xs
xsm
sm
md
lg

เสวนานิรโทษ แนะเบรกเข้าสภา “วรชัย” ไม่สน! โวโพลหนุนเกินครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เสวนานิรโทษฯ “ส.ว.วีรวิท” ถามรัฐแน่ใจหรือปล่อยผีแล้วปมขัดแย้งไม่เกิด “ถาวร” แนะเดินตามหลัก คอป.ค้นหาความจริง ยันหนุนอภัยพวกลหุโทษ แย้มกระชากหน้ากากชายชุดดำ “วรชัย” ไม่สนโวโพลหนุนเกินครึ่ง แหลสุดๆ อ้าง “สนธิ” ไม่ได้ต้าน “โคทม” แนะ 2 พรรคไปคุยกันก่อนในชั้น กมธ.ผสมฉบับอื่นยำด้วย “ศุภชัย” แนะชะลอก่อน จวกเอาใครเป็นตัวตั้ง แฉโจกแดงหวังอานิสงส์ “แม่เกด” ย้ำไม่เอาเหมาหมด “อดุลย์” ค้านใช้ กม.มั่นคงคุมม็อบ “นิชา” ส่ง จม.แจงแทน

วันนี้ (1 ส.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “นิรโทษกรรม…ทำเพื่อใคร?” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมนักข่าวฯ และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มีวิทยากรเข้าร่วม ได้แก่ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติ วิธี มหาวิทยาลัยมหิดล นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 รวมทั้ง นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และนางพะเยาว์ อัคฮาค ญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง เม.ย.-พ.ค.53

โดย พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า ตนขอถามว่า หากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ได้รับความเห็นชอบและมีการประกาศใช้ มีหลักประกันได้อย่างไรว่าจะไม่มีเหตุการณ์เหมือนกับตอนปี 53 อีก แล้วรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้น

“ชีวิตใครหรือญาติใครทุกคนก็รักหมด แต่ลองนึกว่าหากเป็นญาติท่านอยู่ดีๆ เดินมาเสียชีวิตจะทำอย่างไร ก่อนสภาจะตรากฎหมายนี้ ในชั้นเข้าวุฒิสภา ผมจะถามว่ารัฐบาลแน่ใจได้อย่างไร หรือมีมาตรการอะไรที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเหตุความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่เกิดขึ้นอีก” พล.อ.อ.วีรวิท ระบุ

พล.อ.อ.วีรวิท ยังได้ตั้งข้อสังเกตการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.เพื่อรับมือกับการชุมนุมของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯของรัฐบาลในครั้งนี้ จะเป็นการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานของรัฐบาลเลยหรือไม่ เงื่อนไขในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ระบุว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาวนาน แต่กลับประกาศแค่ 10 วัน หมายความว่ารัฐบาลจะใช้มาตรฐานนี้ตลอดใช่หรือไม่

ด้าน นายถาวร กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยคัดค้านการนิรโทษกรรม หรือการสร้างความปรองดอง แต่จะคัดค้านการนิรโทษกรรมความผิดบางประเภทเท่านั้น ซึ่งทางพรรคได้เสนอให้ถอนกฎหมายปรองดองที่อยู่ในรัฐสภาออกมาก่อน จากนั้นมาตั้งหลักแล้วเดินตามแนวทางของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และสถาบันพระปกเกล้า ในการค้นหาความจริงเสียก่อน นอกจากนี้ การออกกฎหมายต้องคืนความเป็นธรรมในสิ่งที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม และการนิรโทษกรรมต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แต่วันนี้ยังไม่มีความเห็นชอบกันจากทุกฝ่าย

“รัฐบาลเคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าสนับสนุน คอป.แต่หลังจาก คอป.เสนอแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ รวมทั้งการทำนิรโทษกรรม ถามว่ารัฐบาลได้ทำตามนั้นหรือไม่ เมื่อพิจารณากฎหมายที่อยู่ในสภา ก็ยังไม่ทำ ดังนั้น เมื่อยังไม่ทำแล้วจะนิรโทษกรรมเพื่อใคร มีใครสั่งมา” นายถาวร กล่าว

