กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ เชิญผู้เกี่ยวข้องแจง ข้าวเน่าถุงยังชีพพังงา อธิบดี ปภ.ยันส่งถุงยังชีพทันทีที่มีอุทุกภัย คาดรีบส่งในระยะไกล เจอฝนตกน้ำซึมเข้าถุงรั่วเหตุข้าวเน่า ไม่เกี่ยวคุณภาพข้าว ผู้ว่าฯ พังงาแจงมอบข้าวเยี่ยวยาผู้ประสบภัยคืน หลังสอบพบเหตุสุดวิสัย กมธ.เผยลงพื้นที่สอบข้าวปนสารที่เป็นข่าว จาก บ.เจียเม้ง หวั่นข้าวราคาถูกรัฐฯ ไร้คุณภาพ และมีปัญหาต้นทุนสูงเกิน แถมไม่พบข้าวอีก 2 ล้านตันเสี่ยงเวียนเทียน
วันนี้ (17 ก.ค.) การประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นประธาน วันนี้ (17 ก.ค.) ได้เชิญนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เข้าชี้แจงถึงกรณีถุงยังชีพที่นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยที่จังหวัดพังงา มีข้าวเน่าเสีย ซึ่งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชี้แจงว่า ทันทีที่เกิดเหตุอุทกภัยก็ได้เร่งจัดส่งถุงยังชีพไปยังพื้นที่ประสบภัยทันที โดยจัดส่งถุงยังชีพทั้งหมด 2,500 ชุด กระจายไปยัง ปภ.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปภ.สงขลา และ ปภ.ภูเก็ต เพื่อนำส่งไปให้การช่วยเหลือกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดพังงาต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่ามีข้าวเน่าเสียจำนวน 35 ถุง จึงเข้าตรวจสอบ และพบว่าข้าวดังกล่าวเป็นข้าวบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ตราปิ่นเงิน ผลิตเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 โดยบริษัทโรงสีเอกไรซ์ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสาเหตุเกิดจากกระบวนการขนส่งที่เร่งรีบ เพื่อให้ทันต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประกอบกับเป็นการขนส่งในระยะทางไกลและมีฝนตกหนักตลอดเส้นทางทำให้ถุงข้าวสารที่ทับซ้อนกันฉีกขาด ชำรุดเสียหาย ส่งผลให้น้ำซึมเข้าไปในถุงข้าวสาร จนข้าวสารเกิดความชื้นและมีกลิ่นเหม็นเน่า มิได้เป็นความเสียหายที่เกิดจากคุณภาพของข้าวสารแต่อย่างใด
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาชี้แจงว่า ทันทีที่ชาวบ้านอำเภอท้ายเหมืองนำข้าวที่เน่าเสียมาคืนให้กับเจ้าหน้าที่ ก็ได้ประสานผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อพบว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจากกรณีฝนตก จึงได้เยียวยาด้วยการนำข้าวถุงไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับข้าวเน่าไปแล้วเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นายชนินทร์ยังกล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตข้าวถุงตามโครงการธงฟ้า และร้านค้าถูกใจของรัฐบาล ที่บริษัท เจียเม้ง จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าข้าวมีสารพิษตกค้าง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเน้นตรวจสอบข้าวที่นำมาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก เพราะคณะกรรมาธิการกังวลว่า ข้าวที่มีคุณภาพดีจะถูกนำออกจำหน่ายในราคาสูง และนำข้าวคุณภาพต่ำ หรือข้าวเสื่อมคุณภาพมาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูกแทน เนื่องจากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการพบว่ายังมีข้าวอีกกว่า 2 ล้านตันที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งยังไม่พบว่าเก็บอยู่ที่ใด ซึ่งอาจมีกระบวนการนำข้าวมาเวียนเทียนจำหน่ายให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการยังพบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตและขั้นตอนการผลิตข้าวถุงตามโครงการธงฟ้าและร้านค้าถูกใจของรัฐบาล ที่อาจมีราคาต้นทุนแพงเกินความเป็นจริง พร้อมเรียกร้องรัฐบาล ให้ความร่วมมือกับทางคณะกรรมาธิการในการตรวจสอบคุณภาพข้าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน