ผลการประชุม ศปก.กปต.ให้ผู้ออกหมายเรียกคดีอาญา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบตัว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศชต.จ่อลดพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง “เฉลิม” ยกบทวิเคราะห์ส่วนตัว 10 ประเด็นเสนอที่ประชุม รับฟังข้อเรียกร้อง “บีอาร์เอ็น” เดินหน้าคุย 13 มิ.ย.
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขธิการสภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศปก.กปต.เป็นประธานในที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ไม่ได้รับความธรรมเป็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ที่ถูกออกหมายเรียกทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ ป.วิ อาญา เข้ามามอบตัวกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หรือ ศชต.ที่จะมีการประสานงานร่วมกัน ไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ ซึ่งการแสดงตนนี้สามารถเริ่มได้ตั้งแต่บัดนี้ แต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาแสดงตนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามโครงการของกองทัพ ภาค 4
“ตอนนี้หมายของทหารกับตำรวจมีข้อมูลตรงกันแล้ว ซึ่งแต่ละหมายมีประมาณพันราย อย่างหมายจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีประมาณพันนิดๆ ส่วน ป.วิ อาญาก็มากกว่านิดหน่อย” พล.ท.ภราดร กล่าว
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า เรื่องต่อมา รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะลดระดับพื้นที่จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลดเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน ที่ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางจังหวัด และ ศอ.บต.มีการประสานประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยมาตรการที่ใช้ต้องยึดเสียงในพื้นที่เป็นหลัก ถ้าให้น้ำหนักพื้นที่ใด เราจะดำเนินการพื้นที่นั้นเป็นหลักก่อน ซึ่งเบื้องต้นได้พื้นที่มาทุกจังหวัดแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย คือทางจังหวัด ศอ.บต.และ กอ.รมน.หารือร่วมกันเพื่อตกผลึกว่าจะประกาศพื้นที่ใด
“เบื้องต้นมีทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด จังหวัดละสองอำเภอ แต่ในขั้นต้นอาจไม่ไปลดถึงขนาดนั้น อาจเป็นอำเภอใดอำเภอหนึ่งก่อน แต่ตอนนี้รอการยืนยันจาก กอ.รมน.อีกครั้ง” พล.ท.ภราดร กล่าวและว่า ซึ่งฝ่ายทหารได้ด้วยกับหลักการ แต่ขอความชัดเจนจากการยืนยันจากประชาชนในพื้นที่ว่าจะร่วมมือกันลดเหตุความรุนแรง และมีความปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อเจ้าหน้าที่มีความมั่นใจจะดำเนินการให้ทันที
เลขาฯ สมช.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ร.ต.อ.เฉลิม ได้นำบทวิเคราะห์ส่วนตัว 10 ประเด็นถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นมาให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งที่ประชุมก็รับมาพิจารณา ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็นนั้น ที่ประชุมเห็นว่าแข็งตัวไปนิด แต่เมื่อเขาอ้างว่ามาจากประชาชนเราก็ต้องรับฟังไว้ และเมื่อมีการสืบสภาพและวิเคราะห์แล้วก็จะนำไปหารือกับคณะพูดคุยกันต่อไป ซึ่งตอนนี้ ศอ.บต.กำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่มีรายงานแจ้งกลับมา
ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอให้มีการเจรจาทางลับนั้น พล.ท.ภราดร ชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติคณะพูดคุยมีหลักการอยู่แล้วที่จะสามารถตั้งคณะย่อยที่จะดำเนินการต่างๆ แต่ในชั้นต้นอยู่ในขั้นตอนพิจารณาที่ยังใช้คณะหลักในการพูดคุย แต่ต่อไปจะมีการพิจารณาในการดำเนินการลักษณะนั้นเมื่อการพูดคุยมีการพัฒนาไปสู่การไว้วางใจกันมากขึ้นก็น่าจะมีรูปแบบในการพูดคุยคู่ขนานกัน ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ได้มีการเสนอชื่อคณะทำงานที่จะทำหน้าที่ในการประสานงานในพื้นที่จำนวน 9-10 คน ที่เบื้องต้นได้รายชื่อครบแล้ว รอเพียงการออกคำสั่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังเห็นพ้องต้องกันในการเดินหน้าพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกครั้งในวันที่ 13 มิ.ย.ขณะเดียวกันมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ก็ต้องเข้มข้นควบคู่ขนานกันไป