นายถาวร กล่าวด้วยว่า การนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง ประชาชนที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารประเทศในสถาการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่นำมาอ้างนั้น มีโทษเล็กน้อย แค่ลหุโทษ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือแค่เสียค่าปรับตามฉบับประชาชนที่นำโดยนางพะเยาว์ เหล่านี้เราเห็นด้วย นอกเหนือจากนั้น หากเราให้เขาได้รับการนิรโทษฯ แล้วผู้เสียหายที่ลูกเสียชีวิต สามีเสียชีวิต เขาจะทราบความจริงได้อย่างไร เมื่อไม่มีกระบวนการค้นหาความจริงแล้ว เรื่องการนิรโทษกรรมไม่ใช่เอาขยะมาซุกใต้พรมแล้วเลิกกันไป

“การหาความจริงของ คอป.คือเหตุรุนแรงเกิดจากชายชุดดำที่ส่งไปฝึกที่กัมพูชาและส่งมาก่อเหตุ โดยขณะนี้เกิดเหตุหักหลังกันเรื่องค่าจ้างและกำลังจะเปิดโปง โดยเราจะได้รู้ความจริงเร็วๆนี้ และได้กระชากหน้ากากของผู้ที่บอกว่าไม่มีชายชุดดำ” นายถาวร กล่าว

ขณะที่ นายวรชัย ในฐานะเจ้าของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการพิจารณาโดยสภาในวันที่ 7 ก.ค.นี้ กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายที่ตนเสนอนั้น จริงๆ เนื้อหาสาระมีนิดเดียว ใจความสำคัญมีอยู่ 2 มาตราเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ตนเสนอกฎหมายฉบับนี้ เพราะในสถานการณ์ทางการเมือง ในฐานะที่ตนผ่านกระบวนการต่อสู้มายาวนานพอสมควร เห็นการชุมนุมทางการเมืองหลายเหตุการณ์ ตนเห็นว่าการกระทำของทั้งสองข้างมาตลอดระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชน แล้วทุกคดีที่มีการฆ่าจนมีผู้เสียชีวิต ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยได้รับโทษ และประชาชนตายฟรีมาตลอด

“ที่บอกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถูกต่อต้านนั้น จริงๆ เรื่องดังกล่าวแสดงออกมาที่โพลแล้ว ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้มีการนิรโทษกรรม แล้วเขามองข้ามเลยชอตที่ผมเสนอด้วย เขาบอกให้เหมาเข่งทั้งหมดด้วย นี่คือความรู้สึกประชาชน พันธมิตรฯเป็นฝั่งที่คัดค้านมาตลอด แต่วันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เขาก็ไม่ต่อต้าน แต่คนที่ต่อต้านคือพรรคประชาธิปัตย์ ไปผ่าความจริงทุกที่ คัดค้านทั้งในและนอกสภา ไม่ใช่มวลชนที่ต่อต้าน ถ้าเป็นมวลชนก็เป็นมวลชนที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ออกมาต่อต้าน” นายวรชัย กล่าว

นายโคทม กล่าวว่า อยากให้พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์คุยให้เข้าใจตรงกันในหลักการเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเฉพาะหากวันที่ 7 ส.ค.ผ่านวาระแรก ก็ให้ไปคุยกันในชั้นกรรมาธิการว่ากลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับการนิรโทษควรเป็นกลุ่มใด จากนั้นในวาระ 2-3 ค่อยมาหารือรายละเอียดว่าจะนิรโทษกรรมอย่างไร จึงอยากจะเสนอว่าควรนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติวีรชน และฉบับอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาร่วมกัน และเห็นว่าการนิรโทษกรรมควรแบ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมทางการเมือง คือตั้งแต่ พ.ค.49 ของกลุ่มพันธมิตรฯ และเหตุการณ์ พ.ค.53 รวมถึงต้องหารือเกี่ยวกับการรวมหรือไม่รวมกับกลุ่มบุคคลที่กระทำความผิดคดีความมั่นคง และมาตรา 112 หากดำเนินการตามนี้ได้จะนำสู่ปรองดองสมานฉันท์

