กมธ.วิฯ งบปี 57 ถกงบ สตช. 87,051 ล้าน ฝ่ายค้านห่วงงบปราบค้ามนุษย์ได้น้อย-ยาเสพติดระบาดเพิ่ม-จุ้นโยกย้ายตำรวจ ด้าน ผบ.ตร.แจงคนละเรื่อง จ้อโรงพัก-แก้ใต้-ม็อบแทน “วัชระ” แถลงลับหลังจวกไม่แปลกใจใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมเหตุไม่ถอดยศ “นช.แม้ว” ไม่คาดหวังสอบจริยธรรม “คำรณวิทย์” เตือนอย่าสองมาตรฐานดูแลม็อบหน้าสภาวันเสียงปืนแตก งงเลขาฯ สภา ไม่ส่งเอกสารจัดซื้อแจง จ่อยื่น ป.ป.ช.ฟันโกงแน่
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มีนายวิทยา บุรณศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งยังเป็นการพิจารณางบประมาณส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงต่อเนื่อง โดยพิจารณางบประมาณในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 87,051,059,033 บาท โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าชี้แจงถึงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรว่าจะนำไปถวายความปลอดภัยสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และบุคคลสำคัญ บังคับใช้กฎหมายอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนด้วยความเสมอภาคตามหลักธรรมาภิบาล รักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและชุมชน รวมทั้งช่วยการสร้างเครือข่ายชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาของสังคม โดยยึดประชาชนเป็นหลัก เพื่อพัฒนาประเทศตามนโนบายรัฐบาล
ขณะที่กรรมาธิการฝ่ายค้าน แสดงความเป็นห่วงงบประมาณที่จัดสรรบางแก้ปัญหาบางส่วนไม่เหมาะสมกับงาน เช่น งบประมาณเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นปัญหาสำคัญนานาชาติให้ความสำคัญได้รับการจัดสรรเพียงกว่า 54 ล้านบาท ซึ่งต้องการทราบว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไรเพื่อไม่ให้นานาชาติขาดความเชื่อมั่น และส่งผลต่อการกีดกันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด พร้อมเรียกร้องเกี่ยวกับการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ โดยไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสม พร้อมเสนอตัดงบร้อยละ 30 เพราะมีแหล่งอบายมุขจำนวนมาก โดยเฉพาะตู้ม้าที่พบว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันเป็นห่วงการซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจระดับสูง
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงสรุปว่า โครงการโรงพักที่มีปัญหาได้สั่งระงับกับบริษัทคู่สัญญาแล้ว ส่วนกรณีการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ในรายละเอียดของเรื่องขอมอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง ส่วนการดูแลการชุมนุมที่จะมีขึ้นระหว่างการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อย
ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้แถลงว่า กรรมาธิการฯ หลายคนได้ซักถามถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีความตกต่ำมากที่สุดในยุคนี้ เนื่องจากไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ โดยเฉพาะประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างหรือขัดแย้งกับรัฐบาล มักถูกทำร้าย ทำลายทรัพย์สิน ตลอดจนคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจและอดีตเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ รวมถึงการทำร้ายร่างกายนายภิญโญ พงษ์เจริญ นายกสมาคมโหราศาสตร์ ตลอดจนการทุบทำลายรถยนต์ของผู้สื่อข่าว เป็นต้น แต่ ผบ.ตร.ไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้
นายวัชระกล่าวว่า นอกจากนี้ยังถามเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผบ.ตร.ต้องทำตามกฎหมาย ล่าสุดขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบความเห็นไปยัง สตช.ว่า สามารถถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ ดังนั้น ถ้า ผบ.ตร.ไม่ทำก็เท่ากับละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
“เราไม่แปลกใจที่ทำไม ผบ.ตร.คนนี้ถึงนิ่งเฉย เพราะหลังรับตำแหน่งท่านก็ไปพบคนที่จะต้องถอดยศ จึงเป็นที่มาของการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันได้ จึงไม่ต้องคาดหวังกับการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินให้สอบจริยธรรม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ที่ไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีติดยศให้ เพราะขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เชื่อว่า สตช.คงช่วยเหลือกัน กรรมธิการฯ ได้ฝากให้ตำรวจดูแลประชาชนผู้จะมาชุมนุมที่สภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค.ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ขอให้ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสีให้เท่าเทียมกัน อย่าเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐาน” นายวัชระกล่าว
นายวัชระกล่าวว่า ในการประชุมงบประมาณของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องส่งเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างมาให้คณะกรรมาธิการฯ ภายในเวลา 12.00 น. วันที่ 25 ก.ค. แต่ปรากฏว่านายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่ส่งเอกสารมาให้คณะกรรมาธิการฯ ดังนั้นตนจะส่งข้อมูลเอกสารที่เชื่อว่าการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการส่อไปในทางไม่โปร่งใส และเชื่อว่าจะมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยจะส่งเอกสารไปยัง ป.ป.ช.ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง พร้อมนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย