xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งรับ “ศาลปกครอง”เบรคงบน้ำ จับตาปาหี่ประชาพิจารณ์ 2 เดือน

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

ข่าวปนคน คนปนข่าว

ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างไร?ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2

ในการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และศึกษาผลกระทบโครงการต่อชุมชนที่อาจสร้างความรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อม

ก่อนจะลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยในแต่ละแผนงานรวม 9 โมดูลตามพ.ร.บ.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

ถึงเวลานี้ พบว่าผู้ถูกฟ้องทั้งหมดคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี- คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ (กยน.)- คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่เป็นผู้ถูกฟ้อง 1-4 เรียงตามลำดับได้ตั้งรับคำพิพากษาดังกล่าวไว้แล้ว 3 กระบวนท่า

1.แม้ไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดที่ให้โอกาสยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่มีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่ยิ่งลักษณ์ก็ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 147/2556 แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีการบริหารจัดการน้ำโดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรมว.ยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ

คาดว่าคดีนี้คงเป็นงานหินคดีแรกที่จะทดสอบ ชัยเกษม นิติสิริอดีตอัยการสูงสุด ว่าที่รมว.ยุติธรรมคนใหม่ ในการเข้ามาช่วยรัฐบาลในเรื่องข้อกฎหมาย เพราะหากรัฐบาลตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ก็ต้องให้อัยการฝ่ายคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุดที่ก็เป็นพวกลุกน้องเก่าของชัยเกษมเป็นคนทำเรื่องให้ แล้วก็ยังมีกรรมการอีก 8 คนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งอาทิปลัดกระทรวงการคลัง,ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น

2. แสดงท่าทีพร้อมจะดำเนินการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนที่จะแบ่งเป็นประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ภายใต้แผนงานเช่นจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียดของแต่ละแผนงาน ,จัดประชุมหรือเสวนา โดยจะมีการเชิญประชาชนมาร่วมประมาณ 3 - 4 หมื่นคน

ทั้งนี้กบอ.ที่มีปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน บอกว่าพร้อมจะดำเนินการในเรื่องการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะจากการเวนคืนที่ดินและการก่อสร้างทั้ง 9 โมดูล ภายในเวลา 15 วัน และใช้เวลา 15 วัน รวบรวมและสรุปข้อมูลที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ

กำหนดว่าจะใช้เวลาในกระบวนการทั้งหมดไม่เกิน 2 เดือน!

กระบวนการตรงนี้ หลังได้ยินที่กบอ.บอกจะเปิดเวทีดังกล่าว โดยให้เวลา 2 เดือน ก็มีสุ้มเสียงแสดงความกังขากันมาก ว่า 2 เดือนจะทำให้แล้วเสร็จได้อย่างไร กับโครงการที่มีผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากขนาดนี้ แล้วจะรับประกันได้อย่างไรว่า จะไม่มีการทำแบบรีบเร่ง จัดฉาก จัดตั้งเกณฑ์คนกันมาในลักษณะเอาแต่คนที่เห็นด้วยมาร่วมการเปิดเวที

แล้วปิดกลั้นคนไม่เห็นด้วยเช่นนักวิชาการ-นักสิ่งแวดล้อม-เอ็นจีโอมาร่วมให้ข้อมูลอีกด้าน เพื่อให้ผลการเปิดเวทีดังกล่าวออกมาตามธงที่รัฐบาลตั้งไว้คือคนส่วนใหญ่ในพื้นที่เห็นด้วยไม่มีเสียงคัดค้านทำแบบมัดมือชกกันม้วนเดียวจบ

มีเสียงเป็นห่วงว่า รัฐบาลจะร้อนรนเร่งรีบทำเรื่องนี้แบบไม่โปร่งใส

เกิดขึ้นจากพฤติการณ์ก่อนหน้านี้ของรัฐบาลที่แสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า ไม่สนใจการเปิดเวทีดังกล่าว แต่ที่ต้องมาทำครั้งนี้ก็เพราะจนแต้ม ต้องทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

ดังนั้นเมื่อรัฐบาลคิดจะมาเริ่มทำทั้งที่ต้องเป็นกระบวนแรกไม่ใช่มาทำหลังมีการยื่นประมูลโครงการกันไปแล้ว ผู้คนต้องมีสิทธิ์ตั้งข้อกังขาแน่นอนถึงการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลในการทำให้การเปิดเวทีดังกล่าวเสร็จหมดทุกขั้นตอนแล้วทุกฝ่ายไร้ข้อเคลือบแคลง