นายศุภชัย ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย ในเนื้อหาไม่ต่างจากร่างอื่นๆ ที่มีการเสนอกันก่อนหน้านี้ ดังนั้น หากไม่ต่างแปลว่า ร่างนายวรชัย เป็นเพียงร่างผ่อนคลายความรู้สึกของพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่ง แปลว่าทั้งหมดคือเรื่องการเมือง ทั้งนี้ ตนยอมรับว่านิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งทำให้ลดเงื่อนไขความขัดแย้ง อาจก่อให้เกิดความปรองดอง แต่คิดว่าเรื่องนิรโทษกรรมแม้จะเป็นกลไกที่นำไปสู่การปรองดอง แต่หากจะใช้ต้องคำนึงเหตุการณ์ เวลา สถานการณ์ และกระบวนการ แต่วันนี้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บความมั่นคงฯ แสดงว่าเริ่มไม่เหมาะสมในการที่จะพิจารณา ตนจึงคิดว่าการพิจารณาจึงควรรอไว้

นายศุกชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หลักการสำคัญเรื่องนิรโทษกรรมจะต้องไม่ออกมาแล้วกระทบต่อสิทธิบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น แม่น้องเกด นางนิชา หิรัญบูรณะ ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ควรจะได้รับรู้เรื่องราวที่แท้จริงว่าญาติของเขาเสียชีวิตจากฝีมือใคร จะต้องไม่มีผลกระทบต่อเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต่างประเทศขอคำว่าอภัย แต่บ้านเมืองเรายังไม่มีเลย จึงขอตั้งคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัยเอาบุคคลเป็นตัวตั้งหรือไม่ เพราะการนิรโทษกรรมจะต้องไม่นิรโทษกรรมให้ตัวเอง การบอกว่ายกเว้นผู้มีอำนาจสั่งการนั้น ถามว่าคำนิยามคืออะไร ไปๆ มาๆ ผู้สั่งการอาจเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ คนเดียวก็ได้ เพราะวันนี้มีคนเริ่มปฏิเสธแล้วว่าไม่ใช่แกนนำ

“ขอถามว่าใครที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ แล้วจะตอบประชาชนที่รักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างไร คุณไปเอากฎหมายอะไรมาเป็นหลัก ดังนั้น ควรจะต้องคุยกันให้เยอะก่อน การที่วันดีคืนดีมีเสียงข้างมากแล้วจะออกกฎหมายล้างผิดให้ทั้งหมด โดยบอกว่าเป็นนิติรัฐ นิติธรรม กฎหมายเป็นใหญ่ แต่กฎหมายเป็นใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายนั้นถูกต้อง ทำให้บ้านเมืองสงบ การพิจารณาตอนนี้จึงไม่เหมาะสม” นายศุภชัย กล่าว

จากนั้น นางพะเยาว์ มารดา น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 กล่าวว่า ที่มาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาติผู้เสียชีวิต เป็นเพราะที่ผ่านมาเราคิดว่าหลังจากรัฐบาลนี้ขึ้นมาบริหารประเทศแล้วจะจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่ปีแรก แต่ผ่านมา 3 ปี ประชาชนที่อยู่ในเรือนจำกลับต้องทุกข์ทรมาน ตนเห็นว่าแต่ละร่างที่เคยเสนอกันมาถ้าเหมายกเข่งตนจะประท้วง เพราะไม่เห็นด้วย เนื่องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 มีการฆ่าประชาชนกลางเมือง ถือเป็นบทเรียนที่ร้ายแรง รวมทั้งหลักฐานทุกอย่างมีเพรียบพร้อมว่าใครเป็นผู้กระทำ ขณะที่กระบวนการยุติธรรมก็เดินหน้าไปมาก

“หากจะเสนอกันให้หมดความขัดแย้งนั้น การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะต้องแตกต่างกับการนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 หรือพฤษภาทมิฬปี 35 เพราะในปี 53 มีความแตกต่างกัน คู่กรณีแตกต่างกัน ในปี 53 มี 4 คู่กรณี ได้แก่ รัฐบาล กองทัพ นปช.และประชาชน มีการตายต่อเนื่องโดยไม่รู้สาเหตุ หากจะเหมายกเข่ง แล้วยกเว้นผู้สั่งการและแกนนำนั้นคงไม่ใช่ ต้องแยกแยะให้เด่นชัด” นางพะเยาว์ ระบุ

