ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) ชี้ เก้าอี้ผู้อำนวยการโรงเรียนดังออกนอกระบบ ส่อเค้าถูกซื้อล่วงหน้าด้วยตัวเลขที่สูงกว่าในอดีตที่จ่ายกันเป็นวงเงิน 7-8 หลัก แต่ระบบใหม่เอื้อประโยชน์ ทั้ง “ผู้บริหาร-กรรมการสถานศึกษา” ร่วมวงไพบูลย์กันได้ง่ายและมากกว่า จับตาวิธีการถอนทุนคืนของบรรดาผู้บริหาร “จ่ายมาก-ถอนมาก” ทั้งเงินหลวงและผู้ปกครองอ่วมแน่ ด้านประธานเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ สุดทน หลังยื่นคัดค้านต่อกระทรวงศึกษาไร้ผล เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนโยบายการศึกษา “เพื่อไทย” เป็นเท็จ!
ผลจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะดำเนินโครงการ “โรงเรียนนิติบุคคล” โดยประกาศรายชื่อโรงเรียนนำร่องออกนอกระบบในปีการศึกษา 2556 เป็นชุดแรก จำนวน 58 โรงเรียน ซึ่งล้วนแต่เป็นโรงเรียนดังที่ผู้ปกครองเกือบทุกคนใฝ่ฝันต้องการให้ลูกมีที่นั่งในโรงเรียนดังกล่าว จนเป็นเหตุให้มีกระแสข่าวปรากฏให้เห็นเกือบทุกปี ว่า โรงเรียนดังกล่าวเรียกเก็บเงินแปะเจี๊ยะต่อหัวสูงเป็นหลักแสนบาท
โดยทีมข่าว Special Scoop ได้นำเสนอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปกครองและนักเรียนหลังโรงเรียนออกนอกระบบเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในเรื่อง “จุฬาฯ-ภาคีฯ” ชี้ คนจนหมดสิทธิ์เรียน 58 ร.ร.ดัง ศธ.ดันออกนอกระบบ-แปะเจี๊ยะ “BID” หลักล้านขึ้น! ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนนิติบุคคลเหล่านี้จะมีกระบวนการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดการคัดกรองเด็กจนเหลือเพียงแค่ลูกคนมีเงินเท่านั้นที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนนิติบุคคลได้
ทั้งนี้ เพราะในหลักการของโรงเรียนนิติบุคคล เอื้อให้ผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษามีสิทธิ์เต็มที่ในการออกนโยบายระดมทรัพยากรต่างๆ ตลอดทั้งปี เช่น ในรูปแบบของการเปิดห้องเรียนหลักสูตรพิเศษ อาทิ Mini English Program เป็นต้น ทำให้ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าการศึกษาเด็กในราคาสูงขึ้น โดยยังไม่นับรวมถึงเงินบริจาคเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสเข้าไปนั่งในโรงเรียน
แต่ในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอถึงรูปแบบและกระบวนการที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรในระดับบริหารของโรงเรียนออกนอกระบบ ซึ่งกำลังจะแปลงสภาพเป็นธุรกิจการศึกษาเต็มตัว และใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งผู้บริหารจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร และเมื่อเข้าไปครองอำนาจแล้ว การคืนทุนจะตามมาในรูปแบบใด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้เท่าทันนโยบายแปรรูปธุรกิจการศึกษาในครั้งนี้!
“ผู้อำนวยการ-กรรมการสถานศึกษา” ผูกขาดอำนาจบริหาร
ประเด็นแรกที่ประชาชนต้องจับตามอง คือ การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนดัง หลังจากออกนอกระบบ โรงเรียนนิติบุคคลจะมีอิสระในการสรรหาบุคลากรด้วยตนเองอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะถูกบิดแข่งขันกันสูงยิ่งกว่าราคาเก้าอี้นักเรียนหรือไม่?
