ที่ประชุม กก.บห.ปชป.มีมติไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองประกบ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ถอน 6 ร่างในสภาออกไป ชี้แค่ซ่อนรูปล้างผิดให้คนก่อการร้าย ทุจริต ทำผิดคดีอาญา ยัน “อลงกรณ์” เห็นด้วยทุกประการ “ชวนนท์” ร้องรัฐหยุดความรุนแรง เผย ส.ส.เคลื่อนไหวนอกสภาเป็นสิทธิแต่ละคน
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง โดยมีความเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลมีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ที่ประชุมจึงมีมติยืนตามมติพรรคเดิมว่าให้รัฐบาลพิจารณาถองร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 6 ฉบับออกจากสภา หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ยินดีที่จะหารือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำเสนอสิ่งที่จะนำประเทศไปสู่ความปรองดองทั้งในแง่กฎหมาย และกระบวนการต่างๆ เพราะการเสนอกฎหมายปรองดองควรจะได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ต่างคนต่างเสนอแล้วไปสร้างความขัดแย้งในสภา
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่ากระบวนการที่รัฐบาลทำในขณะนี้ไม่ได้นำไปสู่การปรองดองที่แท้จริง แต่เป็นการซ่อนรูปล้างผิดให้คนก่อการร้าย ทุจริต ทำผิดคดีอาญา ซึ่งจะทำให้แกนนำคนเสื้อแดงหลุดจากความผิดทั้งหมด จึงมีมติไม่เสนอร่างกฎหมายประกบ จนกว่ารัฐบาลจะถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้งหมดออกจากสภา ซึ่งนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ก็เข้าใจ และเห็นด้วยกับแนวทางนี้ทุกประการ
“หลักการเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองของ นายอลงกรณ์นั้นตรงกับหลักการของหัวหน้าพรรคแล้วว่า ร่างของประชาชนที่มีการแบ่งแยกฐานความผิดตรงกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องมีการเพิ่มเติมในเรื่องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการนิรโทษกรรม รวมทั้งคดีอาญาต่างๆที่ต้องเขียนให้รัดกุมมากขึ้น แต่เมื่อพรรคเคยมีมติอย่างนี้ และรัฐบาลก็ยังไม่ถอนร่างเก่าออกไป ก็ไม่มีเหตุผลใดที่พรรคต้องกลับมติ หรือเสนอร่างประกบ” นายชวนนท์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอของนายอลงกรณ์ถือว่าจบไปหรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า นายอลงกรณ์ก็ยอมรับมติพรรคเดิมอยู่แล้ว และไม่มีความขัดแย้งอะไร และจะไม่มีการใช้สิทธิ ส.ส.เสนอกฎหมายในสภา เพราะ ส.ส.ในพรรคเคารพมติของพรรคอยู่แล้ว ส่วนการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 31 ก.ค.นี้จะเป็นการหารือถึงแนวทางการดำเนินงานในสภาว่ารัฐบาลมีแนวทางเช่นนี้ หากดึงดันที่จะเสนอร่างก็จะพาประเทศไปสู่ความขัดแย้ง พรรคจะมีแนวทางที่จะปฏิเสธแนวทางรัฐบาลอย่างไรบ้าง
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวการในการปลุกม็อบไปล้อมสภาเพื่อไม่ให้มีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมนั้น นายชวนนท์กล่าวว่า ไม่มีจริง เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และประชาชนก็มีสิทธิ์แสดงออกถึงกฎหมายล้างผิดที่จะละเมิดระบบนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ และขณะนี้บริเวณหน้ารัฐสภาก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงไปล้อมแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลทำตัวให้เห็นมาตรฐานเดียวกับผู้ชุมนุมทุกฝ่าย ส่วนที่ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดจัดเวทีปราศรัยก่อนที่จะเปิดสภานั้น เดี๋ยวจะมีการหารือกันอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าในการประชุม ส.ส.พรรคในวันที่ 31 ก.ค.นี้จะมีความชัดเจนขึ้น แต่ในเบื้องต้นเรามีความกังวลว่าการที่มีมวลชนหลายฝ่ายมาชุมนุมที่รัฐสภาจะมีการพัฒนาไปสู่ความรุนแรง จึงอยากย้ำว่ารัฐบาลมีทางเลือกที่จะหยุดความรุนแรง และมาหาทางออกของกฎหมายที่จะนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าหากไม่สามารถขวางกฎหมายปรองดองในสภาได้ ส.ส.ของพรรคจะถอดสูทและออกมาเคลื่อนไหวกับภาคประชาชนนอกสภา นายชวนนท์กล่าวว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ซึ่งการคัดค้านในสภาก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง การแสดงออกของภาคประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหาก ส.ส.จะไปร่วมชุมนุมนั้น ตราบใดที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนก็ถือเป็นสิทธิของบุคคล ซึ่งพรรคยังไม่มีมติเรื่องนี้