นางพะเยาว์ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ได้ข่าวว่ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตนคัดค้านทันที พอมาถึงร่าง นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศทางสื่อว่าจะนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่มแรกๆ ตนก็ดีใจ แต่เมื่อมาค้นดูปรากฏว่ามีการนิรโทษกรรมทหารและตำรวจด้วย ซึ่งตนยอมไม่ได้ เท่ากับจะนิรโทษกรรมเหมาทั้งหมด ตนจะไม่ยอมให้นิรโทษกรรมทหารทั้งหมด และต้องแยกแยะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้หากร่างประชาชนได้มีส่วนเข้าสภา อาจเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่ลดความขัดแย้งได้ ร่างของประชาชนจะมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งบรรเทาเบาบางลง

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของนายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ น้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์กระชับวงล้อม เมื่อวันที่ 15 พ.ค.53 กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาตผู้เสียชีวิต หลักการของเราคือ ขยายฐานครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด การกระทำผิดต่อชีวิตเราไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ใครได้ เพราะไม่มีใครเอาชีวิตใครมาคืนให้กันได้ ส่วนกรณีความผิดต่อทรัพย์ของเอกชน ในอดีตที่ผ่านเวลารัฐเป็นคู่กรณี ประชาชนเป็นผู้เสียหายอยู่แล้ว จึงควรนิรโทษกรรมเรื่องนี้ แต่คงสิทธิกับเอกชนที่จะสามารถไปฟ้องร้องทางแพ่งได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่เกินกว่าเหตุเราจะไม่นิรโทษกรรม เช่นเดียวกับผู้มีอำนาจสั่งการเราก็จะไม่นิรโทษกรรม

“ส่วนการกระทำของผู้มีอำนาจสั่งการ หรือแกนนำ เรามองว่าแกนนำคือประชาชนคนหนึ่ง แต่เมื่อขึ้นมาเป็นแกนนำแล้วต้องรับผิดชอบ โดยจะต้องนำแกนนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อไปดูว่ามีการยั่วยุปลุกปั่นละเมิดต่อชีวิตผู้อื่นหรือไม่ ทำให้เอกชนเสียทรัพย์หรือทรัพย์สินของราชการเสียหายหรือไม่” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ในช่วงสุดท้าย นายอดุลย์ ประธานกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ที่บอกว่าประชาชนเห็นด้วยให้เหมาเข่งนั้น จริงๆ ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเหมาเข่ง ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น หากก่อให้เกิดการแตกแยกทำไมเราไม่หยุดไว้ก่อน แล้วให้สังคมตัดสิน การโยนเข้าไปในสภาด้วยเสียงข้างมาก ทำได้แน่นอน แต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งที่จะบานปลายเข้าไปอีก แต่หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนเข้าไปเราสามารถกำหนดเวลาให้ทุกพรรคมาคุยกันก่อนได้ หากทุกคนเห็นด้วยก็ทำให้จบไปทีเดียว 3 วาระก็ได้

“ขอเรียกร้องให้ชะลอหรือหยุดไว้ก่อน และผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่รู้ตำรวจคิดอย่างไรกับการควบคุมม็อบ แทนที่จะส่งเสริมให้เขาชุมนุมด้วยสงบ อารมณ์คนจะได้ลดลงได้ แล้วบ้านเมืองจะปรองดองได้อย่างไร และเมื่อประกาศใช้เราก็ขอร้องว่าอยากจะให้ดูแลผู้ชุมนุมอย่างอะลุ้มอะล่วย” นายอดุลย์ ระบุ

มีรายงานว่า ในส่วนของ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว เมื่อปี 53 ซึ่งได้ตอบรับเป็นวิทยากรด้วย แต่ไม่ได้เดินทางมาร่วมในการเสวนา เนื่องจากติดขั้นตอนขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา คือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมตรี ที่ติดภารกิจอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แต่ได้ส่งเอกสารคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ปราศจากการสำนึกผิดมาจำนวน 3 แผ่น มาให้







กำลังโหลดความคิดเห็น