xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกสมยศ” นำเพื่อน มธ.แต่งชุดนักโทษ จี้นิรโทษฯ รวมผิด ม.112 เว้นบิ๊กทหาร-แกนนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน นำเพื่อน นศ.นามธรรมศาสตร์เสรีเพื่อ ปชต. แต่งชุดนักโทษยื่นเสนอกลุ่มล้างผิดผ่าน “ค้อนปลอม” อ้างรัฐประหารทำสังคมขัดแย้ง จนมีการจับกุม ปชช.จาก พ.ร.บ.มั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ม.112 แนะล้างผิดจากเหตุทางการเมือง ชี้บรรเทาความยุติธรรมที่ผิดพลาด เว้นทหารระดับสูง แกนนำ ให้ทุกฝ่ายที่ชงล้างผิดร่วม กมธ. พร้อมเร่งนิรโทษฯ เยียวยาผู้เสียหาย

วันนี้ (1 ส.ค.) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุตรชายนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นสถาบัน พร้อมด้วยนักศึกษาอีกประมาณ 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แต่งตัวชุดนักโทษ เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอของกลุ่มในประเด็นการนิรโทษกรรมฯ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนของกลุ่มฯ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีใจความว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น สังคมไทยก็ได้กลับเข้าสู่วงจรความขัดแย้งรุนแรง เหตุดังกล่าวทำให้มีการจับกุมประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยก้าวพ้นความสูญเสียและความขัดแย้ง ทางกลุ่มเห็นว่า การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำผิดเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมืองจึงเป็นที่จำเป็นและเร่งด่วน โดยไม่รวมถึงแกนนำหรือบุคคลที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรง ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมก็เปรียบเสมือนยาที่ช่วยบรรเทาความล้มเหลวจากกระบวนการยุติธรรม เพราะขณะที่ประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีในมูลเหตุดังกล่าว กลุ่มคนเหล่านั้นกลับไม่สามารถได้รับสิทธิสำคัญในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังถูกละเมิดสิทธิทางร่างกาย และในอนาคตเมื่อพ้นผิดตามกระบวนการนิรโทษกรรมแล้ว รัฐเองก็ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถเยียวยากลุ่มคนดังกล่าวให้กลับไปมีชีวิตดังเดิม

ตัวแทนของกลุ่มได้แถลงต่อไปว่า จากเหตุดังกล่าวกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย จึงขอแสดงจุดยืนและเสนอความคิดเห็นตามหลักการของกลุ่ม 4 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1. ไม่นิรโทษกรรมให้แก่ทหารระดับสั่งการและผู้นำฝ่ายพลเรือน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดสถานการณ์ที่บานปลายอันนำไปสู่ความสูญเสียร่างกายและชีวิตต่อประชาชน และบุคคลอีกกลุ่มที่จะไม่เข้าองค์ประกอบการนิรโทษกรรมก็คือทหารระดับปฏิบัติการที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุหรือปฏิบัติตามคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา

2. สนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเสนอร่างกฎหมายการนิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการโดยตรงเพื่อถกเถียงในขั้นตอนของการออกกฎหมาย ทั้งนี้ กระบวนการการตั้งคณะกรรมาธิการ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เนื่องจากปัจจุบันหลายๆฝ่ายต่างก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้มีการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาหลายฉบับจนทำให้เกิดความขัดแย้งกันเอง ดังนั้น จึงสมควรให้ผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวทุกคนเข้าไปมีส่วนในการประชุมคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายดังกล่าว 3. สนับสนุนให้กระบวนการนิรโทษกรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด ในเมื่อเห็นพ้องต้องกันว่าบุคคลใดไม่สมควรได้รับโทษ บุคคลนั้นก็สมควรที่จะพ้นจากสภาพนักโทษอย่างเร็วที่สุด เพราะถ้ามีการดำเนินการล่าช้าจะทำให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวยังจะต้องสูญเสียอิสรภาพ โอกาสในการทำมาหากินและการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และ 4. ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น รัฐจะต้องมีมาตรการเพื่อเยียวยาแก่ความเสียหายทั้งผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมและครอบครัวอย่างเหมาะสมด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น