xs
xsm
sm
md
lg

Thailand only! กด “Like” ข่าวลือ คือ “อาชญากรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังข่าวลือเรื่องรัฐบาลจะปฏิวัติตัวเองถูกแพร่ออกไปทั่วโลกออนไลน์ ผู้ถูกลือก็ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้ จนกลายมาเป็นปรากฏการณ์ไล่ล่าหาตัวมือโพสต์ให้ระบาดไปทั่วเฟซบุ๊ก สรุปรายชื่อล่าสุดได้ 4 ราย จึงจับมาเชือดไก่ให้ลิงดู คาดโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสน
เด็ดกว่านั้นยังประกาศกร้าวว่า “ผู้ที่กดไลค์และกดแชร์ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน” ขู่ประชาชนคนใช้เน็ตออกนอกหน้านอกตาได้ขนาดนี้ บอกจะไลค์จะแชร์อะไรให้ระวัง!! เห็นทีว่าคงมีเพียงประเทศนี้ประเทศเดียว... Thailand Only!!





เชือดไก่ 4 ราย เหตุโพสต์ “ลือปฏิวัติ”
“พวกเขาได้โพสต์ข้อความที่เป็นเท็จในเรื่องของการปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาล ชี้นำให้ประชาชนตื่นตระหนก กักตุนอาหารและน้ำ ทั้งยังโพสต์ข้อความที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จากการพิจารณาเนื้อหาแล้ว ไม่มีมูลความจริง และถ้าปล่อยให้เผยแพร่ออกไป จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ประกาศกร้าว แถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่าจะออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง

คาดโทษเบื้องต้นให้เจ้าของ account บนเฟซบุ๊กทั้ง 4 รายเอาไว้เรียบร้อย คือมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) เรื่องการนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้กระทบต่อความมั่นคง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนรายนามผู้ถูกแจ้งจับคือผู้ที่ใช้ชื่อบนเฟซบุ๊กว่า Warunee Khamduangsri, Yo Onsine, ปุ๊ชลบุรี นักสู้ธุลีดิน และ Sermsuk Kasitipradit

หนึ่งในไก่ที่ถูกเชือดจากเหตุการณ์นี้คือ เป็ปซี่-เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง ประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เกิดอาการงงเต็กว่าโพสต์ของตนไปมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศได้อย่างไร เพราะตั้งใจโพสต์เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ร่วมกับเพื่อนๆ อย่างที่เคยทำทุกครั้งเมื่อเกิดประเด็นในสังคมที่น่าสนใจขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหาร สถานการณ์ภาคใต้ แม้กระทั่งเรื่องการเมือง เรื่องในกองทัพ เขาพูดคุยเรื่องพวกนี้ผ่านโซเชียลมีเดียเป็นประจำอยู่แล้ว


สถานการณ์ล่าสุดก็เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนหนึ่งทำให้ผู้คนตื่นตระหนกตกใจว่าบ้านเมืองเกิดอะไรขึ้น ต้องใช้กฎหมายตัวนี้ต่อการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ซึ่งชี้ชัดว่าไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร แต่รัฐบาลเห็นว่าต้องประกาศสถานการณ์ตรงนั้น จึงเป็นที่มาของข่าวลือที่เกิดขึ้น และข่าวลือนี้เองที่เขาเอามาโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กจนกลายเป็นเรื่อง หากอ่านให้ดีจะรู้ว่าเขาไม่ได้ส่งต่อข่าวลือนี้เพื่อชักชวนให้หลงเชื่อหรือยุยงให้แตกตื่น แต่แค่วิเคราะห์เอาไว้ว่า ส่วนตัวแล้วไม่เชื่อข่าวลือเรื่องการปฏิวัติต่างหาก


ส่วนสาเหตุที่เขาไม่เชื่อข่าวลือว่าจะทำปฏิวัติตัวเองได้ เพราะมองว่าถ้าจะมีการปฏิวัติตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะต้องเอาด้วย ไม่เช่นนั้นก็ทำลำบาก และในสถานการณ์เหล่านี้ เชื่อว่าผู้นำกองทัพไม่น่าที่จะเห็นชอบกับแนวคิดที่จะปฏิวัติตัวเองอย่างที่มีข่าวลือออกมา ส่วนที่บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกล้าทำหรือไม่ ในสถานการณ์ตรงนั้น ก็เขียนแซวไปว่ากล้าหรือ? เพราะในช่วงที่มีอำนาจอยู่ ตอนนั้นก็ยังโดนปฏิวัติ

สรุปแล้ว การโพสต์บอกว่ามีข่าวลือเรื่องของการปฏิวัติตัวเองนั้น เขาแค่ต้องการเขียนอธิบายว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าผู้บัญชาการทหารบกไม่เอาด้วย “แต่ถ้าไม่ได้อ่านเฟซบุ๊ก ถ้าไม่ได้อ่านข่าวก็ตื่นตกใจว่าเราไปโพสต์ข่าวลือ หรือยุยงให้มีการปฏิวัติรัฐประหารอย่างที่ตำรวจตั้งข้อสังเกต”




