รมต.สำนักนายกฯ แจงลดราคาจำนำข้าว ปรับเปลี่ยนแนวทางแต่ไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย วอนชาวนาเข้าใจรัฐบาล อ้างให้สมดุลทุกภาคส่วน ต้องรักษาความเชื่อมั่นเศรษฐกิจและวินัยการคลัง เผยปัจจัยขาดทุนหรือกำไรอยู่ที่รัฐบาลจัดหาตลาดใหม่ และความต้องการตลาดโลก อีกด้านปลัด มท.เช็กข่าวม็อบชาวนาลุกฮือ ให้ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ระดับตำบล-หมู่บ้านกล่อมไม่ให้มาชุมนุม พร้อมรายงานส่วนกลางด่วน
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ประสานและรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับลดราคารับจำข้าวเปลือกเจ้าของจากตันละ 15,000 บาท ลงมาเหลือตันละ 12,000 บาทว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถคำนวณได้ว่าจะมีข้าวเข้ามาในโครงการรับจำนำราคาใหม่จำนวนเท่าใด แต่คาดว่าจะเป็นข้าวที่เหลืออยู่ในกรอบที่รัฐบาลเคยกำหนดไว้ว่าข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 55/56 และข้าวนาปรัง 56 จะรวมกันอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำประมาณ 20 ล้านตันแล้ว ดังนั้น ระยะเวลาที่เหลือจากนี้ถึงเดือน ก.ย. 56 ถ้าเป็นไปตามกรอบดังกล่าวจะมีข้าวเปลือกอีกประมาณ 2 ล้านตันที่จะได้ราคารับจำนำในราคาตันละ 12,000 บาท
นายวราเทพกล่าวว่า สำหรับกรอบการขาดทุนที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กำหนดไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านบาทนั้น กขช.ได้กำหนดไว้เบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้กรอบดังกล่าว โดยกรอบดังกล่าวเป็นกรอบที่ใช้ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลัง ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุเรื่องการจัดทำงบประมาณไปสู่งบสมดุลและข้อกำหนดเรื่องวินัยการคลัง โดยประมาณการณ์ว่างบประมาณค่าใช้จ่ายหรือขาดทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวควรจะอยู่ที่ปีละ 100,000 ล้านบาท และให้ปรับลดลงไปเรื่อยๆ จะสามารถอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังได้
อย่างไรก็ตาม จะพิจารณาเรื่องกรอบวินัยการเงินการคลังด้านเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเกษตรกรด้วย ถ้ากำหนดการขาดทุนที่ 100,000 ล้านบาทแล้วเกษตรกรพอใจในราคาที่กำหนดก็จบ แต่ถ้าเกษตรกรยังไม่พอใจก็ต้องมาคุยกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าข้อเสนอหรือเงื่อนไขที่เกษตรกรจะเสนอรัฐบาลเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลจะพยายามดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างอื่นให้เกษตรกรด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องราคาพียงอย่างเดียว ถ้ารัฐบาลสามารถปรับประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการ การทำให้โครงการบริหารมีประสิทธิภาพตรงไปตรงมา ข้าวที่เคยคิดว่ามีปริมาณมากจะลดลงไปได้หรือไม่ ถ้าลดลงไปได้จากการที่ไม่มีการหมุนเวียน ไม่ได้นำข้าวที่ไม่ใช่ของเกษตรกรมาเข้าโครงการรับจำนำ จะลดภาระเรื่องจำนวนเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายออกไป หรือลดการขาดทุนได้ รวมทั้งการดูแลให้เกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ถูกตัดราคาเรื่องความชื้นมากนัก เกษตรกรอาจจะพึงพอใจในราคาที่ถูกปรับลดลงมาได้บ้าง
“โครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุนหรือไม่ มี 2 ปัจจัย คือ 1. รัฐบาลต้องใช้ฝีมือในการบริหารจัดการหาตลาดใหม่การเจรจาที่ได้ราคาที่ดีขึ้น และอีกปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมคือภาวะตลาดโลก ความต้องการของผู้ซื้อและคู่แข่งที่เราหาช่องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ส่วนเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นยากต่อการควบคุม ถ้าภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ผู้ซื้อมีกำลังซื้อน้อยลง ประเทศผู้ซื้อก็จะหันไปซื้อข้าวราคาถูก ต้องหาช่องทางว่าจะทำอย่างไรที่เราจะไม่ลดราคาจนเสียราคาในขณะที่ข้าวเราคุณภาพดีกว่า การลดราคารับจำนำข้าวครั้งนี้ของรัฐบาลเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายแต่ไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย และยึดประโยน์ของชาวนาเป็นหลักอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่อยากให้ชาวนาเข้าใจรัฐบาลที่จะบริหารประเทศเพื่อความสมดุลในทุกภาคส่วน” นายวราเทพกล่าว
รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาทนั้น เป็นการกำหนดที่ไม่ได้ผิดพลาดแต่อย่างใด แต่เห็นว่าเกษตรกรมีปัญหาเรื่องหนี้สิน ขายข้าวไม่ได้ราคามานานแล้ว ก็อยากให้นโยบายเร่งด่วนในปีแรกของรัฐบาลได้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ และเมื่อดำเนินการมาแล้วมีปัจจัยภายนอกที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยโดยเฉพาะสถานการณ์ของการบริหารจัดการด้านการคลังของรัฐบาล และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ รัฐบาลก็ต้องปรับปรุงนโยบายไปบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากราคาตลาดโลกลดลงอีกจะปรับลดราคารับจำนำอีกหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่อยากจะพูดตรงนั้นเพราะรัฐบาลคงไม่ได้อิงว่าราคาตลาดโลกต่ำเท่าไหร่แล้วปรับราคารับจำนำลงมา แต่รัฐบาลจะดูที่ตัวเกษตรกรว่ามีต้นทุนเท่าไหร่ ทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ที่อยู่ได้ และขึ้นอยู่กับกขช.ที่มีข้อมูลและรับผิดชอบโดยตรงในการตัดสินใจ
“การประกาศปรับลดราคารับจำนำของรัฐบาลครั้งนี้ แม้จะตัดสินใจประกาศล่วงหน้า แต่เป็นการตัดสินใจที่อาจจะมีความเร่งด่วนจนทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการปรับนโยบายจนไม่มีโอกาสตั้งรับ จึงขอโอกาสเรียนกับชาวนาว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่ต้องขอโอกาสทำอย่างไรให้รัฐบาลบริหารจัดการเรื่องสมดุลดูแลเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอย่างอื่นด้วย โดยเฉพาะการรักษาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและภาวะวินัยทางการคลัง” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีชาวนาทั่วประเทศเตรียมเคลื่อนไหวจากเหตุไม่พอใจรัฐบาลลดราคาจำนำข้าวเหลือตันละ 12,000 บาท ว่าขณะนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย เช็คข้อมูลข่าวสารในเรื่องการจำนำข้าว รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้นำมาใช้เพื่อทำเป็นข้อมูลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
โดยล่าสุดจากการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) ก็ได้มีคำสั่งให้นำเรื่องนโยบายต่างๆเกี่ยวกับเรื่องข้าวของรัฐบาล และให้ผู้ว่าฯ ทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ของตัวเองในให้ถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจ ให้ตรงกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังกระทำ ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีปัญหาตนได้กำชับให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยอย่างรวดเร็ว เพื่อได้ร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ให้ประชาชนต้องลำบากเดินทางมาชุมนุม