xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งกว่าทวิภพ! เปิดเนื้อหาแถลงการณ์พรรคร่วมฯ หนุนนิรโทษกรรม นำประเทศกลับสู่อดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุขกันเถอะเรา เพื่อไทยจัดงานเลี้ยงสังสรรค์พรรคร่วมรัฐบาลชื่นมื่น หลังออกมติพรรคร่วมฯ หนุนพรรคเพื่อไทยเดินหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม เนื้อหาสุดโลกสวย อ้างยกโทษประชาชนสองฝ่ายเท่าเทียม นำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต คนในชาติรักสามัคคี ยันไม่รวมผู้มีอำนาจในการสั่งการ

วันนี้ (31 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อเวลา 17.30 น.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 ส.ค.โดยในการประชุมมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รองนายกรัฐมนตรี ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และนายนิกร จำนง อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เข้าร่วมประชุม

ต่อมาในเวลา 18.00 น.นายจารุพงศ์ ได้แถลงผลการประชุมโดยอ่านแถลงการณ์ถึงมติของพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า จากสภาพปัญหาสังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย ทำให้เกิดการกระทำและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นผลให้เกิดการดำเนินคดี ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต่างมีความต้องการที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว ต้องการเห็นคนในสังคมไทยมีความปรองดอง สมานฉันท์ ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มีทั้งถูกจำคุก ไม่ได้ประกันตัว และหลบหนี ส่งผลให้เผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก ขาดความเป็นอิสระ พลัดพรากจากครอบครัว และสูญเสียอาชีพการงาน และบางส่วนยังมีผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัว เกิดสภาพบ้านแตกหรือเป็นภาระที่ทำให้การดำเนินชีวิตของครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในสังคม

นายจารุพงศ์ ระบุต่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าว คือการให้โอกาสประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ประเทศไทยมีบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมาแล้ว (การปฏิวัติ การสลายการชุมนุม) ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความไม่เข้าใจกัน การให้โอกาสประชาชนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาโดยการให้อภัยทุกฝ่ายไม่ใช้ความอาฆาตแค้น

ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... (ร่างของนายวรชัย เหมะ และคณะ) โดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกันซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

นายจารุพงศ์ ระบุอีกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ และคณะ มีหลักการคือ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ “ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น”

นายจารุพงศ์ ระบุด้วยว่า เมื่อสังคมมีความสงบสุข ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสของประเทศในการเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยมีความมั่นคง หลังจากเราสูญเสียโอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลานาน ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพนำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต เกิดความรัก ความสามัคคีกัน ของคนในชาติ อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าจะไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าประชุมในวันที่ 1 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขถ้อยคำใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในชั้นของกรรมาธิการ สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องเน้นที่ประชาชนเท่านั้น แกนนำที่มีอำนาจสั่งการจะไม่ได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ ซึ่งผู้ที่จะตีความว่าบุคคลนั้นเป็นแกนนำหรือมีอำนาจสั่งการหรือไม่นั้น คืออัยการและศาลยุติธรรม จะตรวจสอบผู้เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.จากผู้ที่มีคดีอยู่แล้ว หากไม่เข้าข่ายก็ต้องยุติในการดำเนินคดี

เมื่อถามว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินมายังเวทีจะเข้าข่ายเป็นแกนนำที่มีอำนาจสั่งการในการชุมนุมหรือไม่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า อยู่ที่อำนาจในการตัดสินใจและสั่งการ ไม่ได้ขึ้นเวทีแล้วจะโดนทั้งหมด ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะต้องผ่านการพิจารณาของทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการเร่งรัดและพิจารณาด้วยความรอบคอบที่สุด

จากนั้น พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้ชื่องาน “ประสานมือ ประสานใจ สร้างประชาธิปไตยและปรองดอง” โดยมีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.เข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส เชียงใหม่, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ, นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี ฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานนที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล, นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา, นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา, นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ฐานะหัวหน้าพรรคพลังชล ทั้งนี้พบว่า นายชัยวัฒน์ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ที่ถูก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ขับออกจากสมาชิกพรรค และ ส.ส.พรรภูมิใจไทย กลุ่มมัชฌิมา อาทิ นางนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท มาร่วมงานดังกล่าวด้วย

โดยบรรยากาศงานดังกล่าวเป็นอย่างชื่นมื่น แม้จะมี ส.ส.มาร่วมกันอย่างบางตา คาดว่าเป็นเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน เนื่องจากไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ โดยเจ้าภาพได้จัดเลี้ยงอาหารเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ มีอาหารญี่ปุ่น จำพวก ปลาดิบ, ซูชิ, เกาเหลา-ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่, ขนมจีน พร้อมเครื่องดื่มต้อนรับ นอกจากนั้นได้นำวงดนตรีจากรายการตีสิบ ช่วงดันดารามาขับกล่อม ในเวลา 20.00 น.นายสมชาย จะขึ้นเวทีกล่าวกับผู้ที่มาร่วมงาน

อนึ่ง สำหรับเนื้อหาแถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ส่งให้แก่สื่อมวลชน มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

แถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเรื่อง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

สภาพปัญหา

• สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย ทำให้เกิดการกระทำและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นผลให้เกิดการดำเนินคดี ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

• ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต่างมีความต้องการที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว ต้องการเห็นคนในสังคมไทยมีความปรองดอง สมานฉันท์

• ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มีทั้งถูกจำคุก ไม่ได้ประกันตัว และหลบหนี ส่งผลให้เผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก ขาดความเป็นอิสระ พลัดพรากจากครอบครัว และสูญเสียอาชีพการงาน และบางส่วนยังมีผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัว เกิดสภาพบ้านแตกหรือเป็นภาระที่ทำให้การดำเนินชีวิตของครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในสังคม

แนวทางแก้ไข

• พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือการให้โอกาสประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

• ประเทศไทยมีบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมาแล้ว (การปฏิวัติ การสลายการชุมนุม) ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความไม่เข้าใจกัน การให้โอกาสประชาชนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาโดยการให้อภัยทุกฝ่ายไม่ใช้ความอาฆาตแค้น

• พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... (ร่างของนายวรชัย เหมะ และคณะ) โดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

• การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

ทำความเข้าใจพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม

• พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ และคณะ มีหลักการคือ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ

• คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ “ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น”

ผลที่ได้รับ

• เมื่อสังคมมีความสงบสุข ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสของประเทศในการเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยมีความมั่นคงหลังจากเราสูญเสียโอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลานานซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ

• นำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต เกิดความรัก ความสามัคคีกัน ของคนในชาติ

พรรคเพื่อไทย
พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคชาติพัฒนา
พรรคพลังชล

1 สิงหาคม 2556






















กำลังโหลดความคิดเห็น