สื่อนอกตกใจ “ไลค์” ในไทยผิดกฎหมาย
“ผู้ที่กดไลค์และกดแชร์ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงขอเตือนให้พี่น้องประชาชนไตร่ตรองในการใช้สื่อออนไลน์ให้รอบคอบ” คำประกาศิตจาก ผบก.ปอท. ที่ปิดท้ายไว้เพียงสั้นๆ เล่นเอาสั่นสะเทือนสังคมยกใหญ่ทีเดียว เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่กดไลค์และแชร์ข่าวลือในครั้งนี้จากผู้ถูกคาดโทษทั้ง 4 ท่าน อาจต้องเตรียมตัวรับชะตากรรมเดียวกัน คือ “มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 1 แสนบาท” จากความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) เรื่องการนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทำให้กระทบต่อความมั่นคง

แม้แต่สำนักข่าวเอพี (The Associated Press) สำนักข่าวใหญ่ระดับโลกยังตื่นเต้นกับปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยในกรณีนี้ จนต้องหยิบไปพาดหัวข่าว Thai police summon Facebook users over coup-rumor posts, threaten to jail people for 'Liking'

ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมไหน การออกมาเตือนประชาชนเรื่องการกดไลค์กดแชร์ก็สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย อย่างที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า “ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เขายอมให้ออกกฎกติกาแบบนี้มาควบคุมคนหรอกครับ”


ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะมันไม่เคยมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับนี้มาก่อน การพิมพ์ข้อความเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ มันได้ผ่อนคลายลงมามากแล้ว เพราะแต่ละคนรู้ว่าทำแล้วต้องรับผิดชอบกันเอง แต่การที่หน่วยงานออกมาประกาศแบบนี้ มันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะสื่อสารกับสังคมอย่างชัดเจน ผมคิดว่ามันเป็นการกระทำที่เกิดกว่าเหตุ อาจจะละเมิดสิทธิของประชาชน”


ถ้าพิจารณากันจริงๆ พฤติกรรมการ “ไลค์” ก็มีหลายความหมายในตัวเอง “บางคนอาจจะต้องการแสดงความเห็นด้วย บางคนก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แค่ไลค์เพราะคิดว่าประเด็นที่โพสต์ที่แชร์กันมันเป็นประโยชน์ อยากไลค์ให้กำลังใจคนส่งข่าวมา จะได้หยิบประเด็นนั้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป


การไลค์มีส่วนสร้างสรรค์สังคมนะผมว่า ทำให้คนในสังคมได้คิดได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ใช่ไปวิจารณ์กันลับหลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่โปร่งใส ผมเชื่อว่าการกดไลค์แบบนี้ก็ดีแล้ว แต่การไปห้ามและบอกว่าคนกดไลค์จะมีความผิดไปด้วยเนี่ย มันแสดงให้เห็นว่าคนที่ออกกฎหรือออกมาพูด อาจจะไม่ได้คิดหรือคิดน้อยไป มันไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยครับ”


แต่ถือว่ายังไม่สิ้นหวังเกินไปนัก เพราะ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ช่วยเติมรายละเอียดเอาไว้ว่า ถึงแม้การไลค์จะเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับผู้โพสต์จริง แต่ก็ต้องดูที่ “เจตนา” และพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ส่วนรายละเอียดกระบวนการทำงานนั้น กระทรวงไอซีทีไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ระบุความผิดทางโลกออนไลน์โดยตรง เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล แต่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) คือหน่วยงานผู้ตรวจสอบและพิจารณาว่ามีความผิดทาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ ถ้ามีความผิดร้ายแรง เจ้าหน้าที่จะเสนอนิติกรกระทรวงไอซีที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายพิจารณาขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีไอซีที เพื่อขออำนาจศาลออกคำสั่งปิดเว็บเพจของผู้โพสต์ตามลำดับ




กด “ไลค์” ไม่ใช่ “อาชญากรรม”
ระหว่างที่ผู้ถูกคาดโทษและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังควานหาหลักฐานเพื่อเตรียมสู้คดีกันอย่างชุลมุน เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเสรีภาพออนไลน์และคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็ปล่อยบทความนี้ออกมาทันที “กด Like ไม่ใช่ อาชญากรรม” ซึ่งเป็นบทความที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อเสนอแนะแนวให้กระทรวงไอซีทีหันมาทบทวนมาตรการการจัดการทางออนไลน์ แต่ดูเหมือนว่าวันเวลาที่ผ่านไปจะไม่ช่วยให้การทำงานของรัฐบาลเพิ่มความยุติธรรมขึ้นมาบ้างเลย โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “การไลค์” และ “การแชร์”