โดยกรณีนี้ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการกลุ่มภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของชาติ (ภตช.) บอกว่า หากเทียบกับในอดีต การซื้อขายตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจต้องซื้อล่วงหน้า เพราะหลังจากโรงเรียนออกนอกระบบแล้วจะเกิดระบบผูกขาดอำนาจขึ้นระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนและกรรมการสถานศึกษา
“ผู้ที่ได้อานิสงส์จากการออกนอกระบบ คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ระหว่างนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนดังที่กำลังจะเป็นโรงเรียนนิติบุคคลจะวางฐานอำนาจไว้ตั้งแต่ก่อนออกนอกระบบ เพื่อให้ตนสามารถกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารได้อีกเรื่อยๆ เมื่อออกนอกระบบแล้วจะมีการแต่งตั้งกรรมการสถานศึกษา หรือสภาโรงเรียน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะเป็นผู้เลือกกรรมการสถานศึกษา และกรรมการศึกษาที่ถูกเลือกเข้ามาก็มีหน้าที่ในการเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนเช่นเดียวกัน”
ดังนั้น การบริหารโรงเรียนนิติบุคคลในอนาคตจะเป็นระบบผูกขาด แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ แต่ผูกขาดได้โดยสืบทอดทายาทอสูร ผลัดกันเลือกพวกเดียวกันขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนและตำแหน่งนายกสภาโรงเรียนสลับกันไป ซึ่งระบบการตรวจสอบก็จะเป็นพวกเดียวกันตรวจสอบกันเองอีกด้วย
เลขาธิการ ภตช.บอกอีกว่า คนกลุ่มเดียวกันนี้จะได้ผลประโยชน์จากการเรียกรับขายเก้าอี้นักเรียนด้วยวิธีต่างๆ เช่น เปิดห้องเรียนหลักสูตรพิเศษ หรือภาคสมทบ ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ตำแหน่งผู้บริหารต่างๆ ในโรงเรียนรวมถึงผู้อำนวยการจะต้องแปลงสภาพจากข้าราชการมาเป็นพนักงานโรงเรียน จึงสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนตนเองให้เพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1.43 เท่า-1.57 เท่า และสามารถกำหนดเบี้ยประชุม เบี้ยผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้กับกรรมการของโรงเรียนได้
ค่าเก้าอี้ผู้บริหารสูงกว่าค่าแปะเจี๊ยะเด็ก
อย่างไรก็ดี การซื้อขายตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราสูงยิ่งกว่าเงินบริจาคเพื่อแลกกับที่นั่งในโรงเรียนดังของนักเรียนเสียอีก โดย นายมงคลกิตติ์ ย้ำว่า หากจัดอันดับราคาเก้าอี้ผู้อำนวยการโรงเรียนดัง จะพบว่า โรงเรียนมัธยมดังย่านสะพานพุทธนำลิ่วด้วยราคาสูงถึงตัวเลข 8 หลักขึ้นไป ขณะที่อัตราเงินบริจาคเข้าเรียนของเด็กอยู่ที่เลข 7 หลักเท่านั้น ส่วนราคาเก้าอี้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีราคาแพงรองลงมา จะเป็นโรงเรียนอนุบาลขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ซึ่งมีราคาเท่ากับเลข 8 หลัก และโรงเรียนประจำจังหวัดชาย-หญิงทั่วไป เรตราคาอยู่ที่เลข 7 หลักปลายๆ ถึง 8 หลัก ขึ้นอยู่กับวาระการดำรงตำแหน่งที่จะมีการระบุมาว่า ดำรงตำแหน่งได้ 2 ปี หรือ 4 ปี หรือ 8 ปี อย่างไรก็ดี หากสังเกตจากมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว จะเห็นว่าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนตัวอธิการบดี ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งกันนาน 3-4 สมัย สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันในครอบครัวคล้ายเป็นรัฐอิสระ
วิธีการถอนทุนของผู้บริหารโรงเรียน
