากแผ่นปลิว ซึ่งนายเสริมสุข ขยายความต่อมาว่า เขาไม่เห็นด้วย กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบ คือทั้งเจตนาภายนอกในการแสดงออกซึ่งข้อความ และเจตนาภายในในการแพร่กระจายข้อความอันจะกระทบต่อความมั่นคง

2.เมื่อมีความชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และโดยสามัญสำนึกพนักงานสอบสวนย่อมรู้ดีว่ากรณีมิใช่การกระทำความผิด กรณีจึงน่าจะเป็นตรงกันข้าม คือพนักงานสอบสวนกำลังกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 คือการกระทำที่จะแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งกฎหมายต้องการคุ้มครองผู้สุจริต เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าคิดว่า ผู้ถูกกระทำจะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองในเรื่องนี้ได้หรือไม่ อย่างไร

3.พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับ กรณีที่มีหมายเรียกสองครั้งแล้ว ผู้ต้องหายังไม่ได้มารายงานตัว และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงจะไปขออำนาจศาลออกหมายจับ แต่อาการลุกลี้ลุกลน คล้ายจะออกหมายจับในทันทีโดยยังไม่มีเหตุตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ และไม่ควรปฏิบัติตามอำนาจที่ไม่ชอบธรรม

4.หากพนักงานสอบสวน ยืนยันที่จะทำตามหน้าที่ ก็ขอให้มาสอบสวน ณ ที่ทำการของผู้ต้องหา ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ทนายความ และเพื่อนสื่อมวลชน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้


กำลังโหลดความคิดเห็น