เริ่มจากเรื่องการไลค์กันก่อน ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตเห็นว่า โซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก” มีซอฟต์แวร์เฉพาะซึ่งทำการคัดเลือกเนื้อหาและลิงก์ เพื่อแสดงในหน้าเว็บกลาง (วอลล์: wall) และหน้าส่วนตัว (โปรไฟล์: profile) โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอนุมัติหรือรับรู้ อีกทั้งการคัดเลือกดังกล่าวพิจารณาจากองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถควบคุมวิธีได้ และผู้ใช้เฟซบุ๊กจะทราบกันดีว่า ซอฟต์แวร์ของเฟซบุ๊กนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

“การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ”

ส่วนเรื่องการแชร์ ทางเครือข่ายอยากให้ลองเปรียบเทียบประเทศที่มีกฎหมายปกป้องสิทธิพลเมือง เช่น แคนาดา ศาลพิพากษาว่าการแบ่งปันลิงก์ (แชร์) ไม่นับเป็นการสร้างหรือเผยแพร่เนื้อหา และไม่ต้องถูกระวางโทษ เพราะเนื้อหาในลิงก์อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยที่ผู้ที่แชร์ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้แชร์จึงถูกปกป้อง ไม่ต้องรับผิด

แต่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายยังคงตีความว่าการแชร์คือการเผยแพร่ข้อมูลและต้องรับผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“การทำลิงก์ ส่งลิงก์ และเผยแพร่ลิงก์ เป็นหัวใจสำคัญของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมโยงในเครือข่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีลิงก์ การทำให้การแบ่งปันลิงก์เป็นอาชญากรรม จึงเป็นการขัดขวางหลักการพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ” ทางเครือข่ายจึงขอยืนยันว่าทั้งการกดไลค์และกดแชร์ ไม่ใช่อาชญากรรม

คล้ายกับความคิดเห็นของ ดร.เพิ่มศักดิ์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองไม่เห็นว่าการกดไลค์จะเป็นอันตรายใดๆ

เรื่องนี้ ถ้าสู้กันในทางกฎหมายจริงๆ ผมคิดว่าไม่มีทางจะเอาผิดคนที่กดไลค์ได้ ผมยังมองไม่เห็นว่าช่องทางการกดไลค์แบบไหนจะเป็นอันตรายเลย แต่ถ้าแชร์ก็อีกเรื่องหนึ่ง การเอาข้อความของคนอื่นมาผลิตซ้ำ มันอาจจะมีส่วนทำให้เกิดการเผยแพร่ แต่ไลค์เราไม่ได้ไปเผยแพร่ข้อความอะไร เพียงแต่เราเห็นว่าข้อความนี้มันสำคัญ เราอาจจะชอบหรือสนใจ เราก็แสดงออกไปตามนั้น มันก็ไม่น่าจะผิดอะไร แล้วทางกฎหมายจะเอาผิดยังไง”

จากเหตุการณ์นี้อาจจะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งระมัดระวังตัวเองมากขึ้นในการจะโพสต์ ไลค์ หรือแชร์ อะไรบนโลกออนไลน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากภาครัฐจนเกินขอบเขต ตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร และการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตใจ ส่วนเรื่องที่จะเอาผิดกับผู้โพสต์ข่าวลือนั้น สุดท้ายคงต้องดูกันที่การตัดสินของศาล เพราะกระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด หากผู้ที่ถูกแจ้งจับพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ผิด ก็อาจมีสิทธิฟ้องกลับ

และเรื่องการโพสต์แสดงความคิดเห็นในประเด็นการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว แต่พักหลังๆ โซเชียลมีเดียได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้ใช้แพร่หลายมากขึ้น จึงอาจทำให้รัฐบาลหันมาจับตามอง

“อยากให้ลองนึกถึงสื่ออื่นดูบ้าง ทีวีบางช่อง วิทยุบางคลื่น ชวนกันไปชุมนุมโจ่งแจ้งยิ่งกว่าในโซเชียลมีเดียอีก ยิ่งกว่ากดไลค์กดแชร์อีก แถมด่าทอด้วยคำพูดที่หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดมให้คนไปกระทำการรุนแรง ทำไมไม่เห็นไปจับ อันนั้นเป็นความผิดโดยสำเร็จแล้วด้วย ทำไมไม่ดำเนินการทางกฎหมาย เพราะงั้น กดไลค์กดแชร์เรื่องการเมืองในเฟซบุ๊กก็ไม่น่าจะมีผลอะไรกันมากมายเหมือนกัน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
“เสริมสุข” ยันโพสต์เรื่องปฏิวัติแค่วิเคราะห์ข่าวลือ เชื่อ ปอท.อ่านไม่หมด-ท้าถามเพื่อนในเฟซบุ๊ก 

โพสต์ต้นเหตุ

คำเตือนจากเจ้าของโพสต์ ระวังก่อนไลค์และแชร์ หลังเกิดเหตุ
สื่อนอก ประโคมข่าว Like ในไทยผิดกฎหมาย
เชือดไก่ 4 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น