เมื่อลงทุนไปเยอะย่อมตามมาด้วยการถอนทุนคืน รูปแบบการคืนทุนอันดับแรกของผู้อำนวยการโรงเรียนนิติบุคคลในอนาคตอันใกล้ซึ่งต้องจับตาดูไม่ให้คลาดสายตา คือ การขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง โดยปัจจุบันอัตราเงินเดือนประจำของข้าราชการซี 9 อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท บวกเงินพิเศษ 20,000 บาท และเงินที่สามารถเบิกออกมาใช้จ่ายได้ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนแบบไม่จำกัด เฉลี่ยแล้วผู้อำนวยการโรงเรียนจะมีเงินในการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเดือนละ 200,000 บาท ซึ่งรายได้เหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากค่านายหน้าในการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ การก่อสร้างตึกในโรงเรียน การสร้างสนามปรับปรุงภูมิทัศน์ การจ้างเหมาครูต่างประเทศ เป็นต้น โดยผู้บริหารโรงเรียนจะได้ค่านายหน้าจากโครงการเหล่านี้ประมาณครั้งละ 15-20%
อันดับต่อมา คือ รถประจำตำแหน่งราคาแพงพร้อมคนขับ ซึ่งเลขาธิการ ภตช.เผยว่า ปัจจุบันผู้อำนวยการโรงเรียนใหญ่ๆ มักมีรถประจำตำแหน่งเป็นรถโตโยต้า อัลพาร์ด กันเกือบหมดทุกคน โดยอัลพาร์ดเป็นรถแพงราคาเหยียบ 3 ล้านบาท ที่สำคัญคือ มักจะเป็นรถที่นำเข้าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย
“อำนาจบารมีของผู้อำนวยการโรงเรียนจะมีมากขึ้น ยิ่งช่วงเวลาใกล้ฤดูกาลเปิดตลาด คือประมาณเดือนมีนาคม พวกข้าราชการระดับสูง ตำรวจ นายพล ที่มีลูกมีหลานที่ต้องการฝากเข้าโรงเรียน จะยิ่งวิ่งเข้าหาผู้อำนวยการโรงเรียน โดยที่ยศบนบ่าไม่สามารถใช้เป็นตั๋วลดราคาที่นั่งนักเรียนได้เลย ต้องจ่ายเป็นเงินสดอย่างเดียว ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากคือ พวกผู้บริหารโรงเรียนมักจะแต่งตั้งอดีตอัยการ อดีตผู้พิพากษา หรือตำรวจระดับใหญ่ๆ เป็นคณะที่ปรึกษาของโรงเรียน เพื่อเอาไว้เป็นเกราะเพชรเจ็ดสีป้องกันเวลาเกิดคดีความกับตนเอง
ดังนั้น โรงเรียนเหล่านี้จะกลายเป็นอาณาจักรรัฐอิสระที่อยู่ภายใต้กฎหมายในรูปของระบอบอุปถัมภ์ทับระบอบยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ เพราะนโยบายพรรคเพื่อไทยเคยปกป้องฐานเสียงที่เป็นคนยากคนจน โดยไม่ยอมเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาก่อน” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการศึกษาจากรัฐและกระทรวงศึกษาธิการกลับพัฒนาไปในทางที่ผกผัน มีโครงการแปรรูปโรงเรียนเป็นธุรกิจการศึกษามากขึ้นทุกวัน เลขาธิการ ภตช.ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีระบอบทุนนิยมเข้ามาฝังในระบอบการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ ทุกอย่างกลายเป็นธุรกิจการศึกษา คนจนไม่มีสิทธิ์เรียน ส่วนคนที่เรียนจบไปก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ จบแล้วไม่มีงานทำ เพราะค่าแรงสูง
ส่วนเด็กเองก็ถูกสปอยล์ด้วยนโยบายค่าจ้างแพงๆ ทำให้เด็กไม่มีความมุมานะพยายามที่จะเติบโตไปตามลำดับขั้นตอนของสภาพสังคมที่แท้จริง ชอบเขย่ง ก้าวกระโดด เหยียบหัวเพื่อน ขาดจริยธรรมคุณธรรม ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี คิดแต่ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ถอนทุนคืนให้ได้ เพราะตนลงทุนกับสังคมและการเรียนไปเยอะ หากชีวิตเริ่มต้นด้วยเงินก็ต้องจบด้วยเงิน
สุดท้ายแล้วสายป่านระหว่างชนชั้นนำกับคนชั้นแรงงานก็จะขาดสะบั้นออกจากกัน จนอาจเกิดสงครามกลางเมือง การแบ่งแยกทางชนชั้นเหมือนในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ได้