3.กระทรวงการคลังได้เดินหน้าในการเซ็นสัญญาเงินกู้ วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท ตามพ.ร.บ.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทไปแล้วกับ 4 ธนาคารใหญ่คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย

โดย นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลว่าคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวไม่ได้สั่งยกเลิกโครงการ แต่ให้ไปทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องเดินหน้ากู้เงินก่อนวันที่ 30 มิ.ย.2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องดำเนินการกู้เงิน โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าไม่น่าจะมีปัญหาในข้อกฎหมายตามมา

เมื่อดูการตั้งรับของรัฐบาลดังกล่าว ประเมินเบื้องต้นได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลคงศึกษาจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว คงเห็นได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางค่อนข้างชัดในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และคงเริ่มเห็นแล้วว่าตัวเองพลาดตรงไหน จึงเห็นได้ว่าคนในรัฐบาลไม่ได้มีแสดงท่าทีจะแข็งขืนอะไร

แม้ประเมินได้ว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลอาจตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิที่เปิดช่องไว้ให้ แต่ถ้าให้เดาใจรัฐบาล จากการที่กบอ.โดยเฉพาะปลอดประสพ สุรัสวดีและธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หัวเรือใหญ่กบอ.อีกคน ในฐานะ ประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท รีบแสดงท่าทีจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ก็เพราะรัฐบาล คงเริ่มตระหนักแล้วว่าเรื่องนี้ “พลาดมหันต์”ที่รีบเร่งจะเดินหน้าเปิดประมูลกันแบบรวบรัดเกินเหตุจนละเลยต่อสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่เป็นบทบัญญัติในเรื่องที่ว่า

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบ ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน”

ทั้งที่มีเสียงท้วงติงมาตลอดว่า การก่อสร้างตามโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทดังกล่าวที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลกระทบกับประชาชนและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมาก คาดการกันว่าจะมีประชาชนได้รับผลกระทบหลายแสนครอบครัว จะต้องมีการปฏิบัติตามรธน.อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐบาลก็ไขสือไม่ยอมรับฟังเสียงท้วงติงดังกล่าว จนถูกศาลปกครองกลางระบุไว้ตอนหนึ่งในคำพิพากษาที่ว่า
“ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (นายกรัฐมนตรี)และที่ 2 (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ )ได้ดำเนินการ หรือมีแผนที่จะจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแต่อย่างใด

ศาลจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ต้องปฏิบัติ”

จากผลพวงที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว ได้กลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านจะนำมาเป็นส่วนสำคัญในการยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ถอดถอนครม.ทั้งคณะที่ร่วมกันเห็นชอบการประมูลโครงการดังกล่าว ในข้อหาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67

และความผิดตามกฎหมายป.ป.ช.เรื่องการไม่เปิดเผยราคากลางและดำเนินการให้มีการประมูลโครงการที่ส่อว่าจะทำผิดต่อพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนองานของรัฐหรือกฎหมายฮั้ว

โดยล่าสุดประชาธิปัตย์ประกาศจะยื่นถอดถอนในวันอังคารที่ 2 ก.ค.นี้แม้จะมีการปรับครม.กันไปแล้ว แต่คนที่ฝ่ายค้านจ้องเอาผิดอย่างยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ก็ยังอยู่

หลังก่อนหน้านี้ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวได้ยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

กรณีนายกรัฐมนตรี, ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกบอ. และธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

จึงเท่ากับเรื่องงบเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท จะมีสองคดีจากประชาธิปัตย์และของนายศรีสุวรรณยื่นไปที่ป.ป.ช.ในเวลาไล่เรี่ยกัน หากป.ป.ช.ไม่เอาแต่ง้างจนสุดซอย เพื่อยื้อไปเรื่อยแล้วอ้างตามสูตรเดิมๆว่า มีสำนวนค้างมาก

แต่ทางที่ถูก ควรจะสอบสวนไต่สวนกันโดยลำดับความสำคัญของเรื่อง โดยดูว่าเรื่องไหนที่สอบสวนล่าช้าแล้วจะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติเป็นเรื่องที่ต้องดึงออกมาทำก่อน ไม่ใช่สอบตามใครยื่นมาก่อนก็สอบก่อน

ไม่แน่ นอกจากเรื่อง “จำนำข้าวฉาวโคตรโกง”แล้ว เรื่อง “งบน้ำ”ซึ่งส่อว่าจะเป็นโครงการที่เปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่ายๆก็อาจจะเป็นอีกหนึ่ง “จุดตาย”ของรัฐบาลเพื่อไทยก็ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น