เครือข่ายผู้ปกครองฯ เตรียมค้าน “โรงเรียนนิติบุคคล”
ด้าน พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติเคยยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงเรียนนิติบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการถึง 2 ครั้งแล้ว เพราะการศึกษาในโรงเรียนเป็นการจัดการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เด็กต้องได้เรียนฟรี ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย และที่จริงโครงการดังกล่าวยังขัดกับนโยบายพรรคเพื่อไทยในเรื่องของการจัดการศึกษาที่ระบุว่าการศึกษาภาคบังคับต้องได้เรียนฟรีอีกด้วย
อย่างไรก็ดี กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการโรงเรียนนิติบุคคลโดยอ้าง พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้านโยบายนี้จริงๆ ทางเครือข่ายผู้ปกครองฯ คงต้องรวมตัวกันยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาเรื่องนโยบายพรรคเป็นเท็จ
“เราเคยไปคุยกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่า เราไม่เห็นด้วยกับการนำโรงเรียนออกนอกระบบ การทำให้โรงเรียนมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องออกนอกระบบเหมือนมหาวิทยาลัย เพราะการออกนอกระบบเหมือนกับการยกสมบัติแผ่นดินให้คนกลุ่มหนึ่งไปบริหาร ซึ่งดูจากผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ จะเห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ตกไปอยู่ในมือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง”
ประธานเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ บอกอีกว่า การพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพมีประสิทธิภาพสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น ที่อเมริกาจะมีการประเมินผู้อำนวยการโรงเรียนทุก 2 ปี และจัดสรรงบประมาณให้ตามผลการประเมินประสิทธิภาพของผู้อำนวยการโรงเรียน หรืออาจถ่ายทำการเรียนการสอนในโรงเรียนสาธิตหรือโรงเรียนดัง เพื่อนำไปใช้สอนนักเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัด เหมือนที่ครูสอนพิเศษ เช่น ครูอุ๊ ครูปิง ทำ เป็นต้น ซึ่งทางเครือข่ายฯ ได้เสนอกระทรวงศึกษาธิการไปหลายครั้งแล้ว แต่กระทรวงไม่ได้ทำ
“แต่การทุจริตคอร์รัปชันด้านการซื้อขายตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทุกคนรู้ดีแก่ใจ แต่ไม่สามารถไปพิสูจน์เป็นหลักฐานได้ แต่เราจะเห็นผู้อำนวยการโรงเรียนเงินเดือนไม่เท่าไร แต่มีรถเบนซ์ขับ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้มาจากไหน ยิ่งโรงเรียนออกนอกระบบ เก้าอี้ผู้บริหารจะยิ่งแพงขึ้น เพราะผู้บริหารโรงเรียนเขาจะสามารถทำเป็นระบบให้ได้มาซึ่งงบประมาณที่มากขึ้นและถูกต้อง โดยเราไม่สามารถไปทัดทานได้หมด”
พ.ท.พญ.กมลพรรณ ย้ำอีกว่า ปัจจุบันเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการบริหารบ้านเมืองมีอยู่เกือบทุกจุด เครือข่ายฯ จึงทำได้เพียงจับประเด็นสำคัญ คัดค้านนโยบายที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการนำโรงเรียนออกนอกระบบที่จะทำให้ค่าเทอมค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อคนฐานะยากจนที่จะได้รับการศึกษาต่อไป
ดังนั้น เครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติจะเป็นตัวแทนนำกลุ่มผู้ปกครองไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงเรียนนิติบุคคลต่อกระทรวงศึกษาธิการปลายเดือนมกราคมนี้!!